- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- อดีตเลขาฯสมช.ชี้เปรี้ยง "รัฐบาลทหาร" ฉุดพูดคุยดับไฟใต้ไม่คืบ
อดีตเลขาฯสมช.ชี้เปรี้ยง "รัฐบาลทหาร" ฉุดพูดคุยดับไฟใต้ไม่คืบ
การเดินหน้าที่ไม่ราบรื่นนักของกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ และภาวะชะงักงันของการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรกร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม มารา ปาตานี ถูกมองจากอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ว่าเป็นเพราะปัจจัยที่ประเทศไทยปกครองโดย "รัฐบาลทหาร" ซึ่งไม่เอื้อต่อบรรยากาศการพูดคุยหาทางออก และสร้างการมีส่วนร่วม เนื่องจากทหารมีภาพเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มผู้เห็นต่าง
พล.ท.ภราดร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อปี 2555 ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้การพูดคุยในครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างข้อตกลงเพื่อสันติภาพ แต่ก็มีความคืบหน้าให้เห็นข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เชื่อกันว่าคุมกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากที่สุดในพื้่นที่ปลายด้ามขวาน และเป็นครั้งแรกที่บีอาร์เอ็นยอมเปิดเผยตัวตนและเปิดข้อเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา
พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ทีมข่าวอิศรา" โดยบอกว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ดำเนินการโดยรัฐบาล คสช.นั้น ไม่สามารถเดินหน้าหรือมีความคืบหน้าได้อย่างน่าพึงพอใจ เพราะติดปัญหาเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศที่เป็นรัฐบาลทหาร ในขณะที่ "ทหาร" มีภาพเป็นปรปักษ์กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งส่วนหนึ่งก็นั่งอยู่บนโต๊ะพูดคุย
"พัฒนาการของสถานการณ์ฟังๆ ดูเหมือนก้าวหน้าไปเยอะ แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงและสืบสภาพจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่สะท้อนผ่านสื่อต่างๆ แล้ว แม้จะดูก้าวหน้า แต่ไม่ได้เร็วอย่างที่เราคาด ยืนยันได้ว่าสภาพปัญหาของต้นทางที่มันเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็วไม่ได้ เพราะยังติดในเงื่อนไขการปกครองของประเทศที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่จะต้องให้ประชาชมีส่วนร่วม มีความไว้วางใจกัน เดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ระบอบการปกครองในปัจจุบันมันไม่เอื้อ มันก็เลยกลายเป็นข้อจำกัด"
พล.ท.ภราดร วิเคราะห์ว่าภาพรัฐบาลทหารกระทบกับการสร้างความเชื่อมั่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ
"พูดตรงๆ การแก้ปัญหาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้เราจะบอกว่าเป็นปัญหาภายในก็จริง แต่ก็ต้องมีส่วนสัมพันธ์กับทั้งประเทศเพื่อนบ้านและโลกมุสลิม การยอมรับจากเพื่อนบ้านที่จะเต็มที่กับเรา โลกมุสลิมจะเชื่อถือไว้วางใจเราหรือไม่ เราปฏิเสธไม่ได้เลย มองพื้นๆ คือรัฐบาลทหารถูกมองว่าเป็นคู่กรณี เป็นคู่ปรปักษ์กับผู้เห็นต่างฯ ดังนั้นบรรยากาศความไว้วางใจกันมันเป็นปัญหา"
"เนื้อหาสาระสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นหลักที่สุดคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงมีนโยบายพูดคุยสันติภาพในอดีต และพูดคุยสันติสุขในปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วสาระสำคัญก็คือการมาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อเดินหน้าต่อไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ ณ ตรงนี้ปัจจัยสำคัญที่นำไปสุ่ความไว้วางใจมันมีปัญหาบางๆ อยู่"
อดีตเลขาฯสมช. บอกว่า เมื่อไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตยเมื่อไหร่ จะปลดล็อคปัญหาทั้งหมด
"ความมั่นใจจะเกิดขึ้นทั้งภายใน คือทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และปัจจัยภายนอก ทั้งเพื่อนบ้าน และโลกมุสลิม ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้น การแก้่ปัญหาก็ราบรื่น แต่การมีรัฐบาลทหารมันไม่เอื้อต่อการที่จะทำให้มีการพูดคุยกัน"
อย่างไรก็ดี การพูดคุยในรัฐบาลพลเรือนทำให้บางฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลอาจยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบกว้างขวาง เช่น เรื่องเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง แต่เรื่องนี้ พล.ท.ภราดร ไม่มองแบบนั้น
"ฝ่ายโน้นอาจจะพูดจนมีบางคนแปลความว่าเหมือนปกครองพิเศษ ปกครองตนเอง แต่นัยจริงๆ ไม่ได้หนีจากกรอบรัฐธรรมนูญของเรา คือเรื่องการปกครองท้องถิ่น ที่จะมีความเข้มข้นในการเลือกผู้แทนของเขา ฉะนั้นถ้าเริ่มต้นจากการฟังอย่างแท้จริง จะทำให้เห็นสภาพปัญหาและความต้องการต่างๆ ที่ชัดขึ้น แต่การจะเกิดตรงนั้นได้ ต้องเกิดเวทีพูดคุยเสียก่อน และการจะมีเวที ถ้าการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็จะเอื้อต่อการเปิดเวทีพูดคุย และเวทีการมีส่วนร่วมทุกระดับ แต่ปัจจุบันไม่เอื้อต่อการตั้งเวทีลักษณะนี้ จึงกลายเป็นข้อจำกัด"
"เราปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ อย่างผู้อำนวยความสะดวก คือมาเลเซีย ก็ทำหน้าที่ดูแลผู้เห็นต่าง ดูแลการสร้างสภาวะแวดล้อม เพื่อนบ้านมาเลเซียก็เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้เขาก็ประคับประคอง แต่ถามว่าจะเต็มที่หรือไม่ ก็คงลำบาก เขาก็ต้องเข้าใจว่าความสัมฤทธิ์ผลจะเกิดขึ้นได้มันต้องมีส่วนร่วม จึงต้องถอยไปหลักการที่ว่า การจะมีส่วนร่วมดีที่สุดต้องเป็นประชาธิปไตย และต้องได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมที่จะทำให้การพูดคุยพัฒนาการไปได้ ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชนจริงๆ"
อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลมักพูดถึงสถิติเหตุรุนแรงที่ลดลงอย่างชัดเจน แต่บางฝ่ายยังกังวลกับพัฒนาการของการก่อเหตุร้ายที่หลายๆ ครั้งใช้ยุทธวิธีใหม่ และลุกลามออกนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ประเด็นนี้ พล.ท.ภราดร ก็แสดงความกังวลไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการย้ายฐานของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส และมองว่าสุดท้ายจะย้อนกลับมากดดันให้การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยทำให้ได้ยากขึ้น
"ถ้าเราเห็นภาวการณ์ที่เกิดขึ้น สถิติเจ็บตายดูน้อยลง แต่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ต้องบอกว่าพึงระวังและอันตรายมากกว่า เพราะทำให้พี่น้องประชาชนขาดความเชื่อมั่นกับรัฐบาล แม้ยอดเจ็บตายจะไม่มาก แต่ถ้าเป็นเหตุที่ให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย และสิ่งสำคัญที่สุด แม้กระทั่งเพื่อนบ้านมาเลเซีย ก็มีความกังวลใจกับการเลียนแบบการก่อการร้ายของไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) พื้นที่เราก็ใกล้เคียงกับพื้นที่เป้าหมายที่ไอเอสจะรุกมา"
"เมื่อพื้นที่หลักของไอเอสมีปัญหาการยึดครอง (ตะวันออกกลาง) ก็กลับมามองภูมิภาคนี้มากขึ้น ผสานกับเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการ ผู้เห็นต่างอาจจะไปเรียนรู้รับรู้มา อาจจะกลับมาใช้กับเราได้ ตรงนี้ต้องพึงระวังอย่างมาก จริงๆ แล้วเราไปมองสถานการณ์จากตัวเลขสถิติมากเกินไป เพราะจริงๆ นัยสำคัญมันอยู่ในภาพของเหตุการณ์มากกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มที่เชื่อได้ว่ามีผู้ส่งสัญญาณก่อการร้ายหนักขึ้น ยิ่งไอเอสเข้ามาในภูมิภาคนี้ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณามากกว่าที่จะดูสถิติตัวเลขที่ลดลง เพราะเหตุการณ์จะสร้างความสะพรึงกลัว และความร่วมมือของฝ่ายที่เห็นต่างจะใหญ่ขึ้น และจะกลับมาเป็นปัญหา"
"ผมคิดว่าการก่อเหตุนอกพื้นที่ชายแดนใต้เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา เหตุเกิดขึ้น ใหญ่ขึ้น กระจายตัวมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาพื้นที่ที่เราควบคุม ก็จะทำให้การตกลงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยเป็นปัญหา เพราะความรุนแรงมันกระจายตัวออกไป ก็มีปัญหาการออกแบบว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน พื้นที่เป้าหมายจะเป็นอย่างไร คณะพูดคุยฯก็จะทำงานยากและเหนื่อยขึ้นพอสมควร"
-----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ชะงักพูดคุยดับไฟใต้ "พื้นที่ปลอดภัย"ฝันค้าง
แฉเหตุ"มาราฯ"ไม่คุย"เซฟตี้โซน" จี้รัฐโชว์หนังสือรับรองปล่อยผู้ต้องขังคดีมั่นคง
รัฐ-มาราฯ โยนกลอง พื้นที่ปลอดภัยล่ม
เลื่อนซ้ำพูดคุยดับไฟใต้ - มาเลย์เสนอ "ดูนเลาะ" ถกนอกรอบ "อักษรา"