เปิดเบื้องหลังนักโทษก่อจลาจลคุกสงขลา จับตาเรือนจำกลางคุกรุ่น
เหตุจลาจลที่เรือนจำจังหวัดสงขลา ไม่ใช่ปัญหาพื้นๆ แค่เรือนนอนแออัด แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ซุกอยู่ใต้พรม
เรือนจำจังหวัดสงขลาที่เกิดเหตุผู้ต้องขังก่อจลาจลในวันนี้ เป็น 1 ใน 4 เรือนจำที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย
1.เรือนจำกลางสงขลา 2.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา สำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติดโดยเฉพาะ 3.ทัณฑสถานหญิงสงขลา สำหรับผู้ต้องขังหญิง และ 4.เรือนจำจังหวัดสงขลา ที่เกิดจลาจลเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558
เรือนจำจังหวัดสงขลามีนักโทษและผู้ต้องขังประมาณ 2,500 คน แยกเป็นนักโทษเด็ดขาด 1,100 คน และอยู่ระหว่างรอดำเนินคดี 1,500 คน
เบื้องหลังการก่อจลาจล นอกจากปัญหาสภาพความแออัดในเรือนนอนแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากนักโทษบางกลุ่มไม่พอใจการจัดระเบียบเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายจากส่วนกลาง โดยกรมราชทัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในเรือนจำ
มาตรการจัดระเบียบ เน้นเรื่องสัมภาระของผู้ต้องขัง เช่น ห้ามใช้ถุงพลาสติก เพราะเป็นช่องทางให้ผู้ต้องขังซุกซ่อนสิ่งของต้องห้าม อาทิ โทรศัพท์มือถือ ไฟแช็ค ยาเสพติด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการตรวจเข้มสัมภาระของผู้ต้องขัง เช่น ผ้าขาวม้า รวมไปถึงผ้าละหมาด ทำให้ผู้ต้องขังกลุ่มทีเป็นมุสลิมไม่พอใจ
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความหลากหลายของผู้ต้องขังและนักโทษ ซึ่งมีหลายฐานความผิด ทำให้ควบคุมยาก ประกอบกับผู้คุมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และถูกกดดันจากระดับนโยบายเรื่องแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงมุ่งใช้มาตรการที่เป็น "ไม้แข็ง" ในการจัดการกับนักโทษและผู้ต้องขัง ส่งผลให้เกิดแรงกดดันจนระเบิดเป็นเหตุจลาจล
สถานการณ์คุกรุ่นในเรือนจำที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ไม่ได้มีเฉพาะในเรือนจำจังหวัดเท่านั้น แต่ในเรือนจำกลางก็มีปัญหาเช่นกัน โดยความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม จากกลุ่มผู้ต้องขังจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นจำเลยในคดีความมั่นคง
ช่วงเวลาดังกล่าวมีการสั่งย้ายผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวนกว่า 10 ราย ไปคุมขังยังเรือนจำกลางคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจทั้งในกลุ่มผู้ต้องขังเองและญาติ เพราะการย้ายเรือนจำไปอยู่ภูมิภาคอื่น ทำให้การไปติดต่อขอเยี่ยมทำได้อย่างยากลำบาก ต้องเดินทางไกล เสียค่าใช้จ่ายมาก
เรือนจำกลางสงขลามีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากเหตุผลเรื่องคดีที่ต้องขึ้นศาลสงขลาแล้ว ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่คดีถึงที่สุดแล้ว และถูกคุมขังอยู่ในกรุงเทพฯ ย้ายกลับมาคุมขังที่เรือนจำกลางสงขลา เพื่อให้ใกล้กับภูมิลำเนา ตามนโยบายของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ด้วย
เมื่อมีผู้ต้องขังมุสลิมจำนวนมาก การดูแลผู้ต้องขังให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจและมีวิถีความเป็นอยู่ตรงตามหลักศาสนา จึงกลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ทั้งเรื่องอาหารฮาลาล และสถานที่ละหมาด ตลอดจนการประกอบศาสนกิจวันละ 5 เวลา รวมทั้งการใช้งานผู้ต้องขังไปเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลจากอาหาร ซึ่งเป็นอาหารไม่ฮาลาล
ปัญหานี้ส่อเค้าบานปลาย จึงมีการสั่งย้ายผู้ต้องขังที่ทางเรือนจำเชื่อว่าเป็น "หัวโจก" ไปคุมขังยังเรือนจำกลางคลองไผ่ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น เพราะกลายเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาญาติผู้ต้องขัง เนื่องจากมองว่าการย้ายเรือนจำไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่จะยิ่งบ่มเพาะความไม่พอใจ เพราะเรือนจำนอกพื้นที่ภาคใต้ ย่อมเสี่ยงกับการมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจและวิถีชีวิตตามหลักอิสลามมากกว่าเรือนจำในพื้นที่เสียอีก ขณะที่ทางเรือนจำอ้างเพียงว่านักโทษเหล่านั้นทำผิดกฎของเรือนจำ จึงต้องสั่งย้าย
คอรีเยาะ หะหลี แกนนำชาวบ้านจากอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ที่รับเรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ต้องขัง ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐบาล ขอให้ยกเลิกคำสั่งย้ายผู้ต้องขังคดีความมั่นคง และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม
แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากผู้มีอำนาจ สถานการณ์ในเรือนจำกลางสงขลาจึงยังคงคุกรุ่น และเสี่ยงที่จะเกิดหตุวุ่นวายไม่แพ้เรือนจำจังหวัดที่เพิ่งสงบลงชั่วคราว!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง