ทำไมต้องเปลี่ยนจาก "พูดคุยสันติภาพ" เป็น "พูดคุยเพื่อสันติสุข"
"ศูนย์ข่าวอิศรา" เพิ่งเปิดข้อมูลโครงสร้างการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าพูดคุยต่อ แต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการ และตัวบุคคล
จะว่าไปการเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่ "ชื่อ" ของกระบวนการพูดคุยด้วยซ้ำ จากการ "พูดคุยสันติภาพ" เป็น "พูดคุยเพื่อสันติสุข"
ก่อนจะไปถึงสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อ ขอย้อนกลับไปเรื่อง "คณะทำงานพูดคุย" ซึ่งมีการว่างไว้คร่าวๆ แล้วว่าจะมีอย่างน้อย 4 ชุด 4 ฝ่าย ได้แก่
1.คณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุข จะมีทั้งวงลับและวงเปิด จึงอาจมีการตั้งคณะทำงานย่อยเพิ่มอีก
2.คณะทำงานด้านกฎหมาย
3.คณะทำงานด้านการเมือง
4.คณะทำงานสร้างความเชื่อมั่นการยุติความรุนแรง
อย่างไรก็ดี โครงสร้างนี้อาจยังไม่ใช่โครงสร้างสุดท้าย คืออาจมีการปรับอีกเล็กน้อย และยังไม่มีการจัดตัวบุคคลลงไปในคณะทำงาน เพราะขั้นตอนน่าจะต้องผ่านการคัดเลือกจากหัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มี "แมนเดท" (mandate) หรือ "อาณัติ" ว่าได้รับมอบอำนาจอย่างแท้จริงจากผู้มีอำนาจของประเทศไทย
สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวบุคคล ก็คือ "หลักการของการพูดคุย" ซึ่งเปลี่ยนแปลงแนวทางไปจากเดิมพอสมควร กล่าวคือ กรอบการพูดคุยต้องชัดเจนว่าเน้นเรื่อง "การสร้างสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่" โดยลดระดับความสำคัญของประเด็น "รูปแบบการปกครอง" หรือ "การปกครองพิเศษ" หรือ "การปกครองตนเอง" ลงไป
เพราะเป้าหมายของการพูดคุยต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของประชาชน สนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่ความต้องการของขบวนการที่เคลื่อนไหวโดยใช้การก่อเหตุรุนแรงเป็นเครื่องมือ
และนี่คือสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อจากการ "พูดคุยสันติภาพ" สู่การ "พูดคุยเพื่อสันติสุข" เพราะต้องเป็นการพูดคุยเพื่อสร้างความสงบสุขของพื้นที่และพี่น้องประชาชนจริงๆ
ข้อมูลที่วิเคราะห์จากหน่วยงานความมั่นคงชัดเจนว่า หลังจากดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพมา 1 ปีเศษในรัฐบาลชุดที่แล้ว พบว่าร่องรอยความคิดและความต้องการของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนั้น อยู่ที่ "อำนาจการปกครอง" เป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องทหารรังแกประชาชน หรือรัฐไทยไม่สนใจคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่เรื่่องความไม่เป็นธรรม แต่ปัญหาเหล่านั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจต่อรองเรื่องการปกครองตนเอง
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีบทบาทสำคัญในการพูดคุยเจรจากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต ถึงกับให้ความเห็นว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลชุดที่แล้ว ขบวนการบีอาร์เอ็นทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมโลกเห็นเป็นภาพสอดคล้องแล้วนำไปสู่เงื่อนไขการใช้สิทธิกำหนดใจตนเอง หรือ Right to Self-determination
ตั้งแต่การออก YouTube เรียกประเทศไทยว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" กระทั่งการพยายามทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เข้าเงื่อนไขเป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธ (armed conflict) เปิดทางให้องค์กรจากภายนอกเข้าแทรกแซงได้ ในสถานะที่คนมลายูมุสลิมและดินแดนปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นดินแดนอาณานิคมของสยามตั้งแต่ครั้งอดีต
และนั่นจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องแยกตัวเป็นเอกราชตั้งรัฐใหม่ แต่เมื่อความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ และได้ลงนามในข้อตกลงแล้วว่าจะไม่พูดเรื่องเอกราช ก็ต้องหันมาพูดเรื่อง "การปกครองตนเอง" หรือ "รูปแบบการปกครองแบบพิเศษ"
สอดคล้องแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงที่ชี้ว่า "ทั้งนโยบายความมั่นคงและการพูดคุยต้องมุ่งสนองตอบความต้องการของประชาชนและปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถ้าเขาพร้อมจะคุยในประเด็นเหล่านี้ เราก็พร้อม ไม่ใช่มานั่งคุยกันเรื่องการปกครองตนเอง โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้อะไรขึ้นมา และอาจเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ด้วยซ้ำ ถ้ากลุ่มที่เคยฆ่าและทำร้ายผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้นำในพื้นที่ขึ้นมาจริงๆ"
การปรับทิศการพูดคุยสันติภาพ เป็นการ "พูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" จึงการดึงการกุมสภาพการพูดคุยกลับมา ไม่ให้เป็นไปตามเกมของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แล้วหันมาคุยกันเรื่องสันติสุขของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เช่น ทำอย่างไรให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ แผนการหลังเกิดความสงบในพื้นที่แล้วควรพัฒนาเรื่องอะไรที่สอดล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนบ้าง หรือเรื่่องระบบการศึกษาที่เปิดกว้างกับทุกศาสนาจะทำอย่างไร มีรูปแบบอะไรบ้าง การดำรงอัตลักษณ์หรือวิถีชุมชน การพัฒนาโรงเรียนปอเนาะให้มีคุณภาพ หรือแม้แต่การร่วมมือกันสกัดกั้นการแพร่ขยายแนวคิดสุดโต่งรุนแรง เป็นต้น
ถ้าฝ่ายขบวนการยอมพูดคุย ก็สะท้อนว่าพวกเขาคาดหวังสันติสุขของปาตานีที่อ้างว่าเป็นแผ่นดินเกิด และแผ่นดินของพวกเขา แต่หากไม่...ประชาชนก็ต้องไปคิดว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่
อย่างไรก็ดี เกมแบบนี้ ฝ่ายขบวนการย่อมอ่านออกเช่นกัน เพราะจากการประเมินของฝ่ายความมั่นคงชี้ว่า ฝ่ายขบวนการเองก็จะชะลอการพูดคุยออกไป เพราะทราบว่าเมื่อทหารเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ แผนการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การได้อำนาจปกครองตนเองย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะกองทัพมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เคยส่งมา จึงไม่มีทางที่ทหารจะยอมรับ
"แนวโน้มคือยังไม่คุยช่วงนี้ แล้วรอรัฐบาลจากนักการเมือง เพราะมีความอ่อนตัวสูงกว่า ช่วงนี้จึงเป็นไปได้ที่ฝ่ายขบวนการจะมุ่งก่อเหตุรุนแรงเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และเมื่อเรา (รัฐไทย) ไม่เล่นตามเกมของกลุ่มขบวนการ ก็คาดการณ์ได้ว่าขบวนการจะก่อเหตุรุนแรงมากขึ้นแน่"
นี่คือบทสรุปรวบยอดความคิดของฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ ณ วันนี้ ส่วนจะถูกต้องและดับไฟใต้ได้จริงหรือไม่...เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556 ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก