ผ่าโครงสร้าง คปต.ดับไฟใต้ เปิด4คณะ"พูดคุยสันติสุข"
ประชุมกันมาหลายรอบแล้วสำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ลธ.คสช.) เป็นประธาน
คปต.ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 96/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค.2557 มีกรรมการทั้งสิ้น 20 คน ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า พล.อ.อุดมเดช ได้เรียกประชุมและเดินหน้าภารกิจในกรอบ คปต.มาตั้งแต่ผ่าน 1 เดือนหลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองแล้ว คือทำงานล่วงหน้าไปก่อนที่จะมีคำสั่งตั้ง คปต.ด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้นสังคมโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยได้รับรู้ว่าโครงสร้างการทำงานเพื่อ "ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็นอย่างไรบ้าง แบ่งกลุ่มงานกันอย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบกลุ่มงานนั้นๆ
สิ่งที่สังคมได้รับรู้จึงเป็นเพียงคำแถลงภายหลังการประชุม คปต. ซึ่งกำหนดกันเอาไว้ว่าจะประชุมกันราวๆ 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง หรือเดือนละ 2 ครั้ง
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า จนถึงขณะนี้ คปต.ได้จัดโครงสร้างการทำงานค่อนข้างลงตัวแล้ว รวมไปถึงโครงสร้างของคณะทำงานเพื่อพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือที่เรียกว่า "คณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ด้วย
เริ่มจากโครงสร้างการทำงานของ คปต. จะแบ่งงานออกเป็น 7 กลุ่มงาน มีผู้รับผิดชอบ 3 ฝ่ายดังนี้
1.กลุ่มงานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับผิดชอบ ได้แก่ กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้ากลุ่มงาน มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยสนับสนุน
2.กลุ่มงานที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบ ได้แก่ กลุ่มงานอำนวยความยุติธรรม มีกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นหัวหน้า, กลุ่มงานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มีกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นหัวหน้า, กลุ่มงานการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม มีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหัวหน้า, กลุ่มงานพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่และคุณภาพชีวิต มีกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหัวหน้า
3.กลุ่มงานที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับผิดชอบ ได้แก่ กลุ่มงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย และกลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยทั้ง 2 กลุ่มงานมี สมช.เป็นหัวหน้ากลุ่ม และมีหน่วยงานสนับสนุนคือ กอ.รมน.
โครงสร้างดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจดับไฟใต้มองว่า แม้จะเป็นการกำหนดให้ กอ.รมน.คือหน่วยงานที่มีบทบาทหลักอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ถือว่ามีความชัดเจนในยุทธศาสตร์และภาคปฏิบัติ โดย ศอ.บต.จะอยู่ในส่วนงานขับเคลื่อน (คปต.) เท่านั้น ขณะที่การปฏิบัติในพื้นที่จะขึ้นกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เพียงหน่วยเดียว โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
"แม้การปฏิบัติงานข้างล่าง (ในพื้นที่) จะยังเป็น 2 ขา คือ งานความมั่นคง กับงานพัฒนา แต่ต้องขึ้นกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าหน่วยเดียวเท่านั้นเพื่อความเป็นเอกภาพ ขณะนี้ พล.อ.อุดมเดช ได้มอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มภารกิจแต่ละกลุ่ม (7 กลุ่ม) ไปเริ่มจัดทำแผนงานเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยจะมีระบบการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ได้รับงบประมาณไปแล้วในปีงบประมาณ 2557 กับโครงการที่บูรณาการกันใหม่ตามงบประมาณปี 2558"
ส่วนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่ง สมช.เป็นเจ้าภาพจัดทำ และจะหมดอายุในปีนี้นั้น แหล่งข่าวบอกว่า คสช.ให้ใช้นโยบายนี้ต่อไปอีก 1 ปี คือถึงสิ้นปี 2558 โดยหลักการทำงานตามนโยบายยังถือว่าทันสมัยและเท่าทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่ง คสช.เดินหน้าปรับใหม่เป็นลักษณะ working group หรือคณะทำงานด้านต่างๆ ที่มีความชัดเจน และหากริเริ่มพูดคุยในประเด็นไหน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นต้องไปร่วมในคณะทำงานด้วย
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.แถลงภายหลังการประชุม คปต.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่บอกว่า คปต.เห็นชอบตามที่เลขาธิการ สมช.เสนอให้แต่งตั้ง "คณะทำงานเพื่อพูดคุยสันติสุข" กับกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 4 ชุด โดยชุดแรกจะเป็นชุดดำเนินการพูดคุย ส่วนอีก 3 ชุดเป็นฝ่ายสนับสนุนแนวทางและนโยบายการพูดคุย แต่ยังไม่ได้กำหนดตัวบุคคลเข้าไปเป็นคณะทำงาน
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คณะทำงาน 4 ฝ่าย หรือ 4 ชุดที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น แบ่งเป็น
1.คณะทำงานดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งการพูดคุยจะมีทั้งแบบเปิดและปิดลับ จึงอาจมีคณะทำงานย่อยเพิ่มเติมอีกหลายชุด
2.คณะทำงานด้านกฎหมาย มีหน้าที่สนับสนุนประเด็นทางกฎหมายที่ย่อมต้องมีขึ้นระหว่างการพูดคุย
3.คณะทำงานด้านการเมือง เน้นสนับสนุนข้อมูลด้านการเมือง และการทำงานเชิงสร้างความเข้าใจให้กับพื้่นที่
4.คณะทำงานสร้างความเชื่อมั่นการยุติความรุนแรง มีหน้าที่รณรงค์และชักชวนให้กลุ่มที่เคยใช้ความรุนแรงหันมาใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้
สำหรับตัวบุคคลที่จะเข้าไปเป็นคณะทำงานพูดคุยสันติภาพ เท่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกันไว้ก่อนหน้านี้ จะให้ผ่านการคัดเลือกจากนายกรัฐมนตรี
ขณะที่กรอบการพูดคุยจะกำหนดชัดเจนโดยเน้นเรื่อง "การสร้างสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่" มากกว่าเรื่องรูปแบบการปกครอง เพราะนโยบายด้านความมั่นคงและการพูดคุยเจรจาต้องมุ่งสนองตอบความต้องการของประชาชน รวมทั้งปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การมุ่งเจรจาเรื่องรูปแบบการปกครองตนเอง โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก มีแต่กลุ่มแกนนำระดับของขบวนการที่เกี่ยวพันกับการฆ่าและทำร้ายผู้บริสุทธิ์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกแสดงรายละเอียดคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุข และโครงสร้างการทำงานของ คปต. โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ