"ประยุทธ์"ส่ง"ทีมพิเศษ"ถกมาเลย์วางกรอบพูดคุยดับไฟใต้ - ล้ม5ข้อเรียกร้องเดิม
ว่าที่นายกฯส่ง "ทีมพิเศษ" ถกหน่วยงานความมั่นคงมาเลเซีย ย้ำเจตนารมณ์สานต่อพูดคุยเพื่อสันติสุขดับไฟใต้ แต่ขอปรับทัพคณะพูดคุยใหม่ ล้ม 5 ข้อเรียกร้องเดิม พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่มากขึ้น คาดเริ่มกระบวนการได้หลังมี ครม. เผยไม่กำหนดตัว "ผู้อำนวยความสะดวก" ยังเป็น "ซัมซามิน" หรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ส่ง "คณะทำงานพิเศษ" เดินทางไปพบปะพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ส.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ระบุตอนหนึ่งถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "เรื่องการพูดคุยกำลังประสานเพิ่มเติมกับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนายความสะดวก แต่เราทำตามกรอบโครงสร้างใหม่ กำลังนำกรอบโครงสร้างไปหารืออีกครั้ง ในระหว่างนี้การพูดคุยต่างๆ ก็ยังคุยกันอยู่ในทางลับ ในทางพื้นที่มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และโดย ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)"
ทั้งนี้ มีรายงานว่าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณดังกล่าวผ่านทางรายการคืนความสุขให้คนในชาติแล้ว ก็ได้ส่ง "คณะทำงานพิเศษ" เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยมีการพบปะกับเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ในช่วงปี 56 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คณะทำงานพิเศษของฝ่ายไทยได้ยืนยันให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยต่อไป ส่วนตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นใคร ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิม คือ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่อยู่เดิมก็ได้
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงของไทยบางหน่วยว่า ทางการไทยต้องการให้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกเป็นฝ่ายทหาร หรืออดีตทหาร แต่ปรากฏว่าในการพบปะหารือของคณะทำงานพิเศษกับทางการมาเลเซียดังกล่าว ไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้แต่อย่างใด
สำหรับกระบวนการพูดคุยฯนั้น ในส่วนของเวทีที่จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ จะเริ่มต้นเมื่อฝ่ายไทยมีรัฐบาลและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างที่รอการตั้ง ครม. จะมีการประสานงานกันทางลับระหว่างคณะทำงานพิเศษกับตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย รวมทั้งผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก เพื่อกำหนดแผนการทำงานร่วมกันในการสร้างกระบวนการพูดคุยใหม่ขึ้นมา เพราะทางการไทยได้ส่งสัญญาณการเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยจากชุดเดิมที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นคณะใหม่ด้วย
ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ก็จะมีการจัดคณะพูดคุยใหม่เช่นกัน โดยอาจมีทั้งตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น และกลุ่มอื่นๆ เช่น พูโล และบีไอพีพี เข้าร่วม ซึ่งเป็นการขยายกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในวงพูดคุยให้กว้างมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ความท้าทายของกระบวนการพูดคุยครั้งใหม่ ก็คือ การที่ทางการไทยล้มเลิกข้อเรียกร้อง 5 ข้อเดิมของฝ่ายบีอาร์เอ็น และเสนอประเด็นการพูดคุยใหม่ โดยประเด็นการพูดคุยจะมีทั้งวาระที่กำหนดโดยรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง กับวาระที่ได้เปิดเวทีรับฟังจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายของการพูดคุย มุ่งสู่สันติสุขของประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่มุ่งพูดคุยตกลงกันเฉพาะเงื่อนไขของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ
สำหรับโครงสร้างและแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นไปตามคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ และแผนงานที่ฝ่ายความมั่นคงเสนอ ซึ่งได้รับอนุมัติจากหัวหน้า คสช.แล้ว กล่าวคือ
คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ 15 ส.ค.57 ระบุว่า "เนื่องจากรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง ผมก็ให้มีการปรับรูปแบบการพูดคุยใหม่ให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้พร้อมๆ กันหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่คณะเดียวไปพูดก็ไม่จบแน่นอน ต้องพูดทั้งกฎหมาย ความรุนแรง ความเป็นธรรม ความชอบธรรม และเรื่องจะอยู่กันอย่างไรในวันข้างหน้า ผมใช้คำว่าเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข จะทำอย่างไรให้อยู่กันได้ทั้งไทยพุทธและมุสลิมอย่างยั่งยืนในเรื่องของความสันติ"
ขณะที่แผนงาน หรือ "พิมพ์เขียวโครงสร้างคณะพูดคุย" ที่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคสช.แล้ว ได้แก่การเตรียมตั้งคณะทำงาน 4 ชุดเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ได้แก่ 1.คณะทำงานดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งการพูดคุยจะมีทั้งแบบเปิดและปิดลับ จึงอาจมีคณะทำงานย่อยเพิ่มเติมอีกหลายชุด
2.คณะทำงานด้านกฎหมาย มีหน้าที่สนับสนุนประเด็นทางกฎหมายที่ย่อมต้องมีขึ้นระหว่างการพูดคุย 3.คณะทำงานด้านการเมือง เน้นสนับสนุนข้อมูลด้านการเมือง และการทำงานเชิงสร้างความเข้าใจให้กับพื้่นที่ และ 4.คณะทำงานสร้างความเชื่อมั่นการยุติความรุนแรง มีหน้าที่รณรงค์และชักชวนให้กลุ่มที่เคยใช้ความรุนแรงหันมาใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้
สำหรับตัวบุคคลที่จะเข้าไปเป็นคณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ จะมีการตั้งโดยคณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ จะใช้กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นจุดเชื่อมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม (ซีเอสโอ) และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในพื้นที่ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเกื้อกูลในเวทีการพูดคุย รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและเสนอความคิดเห็น
โดยหลังจากนี้จะมีการจัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เพื่อแจ้งข่าวสารและรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะ แล้วส่งต่อให้คณะพูดคุยนำไปคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างต่อไป
ขณะที่กรอบการพูดคุยจะกำหนดชัดเจนโดยเน้นเรื่อง "การสร้างสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่" มากกว่าเรื่องรูปแบบการปกครอง เพราะนโยบายด้านความมั่นคงและการพูดคุยเจรจาต้องมุ่งสนองตอบความต้องการของประชาชน รวมทั้งปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การมุ่งเจรจาเรื่องรูปแบบการปกครองตนเอง โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก มีแต่กลุ่มแกนนำระดับของขบวนการที่เกี่ยวพันกับการฆ่าและทำร้ายผู้บริสุทธิ์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเพาเวอร์พอยต์ของ พ.อ.วิชาญ สุขสง นายทหารสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่บรรยายเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ ในวันสัมมนา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าพบสื่อมวลชน