- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- 30 ปี 9 องค์กร...ไฟใต้ยังร้อน ไม่เห็นทางสงบ
30 ปี 9 องค์กร...ไฟใต้ยังร้อน ไม่เห็นทางสงบ
ในที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คลอด "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็นองค์กรเฉพาะกิจรับผิดชอบในระดับนโยบายเพื่อความเป็นบูรณาการ หลังจากที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เคยพยายามเสนอโครงสร้างคล้ายๆ อย่างนี้มานานเกือบ 1 ปีแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจ
อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง "องค์กรดับไฟใต้" ในลักษณะที่เป็น "องค์กรพิเศษเฉพาะกิจ" เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั่นเลยทีเดียว
องค์กรดับไฟใต้ยุคแรกที่ได้รับการจัดโครงสร้างในลักษณะ "องค์กรพิเศษ" เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2524 (รัฐบาล พล.อ.เปรม) ตั้งเป็น 2 องค์กรคู่กัน คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) ทั้งนี้ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ 2 ขา คืองานพัฒนาและงานปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ สมัยนั้นเรียก "ขบวนการโจรก่อการร้าย" หรือ ขจก.
ศอ.บต.และ พตท.43 ทำให้สถานการณ์ร้ายที่ชายแดนใต้ดีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งมีเหตุรุนแรงไม่ถึงปีละ 10 ครั้งในยุคปลายรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (พ.ศ.2543) ก่อนถูกยุบเลิกไปในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2545 โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/2545
ทว่าหลังการยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเลวร้ายลงเป็นลำดับ เกิดเหตุการณ์โจมตีสถานที่ราชการหลายครั้ง มีการบุกปล้นปืนที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา และปล้นฐานปฏิบัติการของทหารภายในสำนักงานโครงการปศุสัตว์เกษตรมูโน๊ะ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ขึ้นมา ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 154/2546 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2546
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยกรรมการ 35 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน แต่ไม่มีชื่อผู้นำมุสลิมหรือตัวแทนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบของ กปต.เลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งจุดนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโครงสร้างของ ศอ.บต.เดิม
อีกทั้ง กปต.ยังมีบทบาทน้อยมาก คือแทบไม่เคยเรียกประชุมเลย!
ต่อมาสถานการณ์ยิ่งปะทุรุนแรง โดยเฉพาะ "วันเสียงปืนแตก" คือเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จากนั้นก็ฝุ่นตลบ เกิดเหตุรุนแรงรายวันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
24 มี.ค.2547 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจตั้ง กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ซึ่งเรียกกันติดปากในเวลาต่อมาว่า "กอ.3 ส." ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 68 และ 69/2547 มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ในขณะนั้น) ทำหน้าที่ประธาน วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อแก้ไขปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร
และแม้ กอ.สสส.จชต.จะเป็นโครงสร้างหลักที่ใช้ต่อเนื่องมาอีกหลายปีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็มีการปรับโครงสร้างภายในและอำนาจการบังคับบัญชาหลายครั้ง เช่น เดิมมีรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รองผบ.สส.) เป็นผู้อำนวยการ หรือ ผอ.สสส.จชต.ฝ่ายข้าราชการประจำ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนให้แม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่แทน และมีการตั้งหน่วยงาน กอ.สสส.ในระดับจังหวัด เพื่อให้มีแขนขาลงลึกถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เป็นต้น
ขณะที่ในระดับชาติมีการตั้ง กองอำนวยการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กสชต.) ขึ้นมาซ้อนอีกชุดหนึ่ง มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อคุมนโยบายในภาพรวมทั้งหมด และยังมีการตั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการในพื้นที่ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบชต.) ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมงานยุทธศาสตร์ระหว่าง กสชต. และ กอ.สสส.จชต.อีกคณะหนึ่งด้วย
ต่อมาในยุคหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ฟื้น "ยุทธศาสตร์ 2 ขา" มาใช้ดับไฟใต้อีกครั้ง แต่งานความมั่นคงมอบให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดูแล โดยออกกฎหมายรองรับอย่างเป็นรูปธรรม คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
อีกด้านหนึ่งก็ฟื้น ศอ.บต.ที่ถูกยุบไป รวมทั้ง พตท.43 ด้วย แต่ใช้ชื่อว่า กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ "พตท." เฉยๆ
ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้ออกกฎหมายขึ้นมารองรับโครงสร้าง ศอ.บต.อย่างเป็นทางการ คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ยกระดับ ศอ.บต.ให้เป็นองค์กรหลักรับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและอำนวยความเป็นธรรมเทียบเท่า กอ.รมน.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคง
กระทั่งถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ กอ.รมน.ได้พยายามชงโครงสร้างองค์กรดับไฟใต้ใหม่ เพื่อให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียวโดยอ้างความเป็นเอกภาพ ใช้ชื่อว่า ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.กช.) และภายหลังแตกลูกเป็น "บอร์ดระดับนโยบาย" (คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกฯเป็นประธาน) กับ "บอร์ดระดับพื้นที่" (คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน) แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ยอมลงนามในคำสั่งที่ กอ.รมน.เสนอขึ้นไป
ทว่าสุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้นมาเป็นองค์กรเฉพาะกิจอีกองค์กรหนึ่ง!
คำถามก็คือ "ศูนย์ปฏิบัติการฯ" ที่ว่านี้สามารถสร้างความหวังอะไรได้บ้าง เพราะเจ้าภาพ ทั้งบุคลากรและอาคารสถานที่ก็ยังเป็น กอ.รมน.รับผิดชอบ อย่างนี้เท่ากับพายเรือในอ่าง ย้อนกลับไปหาโครงสร้างเดิมที่ กอ.รมน.เคยเสนอ แต่ทำช้าไปเกือบปีใช่หรือไม่?
ยิ่งไปกว่านั้นการส่งสัญญาณให้ "ตำรวจ" เข้าไปมีบทบาทมากขึ้น ทั้งจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯยิ่งลักษณ์เอง และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ น่าติดตามว่าจะส่งผลให้เกิดอะไรต่อไป เพราะตำรวจเคยถูกตั้งคำถามถึงปฏิบัติการบางประการในพื้นที่ช่วงก่อนปี 2547 โดยเฉพาะในห้วงที่รัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติด
ทั้งยังเป็นตำรวจในยุคที่ ร.ต.อ.เฉลิม กำกับดูแล...
เป็น ร.ต.อ.เฉลิม ที่แสดงทัศนะมาตลอดว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นน่ากลัว ไม่เคยคิดจะลงไปสัมผัสปัญหา กระทั่งไม่อยากให้ลูกชายซึ่งเพิ่งโอนจากทหารไปเป็นตำรวจถูกโยกย้ายลงไปทำงาน ในขณะที่ทหารตำรวจระดับปฏิบัติที่เป็นลูกหลานชาวบ้านยังบาดเจ็บล้มตายทุกวัน
แล้วเราจะตั้งความหวังกับตัวบุคคลและองค์กรใหม่ที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้หรือ?
สรุป "องค์กรเฉพาะกิจดับไฟใต้" กับสารพัดตัวย่อในรอบ 30 ปี
- ศอ.บต. / พตท.43 (2524-2545)
- กปต. (2546)
- กอ.สสส.จชต. (2547)
- กสชต. (2548)
- กบชต. (2548)
- ศอ.บต. / พตท. (2549)
- กอ.รมน. (2551)
- ศอ.บต. (2553)
- ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2555)