- Home
- South
- เรื่องเด่น-ภาคใต้
- บันทึกบทเรียนจลาจลเรือนจำนราฯ... สถานการณ์ (สร้าง) ความหวาดระแวงยังคงมีอยู่
บันทึกบทเรียนจลาจลเรือนจำนราฯ... สถานการณ์ (สร้าง) ความหวาดระแวงยังคงมีอยู่
เมื่อวันที่ 11-12 ส.ค.2554 ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส วันแรกของการก่อเหตุ ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้เฝ้าดูสถานการณ์อยู่ไกลๆ มองผ่านจากนอกรั้ว รวมตลอดถึงติดตามข่าวสารจากสื่อ ความรู้สึกในตอนนั้นเข้าใจว่าในไม่ช้าเจ้าหน้าที่คงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งๆ ที่ผู้เขียนเองก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่ทราบว่าสถานการณ์ที่แท้จริงเป็นเช่นไร...
ที่เข้าใจได้เช่นนั้นก็เพราะที่เรือนจำแห่งนี้เคยมีเรื่องลักษณะเดียวกัน คือเคยเกิดจลาจลมาก่อนแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง สุดท้ายก็จบลงได้ด้วยดี
แต่จะอย่างไรก็ตาม ในความรู้สึกลึกๆ แล้วก็ยังเป็นห่วงพี่น้องหลายคนที่อยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะพี่น้องที่ผู้เขียนเคยให้ความช่วยเหลือด้านคดี และกำลังว่าความช่วยเหลือคดีอยู่ พวกเขาจะเป็นอยู่อย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะช่วงนี้อยู่ในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศิลอด) ด้วย
ต่อมาในคืนของวันที่ 11 ส.ค.2554 ได้ติดตามดูข่าว ปรากฏว่าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จึงเริ่มมีคำถามเข้ามามากมายว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนตัวเริ่มรู้สึกกังวล เพราะเริ่มมีผลกระทบด้านคดี เนื่องจากคดีที่จำเลยมีนัดสืบพยานหรือนัดฟังคำพิพากษาไม่สามารถเบิกตัวไปศาลได้
เช้าวันรุ่งขึ้น มีเสียงโทรศัพท์เข้ามามากมายให้ผู้เขียนเป็นตัวแทนทนายความเดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยเป็นการเชิญอย่างไม่เป็นทางการจากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งมีผู้แทนจากส่วนกลางลงมาในพื้นที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ด้วย ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์
เช้าวันนั้นเริ่มรู้สึกเครียดกับการเดินทางไปเรือนจำนราธิวาส พยายามประสานงานสอบถามความคืบหน้ากับน้องๆ ผู้ช่วยทนายความที่สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่บริเวณเรือนจำเป็นระยะๆ เพื่อต้องการข้อมูล ปรากฏว่าไม่มีใครทราบข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริง จึงได้ติดต่อกับประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อขอความเห็นและขอคำแนะนำ ก็ได้รับคำตอบเช่นกันว่าให้อยู่ในดุลยพินิจตามความเหมาะสมของสถานการณ์
เมื่อไปถึงหน้าเรือนจำเริ่มรู้สึกเครียดมากขึ้น เพราะบรรยากาศบริเวณหน้าเรือนจำตึงเครียดมาก ได้พบกับรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งทหาร ตำรวจ แต่ที่น่าแปลกใจคือภายหลังการพูดคุยกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ทราบข้อมูลว่าผู้ต้องขังด้านในต้องการอะไร และกระบวนการหลังจากนี้ไปจะทำอย่างไร
รู้สึกกังวลที่สุดตอนนั้น คือเกรงว่าเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่รู้ความต้องการหรือเจตนาของกันและกัน สถานการณ์จะยิ่งตึงเครียด จึงได้พยายามหาวิธีการติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังให้ได้ ไม่ว่าโดยวิธีใด เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริง
แต่ความอ่อนไหวของการทำงานตรงนี้ก็คือ แม้จุดประสงค์ของผู้เขียนแค่ต้องการทราบข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ก็มีอีกความคิดแทรกเข้ามาว่าหากเรากระทำการใดๆ ลงไป เดี๋ยวทางเจ้าหน้าที่จะมองว่าเราเป็นพวกเดียวกันกับผู้ต้องขังอีกหรือไม่ แต่แล้วผู้เขียนก็พยายามปลดความรู้สึกนั้นออกไป มุ่งแต่ต้องการให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนเจ้าหน้าที่จะมองเช่นไรก็เป็นเรื่องของเขา เพราะที่ผ่านมาการช่วยว่าความให้ผู้ต้องขังหลายรายก็ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกันกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอยู่แล้ว
และแล้วผู้เขียนก็สามารถติดต่อกับผู้ต้องขังข้างในได้ สิ่งที่เราได้รับข้อมูลแทบไม่น่าเชื่อว่าช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ด้านนอก จากเดิมที่เราคิดว่าผู้ต้องขังในเรือนจำมีเงื่อนไข ความต้องการ และข้อเสนอเป็นจำนวนมาก แต่การณ์กลับหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ และพอจะทราบมูลเหตุของปัญหาที่แท้จริงแล้วว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคง แต่ภายนอกกลับบอกว่าผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเป็นผู้ก่อเหตุ ความจริงคือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายมากไปกว่านี้
สิ่งที่ผู้เขียนได้รับข้อมูลมาคือผู้ต้องขังด้านในต้องการกลับคืนสู่สถานภาพเดิมโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนั้น ไฟฟ้า ประปาถูกตัดขาด ผู้ต้องขังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำใช้ ผู้ต้องขังบางคนอยู่ในห้องเรือนนอน ไม่สามารถลงมาด้านล่างได้ แต่ได้มีการพังผนังห้องเพราะทนความอึดอัดไม่ไหว แต่ก็ไม่กล้าออกไปบริเวณด้านนอกอาคาร เนื่องจากผู้ต้องขังเกรงว่าจะถูกลักลอบทำร้ายจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่เล็งอาวุธอยู่รายล้อมอาคารเรือนจำ
เมื่อรู้ข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านในเป็นเช่นไร จึงได้ประสานแจ้งกับรองปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อให้คลายความกดดัน โดยขอให้ทางเจ้าหน้าทีต่อกระแสไฟฟ้าและจ่ายน้ำให้กับผู้ต้องขัง พร้อมทั้งแจ้งสถานการณ์ของผู้ต้องขังว่าไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ต้องขังเพียงต้องการกลับสู่สภาพเดิม และไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการรุนแรง
หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การพูดคุย โดยเวลาประมาณ 12.00 น.ได้มีการต่อกระแสไฟฟ้าให้ผู้ต้องขัง และส่งกุญแจห้องโรงนอนที่ถูกล็อคให้เปิดออก และในตอนบ่ายได้มีการต่อท่อน้ำประปาเข้าสู่เรือนจำ จากนั้นจึงได้รับการติดต่อจากผู้ต้องขังขอเวลาในการชำระร่างกายและจะส่งตัวแทนพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่
หลังจากนั้นทางฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงได้กำหนดตัวบุคคลที่จะพูดคุยกับฝ่ายผู้ต้องขัง และจุดที่จะคุย ผลจากการตกลงกันสรุปว่า จะพูดคุยกันที่ประตู 3 กระทั่งเวลาประมาณ 15.40 น.จึงได้มีการพูดคุยกับฝ่ายผู้ต้องขังซึ่งจัดตัวแทนออกมา มีทั้งผู้ต้องขังคดียาเสพติดและคดีความมั่นคง เมื่อพูดคุยกันจนเป็นที่เข้าใจแล้วว่าต่างฝ่ายต่างต้องการกลับสู่สภาพเดิม ทางตัวแทนผู้ต้องขังทั้งพุทธและมุสลิมได้ขอใช้เครื่องกระจายเสียงเพื่อสื่อสารให้ผู้ต้องขังด้านในทราบถึงผลการพูดคุยและข้อสรุป พร้อมให้ทุกคนกลับคืนสู่สภาวะปกติ
จากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวสรุปมาทั้งหมดในข้างต้น มูลเหตุของปัญหาหาใช่เป็นเรื่องของการเรียกร้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ความต้องการของแต่ละฝ่ายไม่ หากแต่จุดเริ่มต้นเป็นขั้นของกระบวนการเข้าตรวจค้นผู้ต้องขังภายในเรือนนอน และบานปลายจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาต่อไปในอนาคตว่าควรใช้วิธีการใดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
แต่สิ่งที่อยากกล่าวถึงมากที่สุด และขอแสดงข้อกังวลไว้ ณ ที่นี่ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นกรณีของเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ทัศนคติมุมมองของฝ่ายรัฐเองทำไมต้องมองสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ทั้งๆ ที่ทราบสาเหตุของการก่อม็อบเพื่อประท้วงการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ว่ามาจากผู้ต้องขังกลุ่มคดียาเสพติดและผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่คดีความมั่นคง หรือเพียงเพราะเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงขอเป็นตัวกลางเจรจาพูดคุยกับฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ต้องขังเองเพื่อให้เหตุการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ จึงทำให้ฝ่ายรัฐมองไปเช่นนั้น
หากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความมีอคติต่อผู้ต้องขังหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงยังคงดำรงอยู่ ความจริงก็คือระหว่างพวกเขากับรัฐยังมีช่องว่างถ่างกว้างเหลือเกิน...
ขณะเดียวกัน เรื่องความหวาดระแวงของทั้งสองฝ่ายก็น่านำมาพิจารณา จะเห็นได้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่มองว่าสถานการณ์ภายในไม่น่าไว้วางใจ มีวัตถุระเบิดหรืออุปกรณ์อื่นที่ใช้เป็นอาวุธเพื่อเตรียมก่อเหตุ ส่วนฝ่ายผู้ต้องขังก็มองว่ฝ่ายเจ้าหน้าที่พยายามสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าผู้ต้องขังเตรียมวางแผนที่จะก่อจลาจล ซึ่งเป็นความหวาดระแวงที่มีอยู่คู่กับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานมนาน
หากมองที่ช่องว่างระหว่างรัฐกับผู้ต้องขัง (โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดีความมั่นคง) และความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ามุมมองของทั้งสองฝ่ายที่มองกันและกันไม่ได้ดีขึ้นเลย ทั้งๆ ที่สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยืดเยื้อมาเกือบ 8 ปีแล้ว
จะทำอย่างไรให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง พร้อมๆ กับได้รับความเข้าใจจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อลดช่องว่างและความหวาดระแวงที่มีอยู่ เพราะอย่าลืมว่าวันสุดท้ายของการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงส่วนมากศาลจะพิพากษายกฟ้อง เมื่อพวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกไป ก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติที่ภูมิลำเนา และต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้นหากช่องว่างและความหวาดระแวงยังคงมีอยู่ ย่อมยากที่จะแก้ไขปัญหาโดยสันติ!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธานจังหวัดนราธิวาส มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากครอบครัวข่าวสาร (ภาพผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)