จากคุกนราฯ-สงขลาถึงเรือนจำกลางปัตตานี หลายคำถามที่ยังรอคำตอบ
ต้องบอกว่าสถานการณ์จลาจลในเรือนจำกลางปัตตานีเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนวันหยุดยาว 5 วัน จบลงในแบบที่หลายคนยังคาใจ...
ไม่ใช่คาใจเพราะอยากให้วุ่นวายกันต่อ แต่คาใจว่ายังมีความจริงอะไรที่สังคมยังรับรู้รับทราบไม่หมดหรือไม่
ประเด็นแรก คือ จำนวนผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้ต้องขัง บาดเจ็บแค่ 7 คนจริงหรือ เพราะรายงานช่วงแรกจากเจ้าหน้าที่ ระบุชัดว่าบาดเจ็บเป็นร้อย โดยเฉพาะในช่วงของการควบคุมสถานการณ์ที่ใช้กำลังตำรวจ ทหาร เมื่อกลางดึกของวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.59 มีเสียงปืนดังท่ามกลางกลุ่มควันและแสงเพลิง แม้จะอ้างว่าเป็นกระสุนยาง แต่กระสุนพวกนี้ยิงใส่ตรงๆ ก็ทำให้บาดเจ็บได้เช่นกัน
คำถามคือยอดผู้บาดเจ็บมีแค่ 7 คนจริงหรือไม่ และพวกเขาได้รับการรักษาเยียวยาบาดแผลตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือยัง
ประเด็นที่สอง คือ ผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นนักโทษชั้นดี และทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน หรือ ผชล.นั้น มีรายงานว่า 2 ใน 3 รายถูกโยนร่างเข้ากองไฟ
คำถามคือ พวกเขาทำอะไรถึงสร้างความแค้นเคืองให้กับนักโทษคนอื่นๆ หรือกลุ่มที่ก่อเหตุจลาจล กระทั่งต้องกระทำอย่างทารุณโหดร้าย ถึงขั้นต้องโยนเข้ากองไฟกันด้วย
เรื่องนี้จะมีการแจ้งข้อหาใครบ้างหรือไม่ เพราะเรื่องการดำเนินคดีดูจะเงียบๆ ไป มีเพียงท่านปลัดกระทรวงยุติธรรม ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ที่ตอบคำถามแบบกว้างๆ ระหว่างการแถลงข่าวหลังรับฟังรายงานที่เรือนจำว่า จะชันสูตรพลิกศพและส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ประเด็นที่สาม นักโทษชั้นดี 3 คนที่เสียชีวิต เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธทั้งหมดหรือไม่ เพราะรายงานช่วงแรกเป็นเช่นนั้น แต่ภายหลังมีการพยายามแก้ข่าวว่า 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นมุสลิม
เรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นความอ่อนไหว เพราะเป็นเรือนจำในพื้นที่พิเศษอย่างปัตตานี ซึ่งมีพี่น้องมุสลิมจำนวนมาก และยังมีปัญหาความไม่สงบ มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวนไม่น้อย แต่การให้ข้อมูลคลุมเครือจะยิ่งสร้างความคลางแคลงใจและความขัดแย้งยิ่งกว่าหรือเปล่า
ประเด็นที่สี่ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยจริงหรือ คำถามนี้ไม่ได้ต้องการชี้นำว่าผู้ต้องขังคดีความมั่นคงต้องเกี่ยวข้อง แต่หากย้อนพิจารณาความคุกรุ่นในเรือนจำหลายๆ แห่งในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น เรือนจำกลางสงขลา ก็เกือบมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการย้ายนักโทษคดีความมั่นคงบางรายไปเรือนจำคลองไผ่ จ.นครราชสีมา
แต่เรือนจำกลางสงขลาไม่ทันเกิดเรื่อง เพราะไปเกิดจลาจลที่เรือนจำจังหวัดสงขลา (คนละแห่งกัน แต่อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองสงขลาเช่นเดียวกัน) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.58 แทน
ประเด็นที่ห้า เรื่องข้อเรียกร้อง 11-13 ข้อของผู้ต้องขัง หลายข้อเป็นปัญหาเรื่องการดูแลนักโทษไม่ดีพอ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความเข้มงวดเรื่องของเยี่ยมและโทรศัพท์มือถือ จากนโยบาย 5 ก้าวย่างกรมราชทัณฑ์ เพื่อทำให้เรือนจำปลอดจากยาเสพติด
คำถามคือ ข้อเรียกร้องหลายๆ ข้อที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ได้รับการยอมรับและแก้ไขหรือไม่อย่างไร หรือเป็นเพียงเรื่องที่กลุ่มนักโทษอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการก่อการจลาจล
ความคลุมเครืออย่างถึงที่สุด สะท้อนผ่าน อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ที่ลงพื้นที่ไปขอเข้าตรวจสอบสถานการณ์ภายในเรือนจำ แต่ไปรอตั้งแต่สายจรดเย็น ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายใน ทำให้หลายคนสงสัยว่ามีอะไรซ่อนอยู่ สมดังฉายาเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “แดนสนธยา”
ขณะที่ครอบครัวและญาติผู้ต้องขังที่ไปรอติดตามสถานการณ์ ก็ไม่ได้พบบุคคลอันเป็นที่รัก ได้แต่รออย่างไร้ความหวังเช่นกัน สิ่งที่ได้รับคือข่าวสารที่ยังไม่มีความชัดเจนพอจากทางราชการ
กล่าวสำหรับเรือนจำกลางปัตตานี มีปัญหาพื้นฐานไม่ต่างกับเรือนจำอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด คือ มีผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยปริมาณผู้ต้องขังที่เรือนจำรองรับได้อยู่ที่ราวๆ 800-1,000 คน แต่ตัวเลขจริงปาเข้าไป 1,700-1,800 คน
เรื่องความเป็นอยู่ในเรือนจำจึงแออัดโดยสภาพ มีปัญหาขาดแคลนทั้งเรื่องอาหาร และน้ำดื่ม โดยเฉพาะผู้ต้องขังมุสลิมที่ต้องการการดูแลในเรื่องอาหารฮาลาล และพื้นที่ในการปฏิบัติศาสนกิจ
ขณะที่ผู้ต้องขังส่วนมาก โดยเฉพาะคดีความมั่นคง ไม่ต้องการย้ายเรือนจำ เพราะส่งผลถึงความยากลำบากของครอบครัวและญาติในการเดินทางไปเยี่ยม ซึ่งต้องเข้าใจว่าผู้ต้องขังหรือนักโทษคดีความมั่นคงนั้น มีลักษณะแตกต่างจากอาชญากรประเภทอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นกำลังหลักในการทำมาหากินของครอบครัว เพียงแต่มีความคิดความเชื่อคนละแบบกับรัฐ จึงเลือกเดินบนเส้นทางสายผิดกฎหมาย
ยิ่งไปกว่านั้น หลายรายยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี กระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้พิสูจน์ว่าพวกเขามีความผิด
ปัญหาเหล่านี้เคยปรากฏมาแล้ว กลายเป็นแรงกดดันกระทั่งปะทุเป็นความรุนแรง ดังเช่นที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเกิดเหตุวุ่นวาย 2 ครั้งในปีเดียวกัน คือเมื่อปี 2554 ในเดือน มิ.ย. และ ส.ค.
ผลจากเหตุวุ่นวายใหญ่ๆ 2 ครั้ง นำมาสู่การปรับปรุงมาตรฐานการดูแลด้านคุณภาพชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น แก้ไขระเบียบให้ผู้ต้องขังมุสลิมสามารถใส่เครื่องแบบนักโทษที่ออกแบบมาพิเศษ แขน-ขายาวกว่าปกติ (คลุมข้อศอกและหัวเข่า) เพื่อไม่ให้เจ็บร้อนขณะประกอบพิธีละหมาด รวมถึงการจัดหาน้ำให้เพียงพอนอกเหนือจากการบริโภคแล้ว ยังเพื่อชำระล้างร่างกายก่อนปฏิบัติศาสนกิจ ที่เรียกว่า “เอาน้ำละหมาด” ด้วย
ขณะที่เหตุจลาจลที่เรือนจำกลางปัตตานี มีการให้ข่าวว่าหัวโจก 2 คนเป็นนักโทษคดียาเสพติด และเคยมีส่วนร่วมก่อเหตุวุ่นวายในเรือนจำจังหวัดสงขลาเมื่อปีที่แล้ว ก่อนถูกย้ายไปคุมขังที่ปัตตานี
จะเห็นได้ว่าปัญหาในเรือนจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นเรื่องเดิมๆ และตัวละครที่ก่อความวุ่นวาย หลายๆ ครั้งก็เป็นตัวละครเดิม
นโยบายบางอย่างที่กรมราชทัณฑ์ใช้แก้ไขปัญหา จึงอาจถึงเวลาต้องทบทวน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เสื้อสีฟ้า) ได้แต่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ภายนอก ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในเรือนจำ
2 ญาติผู้ต้องขังมารอฟังข่าวตลอดทั้งวัน ต้องนั่งบังเงารถเพื่อหลบแดดที่ร้อนระอุ
อ่านประกอบ :
1 เปิดเบื้องหลังนักโทษก่อจลาจลคุกสงขลา จับตาเรือนจำกลางคุกรุ่น
2 บันทึกบทเรียนจลาจลเรือนจำนราฯ... สถานการณ์ (สร้าง) ความหวาดระแวงยังคงมีอยู่