35 ปีไฟใต้กับ 11 องค์กรเฉพาะกิจ! ตกลงปัญหาอยู่ที่ราชการ?
การประชุม ครม.สัปดาห์นี้คาดว่าจะมีการเสนอชื่อ “รัฐบาลส่วนหน้า” หรือ “ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” เพื่อแก้ปัญหาการไม่บูรณาการของหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่
ถือเป็น “องค์กรพิเศษ” หรือ "องค์กรเฉพาะกิจ" อีกองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาในภารกิจดับไฟใต้
ย้อนดูตลอด 35 ปี ตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เรามีองค์กรลักษณะนี้ถึง 11 องค์กรแล้ว ตั้งแล้วก็ยุบ ยุบแล้วก็ตั้งใหม่ เป็นมานานกว่า 3 ทศวรรษ
เริ่มจากปี 2524 รัฐบาล พล.อ.เปรม ตั้ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กับ กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 หรือ พตท.43 เป็นองค์กรคู่กัน ศอ.บต.ทำหน้าที่ด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม ส่วน พตท.43 คุมการใช้กำลังทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน
ทั้งสององค์กรถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน 21 ปี กระทั่งถูกยุบในรัฐบาล อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2545 เพราะเข้าใจว่าสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรพิเศษทำให้มันดูพิเศษอะไรอีก...
แต่เมื่อยุบไปได้ 1 ปี สถานการณ์กลับร้อนระอุขึ้น ทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นตัดสินใจตั้ง กปต. หรือ คณะกรรมการนโยบายเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาเพื่อบูรณาการงานทุกส่วน โดยให้รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นแม่งาน แต่กลับไม่มีการประชุมเลยแม้แต่หนเดียว
ต่อมาปี 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬาร 413 กระบอกจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส ทำให้รัฐบาลทักษิณตั้ง กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กอ.สสส.จชต. เรียกกันติดปากว่า "กอ.3 ส." เพื่อบูรณาการงานอีกเช่นเคย ทั้งระดับนโยบายและแปรนโยบายสู่ปฏิบัติ โดยมีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน
แต่การทำงานก็ยังไม่เข้าฝักเสียที ทำให้ในปี 2548 ต้องมีการปรับโครงสร้าง “กอ. 3 ส.” ด้วยการตั้งหน่วยงานระดับชาติขึ้นมาซ้อนเพื่อคุมนโยบาย ชื่อว่า กองอำนวยการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กสชต. พร้อมทั้งตั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการในพื้นที่ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. ให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมงานยุทธศาสตร์ระหว่าง กสชต. กับ กอ.สสส.จชต.อีกคณะหนึ่งด้วย
กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาภาคใต้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งของการยึดอำนาจ ทำให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นในเวลาต่อมา คือ รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ตัดสินใจฟื้น ศอ.บต. กับ พตท. (ไม่มีตัวเลข 43) โมเดลเดิมสมัย พล.อ.เปรม ขึ้นมาใหม่
ขณะที่งานความมั่นคง ได้ออกกฎหมายขึ้นมารองรับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.อย่างเป็นทางการในปี 2551 และมีองค์กรเฉพาะกิจที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ คือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ดูแลงานในระดับพื้นที่
เปลี่ยนจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือนอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ส.ส.จำนวนมากในภาคใต้ จึงได้เข็นกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อยกสถานะ ศอ.บต.ให้เทียบเท่า กอ.รมน. โดยรับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม ทำงานควบคู่กับ กอ.รมน.ที่รับผิดชอบงานความมั่นคง ตาม "ยุทธศาสตร์สองขา" ทั้งถ่วงดุลและเกื้อหนุนกัน
แต่แล้วเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายทหารก็กดดันให้ยกเลิกโครงสร้างยุทธศาสตร์ 2 ขา โดยพยายามผลักดันให้ กอ.รมน.คุมงานภาคใต้ทั้งหมด แต่ก็ติดขัดข้อกฎหมายที่ล็อคเอาไว้ (พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ทำให้รัฐบาลตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นเมื่อปี 2555 หวังสร้างเอกภาพทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ
โครงสร้างใหม่ยังไม่ทันเห็นผล รัฐบาลก็เผชิญวิบากกรรมทางการเมืองเสียก่อน กระทั่งถูกยึดอำนาจในปี 2547 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งก็ได้เปลี่ยนแนวทางการทำงานอีกครั้ง ด้วยการตั้ง คปต. หรือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรดับไฟใต้ที่คุมการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นแม่งานคุมพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงออกคำสั่งบอนไซ ศอ.บต.ให้อยู่ใต้เงา กอ.รมน.ด้วย
ผ่านมา 2 ปีของรัฐบาล คสช. ปัญหาการไม่บูรณาการก็ยังไม่หมดสิ้น วันนี้จึงมีแนวคิดตั้ง “รัฐบาลส่วนหน้า” หรือ “ครม.ส่วนหน้า” ขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางคำถามว่า...สรุปแล้วตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ปัญหาหลักของภาคใต้คือระบบราชการที่ไม่ยอมบูรณาการใช่หรือไม่?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รายชื่อองค์กรเฉพาะกิจดับไฟใต้ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา
อ่านประกอบ :
1 เปิดวิวัฒนาการ “องค์กรดับไฟใต้” จาก ศอ.บต. ถึง กอ.สสส.-กอ.รมน. แล้วจะไปทางไหน?
2 เส้นทางสายวิบาก"องค์กรดับไฟใต้" จากยุค ศอ.บต. สู่ยุค "กอ.สสส.-กอ.รมน." และ ศบ.กช.
3 30 ปี 9 องค์กร...ไฟใต้ยังร้อน ไม่เห็นทางสงบ
4 "ครม.ส่วนหน้า" ไอเดียเก่าแก้ปัญหาไม่ได้ ระวัง "ฟันเฟืองปีนเกลียว-ชมรมคนชรา"
5 "ประยุทธ์" ใช้ม.44 ตั้ง "คปต.ส่วนหน้า" รองรับ "ผู้แทนพิเศษ" บูรณาการดับไฟใต้
6 ครม.ส่วนหน้า = คปต.ส่วนหน้า จ่อบรรจุยุทธศาสตร์ชาติใช้ทุกรัฐบาล