- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- แฉเหตุ"มาราฯ"ไม่คุย"เซฟตี้โซน" จี้รัฐโชว์หนังสือรับรองปล่อยผู้ต้องขังคดีมั่นคง
แฉเหตุ"มาราฯ"ไม่คุย"เซฟตี้โซน" จี้รัฐโชว์หนังสือรับรองปล่อยผู้ต้องขังคดีมั่นคง
ภายหลัง "ทีมข่าวอิศรา" รายงานข่าวการไม่บรรลุข้อตกลงเรื่องกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ระหว่างคณะทำงานเทคนิค หรือ "คณะพูดคุยชุดเล็ก" ของตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่ม มารา ปาตานี ตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ซึ่งนัดประชุมกันที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.60 นั้น
ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ก.ย. พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกคำแถลงชี้แจงประเด็นนี้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า กลุ่มมารา ปาตานี ยังไม่พร้อมกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "เซฟตี้โซน" ซึ่งก็ตรงตามที่ "ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอข่าวไป (ชะงักพูดคุยดับไฟใต้ "พื้นที่ปลอดภัย"ฝันค้าง)
"สำหรับเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนั้น ในห้วงวันที่ 11 - 12 ก.ย.60 ผมได้ให้คณะทำงานเทคนิคร่วม เดินทางไปยืนยันกับขบวนการผู้เห็นต่างทุกกลุ่มว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจและมีความพร้อมในการดำเนินการทุกเรื่อง รวมทั้งภาคประชาชนในพื้นที่ก็ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยต่างๆ เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ทั้งนี้หากกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ยังไม่มีความพร้อม ก็จะทำให้โอกาสที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมต้องล่าช้าออกไปอีก" พล.อ.อักษรา ระบุุตอนหนึ่งในแถลงการณ์
และว่า แม้กลุ่มผู้เห็นต่างฯจะยังไม่มีความพร้อมในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ภาครัฐก็ต้องรับผิดชอบดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ทั้ง 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นความเร่งด่วนแรกที่สำคัญที่สุด มากกว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ของส่วนราชการที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ และย้ำว่าการพูดคุยฯ จะยังดำเนินการต่อไปจนกว่าขบวนการผู้เห็นต่างฯ ทุกกลุ่มจะมีความพร้อมและยินยอมให้ความร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาชน ในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อแสดงความจริงใจที่ทุกฝ่ายมีความตั้งใจที่จะทำเพื่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน และภาคประชาชนในพื้นที่นั่นเองจะเข้ามาพิสูจน์ความจริงใจของทุกฝ่ายในพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวต่อไป
แถลงการณ์ของ พล.อ.อักษรา ระบุทิ้งท้ายว่า สำหรับกลุ่มที่ยังมีแนวคิดสุดโต่ง นิยมใช้ความรุนแรงกดดัน รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางทหารอย่างเด็ดขาดจัดการกับคนกลุ่มนี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอาชีพและทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าสาเหตุที่ "มารา ปาตานี" ยังไม่ยอมพูดคุยเพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" จากที่เคยเสนอกันมา 5 อำเภอเพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนหน้านี้นั้น นอกจากข้ออ้างเรื่องต้องการพูดคุยวิธีการในรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่างๆ ในพื้นที่ปลอดภัยก่อนแล้ว จริงๆ มารา ปาตานี มีเหตุผลอื่นอีก
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยว่า มารา ปาตานี เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวนหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เพื่อแสดงความจริงใจแลกกับการเดินหน้ากำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งเป็นการเรียกร้องมาก่อนหน้านี้แล้ว และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทราบ กระทั่งนายกฯไฟเขียวในเบื้องต้นแล้ว
แต่เมื่อนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 11-13 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าฝ่ายมารา ปาตานี กลับทวงถามหนังสือรับรองว่าจะมีการปล่อยผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจริงๆ เมื่อคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่มีหนังสือมาแสดง ทำให้ฝ่ายมารา ปาตานี อ้างเหตุผลต่างๆ ที่จะยังไม่ร่วมกำหนดพื้นที่ปลอดภัยกับรัฐบาลไทย และยุติการประชุมร่วมกันลงในวันที่ 12 ก.ย.
นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวของ นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแกนนำบีอาร์เอ็นคนใหม่แทน นายสะแปอิง บาซอ ที่เสียชีวิตไป มีรายงานว่า ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ทาบทามนายดูนเลาะหลายครั้ง ถึงขั้นเชิญมาพบเป็นการส่วนตัว เพื่อขอให้เข้าร่วมหรือส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย แต่นายดูนเลาะปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่เข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี ที่กำลังดำเนินกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทยอยู่ ทำให้น่าเชื่อว่าเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังการพูดคุยล่มเมื่อวันที่ 14 ก.ย.60 คือเหตุลอบวางระเบิด 2 จุดซ้อนที่ อ.ยะหา จ.ยะลา มีโอกาสที่จะมาจากสาเหตุนี้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 บรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของคณะทำงานเทคนิคร่วม
หมายเหตุ : ชายเสื้อสีชมพู นั่งหัวโต๊ะ (มุมขวาสุดของภาพ) ในภาพแรก คือ ดาโต๊ะซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย
ขอบคุณ : ภาพจากคณะพูดคุยฯ