ชะงักพูดคุยดับไฟใต้ "พื้นที่ปลอดภัย"ฝันค้าง
ข่าวสารที่ผู้สนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกาะติดอย่างต่อเนื่อง ก็คือผลการพูดคุยดับไฟใต้ เพื่อหวังยุติความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 13 ปี
ที่ผ่านมารัฐบาลไทย 2 ชุด รวมถึงรัฐบาล คสช.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการ "พูดคุย" กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ "แบบเปิดเผย-เป็นทางการ" ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อยุติความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง โดยการพูดคุยที่ว่านี้เรียกว่า "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีประเทศมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" และมี "กลุ่มมารา ปาตานี" เป็นตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ส่งตัวแทนเข้าพูดคุยกับคณะทำงานของรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล
การพูดคุยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงขั้นตอนสำคัญ คือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นอำเภอนำร่อง คล้ายๆ "พื้นที่หยุดยิง" คือช่วยกันทำให้พื้นที่นำร่องนี้มีความสงบ ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งข้อตกลงนี้ได้รับการขานรับอย่างมากจากทุกฝ่ายในพื้นที่ชายแดนใต้
ล่าสุดมีการประชุมคณะพูดคุยชุดเล็กที่ประเทศมาเลเซีย กำหนดวันประชุมระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 ก.ย.60 โดยมีวาระสำคัญคือ "กำหนดพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรกร่วมกัน" แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า การประชุมต้องยุติลงเร็วกว่ากำหนด คือตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ 12 ก.ย. เพราะกลุ่ม มารา ปาตานี ไม่ยอมหารือเรื่องกำหนดพื้นที่ปลอดภัย แต่จะขอคุยเรื่องขั้นตอนและวิธีการทำงานในพื้นที่ปลอดภัยก่อน ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลไทยต้องการให้กำหนด "พื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรก" ให้ชัดเจนก่อน เพื่อเดินหน้ากระบวนการจัดการพื้นที่ให้สงบสุขต่อไป
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวยอมรับกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เบื้องต้นเท่าที่ทราบมา คือการพูดคุยยังไม่เรียบร้อย และหาข้อยุติไม่ได้ คงต้องนัดครั้งต่อไป สำหรับพื้นที่ปลอดภัยนั้น เชื่อมั่นว่าหากมีการเปิดเผยชื่ออำเภอออกมา ก็จะทำให้ถูกจับตามากกว่าจะมีความปลอดภัยเกิดขึ้นจริง
แม่ทัพภาคที่ 4 บอกด้วยว่า ได้รับรายงานว่าแต่ละฝ่ายจะให้มีการยื่นข้อเสนอมาฝ่ายละ 3 ข้อ เพื่อพิจารณาระหว่างกัน
แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง มองว่า ประเด็นใหญ่ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้จากการพูดคุยรอบนี้คือ คณะพูดคุยของรัฐบาลต้องการให้กำหนด "อำเภอ" ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเสนอชื่อขึ้นมาหลายๆ อำเภอเพื่อพิจารณาจนถึงขั้นตอนต้องตัดสินใจ แต่ฝ่าย มารา ปาตานี ต้องการให้กำหนดกรอบการทำงานสำหรับพื้นที่ปลอดภัยก่อน
"ดูเหมือนเป็นการซื้อเวลา ซึ่งอาจมาจาก มารา ปาตานี ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากบีอาร์เอ็นก็เป็นได้" แหล่งข่าวระบุ
อีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะโต๊ะพูดคุยฯ ก็คือ หากตกลง "อำเภอนำร่อง" ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว จะประกาศต่อสาธารณะหรือไม่ ประเด็นนี้ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรประกาศ เพราะการประกาศพื้นที่ปลอดภัยต้องโปร่งใส ประชาชนต้องพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยจริง และถ้าได้ผล ประชาชนจะเชื่อมั่นว่าการพูดคุยเป็นประโยชน์ และจะเกิดกระแสเรียกร้องให้ขยายพื้นที่ออกไป ขณะเดียวกัน มารา ปาตานี เองก็จะได้อำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคุมกองกำลังในพื้นที่ได้ จะมีผลทำให้ข้อเสนอใหม่ๆ ของ มารา ปาตานี มีน้ำหนักที่รัฐบาลต้องรับฟัง
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้น หรือเกิดเหตุเหมือนๆ เดิม แสดงว่า มารา ปาตานี ควบคุมกองกำลังในพื้นที่ไม่ได้ สุดท้ายก็เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของ มารา ปาตานี เอง และอาจจะมีผลต่อกระแสสนับสนุนของประชาชนต่อการพูดคุยด้วย เหตุนี้จึงทำให้บางฝ่ายเสนอให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยแบบ "ปิดลับ" หรือไม่เปิดเผย เพราะหากประกาศต่อสาธารณะ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายที่ต่อต้านการพูดคุย สามารถระดมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่นั้นๆ เพื่อทำลายกระบวนการ และประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีความพยายามก่อเหตุรุนแรงโดยพุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเช้าวันพุธที่ 13 ก.ย.60 เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน หรือ อส.อำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองครู พบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิด เป็นถุงพลาสติกสีเขียวของทหาร ถูกวางพิงไว้บริเวณโคนเสาไฟฟ้าริมถนนในพื้นที่สุไหงปาดี จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี เข้าตรวจสอบ พบภายในถุงเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ในถังแก๊ส น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร เจ้าหน้าที่จึงใช้ "เครื่องแรงดันน้ำพลังสูง" ยิงทำลายวงจร และเก็บกู้ไว้ได้สำเร็จ คาดว่าคนร้ายนำระเบิดมาวางเพื่อลอบโจมตี อส.ชุดคุ้มครองครู
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มารา ปาตานี (แฟ้มภาพอิศรา)
2 เจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดถังแก๊สในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี จ.ปัตตานี