เสนอแผน"โครงสร้าง3ระดับ"พูดคุยดับไฟใต้ - "ถวิล"จ่อบินถกมาเลย์
หลังจาก "ศูนย์ข่าวอิศรา" เปิดประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่ง "คณะทำงานพิเศษ" ไปประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงของมาเลเซีย เพื่อสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งใช้ชื่อใหม่ว่า "การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยฝ่ายไทยเสนอจัดโครงสร้างคณะพูดคุยใหม่ และล้มเลิก 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นนั้น
ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 26 ส.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม คสช.ชุดใหญ่ ยอมรับว่าได้มีการส่งผู้แทนไปเจรจากับทางการมาเลเซียแล้วจริง โดยมาเลเซียมีท่าทีต้องการให้ฝ่ายทหารหรือฝ่ายความมั่นคงเป็นแกนนำในการเจรจาในฐานะผู้รับผิดชอบปัญหาโดยตรง พร้อมมีรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า ผู้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางตัวในการประสานงานกับมาเลเซีย คือ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.ประยุทธ์) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
อย่างไรก็ดี พล.อ.อกนิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งตัวเขาเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้แทนหลายคณะเดินทางไปประสานกับทางการมาเลเซีย
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เผยว่า คณะทำงานพิเศษที่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งไปประสานกับทางการมาเลเซียนั้นมี 2 คณะ โดย พล.อ.อกนิษฐ์ เป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดหนึ่งใน 2 ชุดนี้ อย่างไรก็ดี มาเลเซียยังไม่ได้แสดงท่าทีต้องการเปลี่ยนตัว "ผู้อำนวยความสะดวก" ในกระบวนการพูดคุยเป็นฝ่ายทหารตามที่เป็นข่าว เพียงแต่เป็นการแสดงเจตนาของฝ่ายไทยว่าหากเปลี่ยนตัวเป็นผู้แทนจากกองทัพ น่าจะประสานงานกันง่ายขึ้น ซึ่งทางมาเลเซียก็รับไว้พิจารณา
ทั้งนี้ ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยที่ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เพื่อจัดกระบวนการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ คือ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพมินดาเนาของฟิลิปปินส์ด้วย
ด้านความคืบหน้าการวางโครงสร้างองค์กรที่จะทำหน้าที่พูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอแผนโครงสร้างไปยังนายกฯประยุทธ์แล้ว แต่ยังไม่มีการลงนาม
รายละเอียดของแผนดังกล่าว กำหนดให้โครงสร้างการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีผู้รับผิดชอบ 3 ระดับ คือ
1.ระดับอำนวยการ มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมาย เป็นประธาน มีกรรมการราว 5-6 คน ทำหน้าที่กำกับนโยบาย ทิศทางภาพรวม และการจัดหางบประมาณ แล้วรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี
2.ระดับคณะพูดคุย ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของระดับอำนวยการ มีหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการพูดคุย และมีคณะทำงานสนับสนุนตามกรอบที่วางไว้อีก 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านการเมือง และคณะทำงานด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้ยุติความรุนแรง
3.ระดับพื้นที่ รับผิดชอบโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบภารกิจสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี และสร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดเวทีให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและส่งข้อเสนอแนะไปยังคณะพูดคุย
ทั้งนี้ ภารกิจของโครงสร้างระดับพื้นที่จะรับผิดชอบเรื่องการสร้างความเป็นธรรมและความเข้าใจ เพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจให้เกิดขึ้นด้วย อันจะส่งผลให้การพูดคุยประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นในระยะยาว
"หลังจากนี้คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการชี้แจงหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจนโยบายและแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน จะได้ไม่เกิดปัญหาไร้เอกภาพหรือสะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยจะเข้ามาร่วมอยู่ในโครงสร้าง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าว
และว่าในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.อาจเดินทางไปมาเลเซียเพื่อยืนยันถึงการสานต่อกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกแสดงโครงสร้าง 3 ระดับในการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
อ่านประกอบ :
1 "ประยุทธ์"ส่ง"ทีมพิเศษ"ถกมาเลย์วางกรอบพูดคุยดับไฟใต้ - ล้ม5ข้อเรียกร้องเดิม
2 กอ.รมน.กางโรดแมพพูดคุยดับไฟใต้ ถก"ผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม"ทำสัตยาบันสันติสุข
3 ผ่าโครงสร้าง คปต.ดับไฟใต้ เปิด4คณะ"พูดคุยสันติสุข"
4 ทำไมต้องเปลี่ยนจาก "พูดคุยสันติภาพ" เป็น "พูดคุยเพื่อสันติสุข"