'สรรพากร' หัก 'สตง.' สั่งยุติเก็บภาษี 'ทักษิณ' กรณีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
'สรรพากร' หัก 'สตง.' ไม่เรียกเก็บภาษี 'ทักษิณ' กรณีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ยกเหตุเป็นการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผู้มีเงินได้รับการยกเว้น เผยสั่งยุติเรื่องไปแล้ว
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้รับแจ้งหนังสือตอบกลับจากกรมสรรพากร กรณี สตง. ได้ขอกรมสรรพากร ประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชินคอร์ป) โดยระบุว่า กรณีการประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องปรากฎว่า ผู้เสียภาษีเป็นผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญที่แสดงว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึ่งประเมิน หรือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีผู้เสียภาษีเป็นผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญ ซึ่งไม่มีหลักฐานหรือพยานอื่นมาพิสูจน์ หรือมีหลักฐานหรือพยานอื่นๆ แต่ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียภาษีเป็นตัวแทนเชิด
แต่กรณีมีเอกสารหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นตัวการ เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีตัวการ ซึ่งจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 คำพิพากษาภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 242-243 /2553 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 39/2555 สรุปประเด็นความเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงได้ว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริงยังคงเป็น นายทักษิณ และเมื่อมีการขายหุ้นดังกล่าว ผู้มีเงินได้จากการขายหุ้น จึงเป็นนายทักษิณ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องประเมินภาษีตัวการ คือนายทักษิณ สำหรับเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่บริษัทในเครือเทมาเส็ก
อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าว เป็นการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามหนังสือชี้แจงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้มีเงินได้จึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (23) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กรมสรรพากร จึงได้มีการยุติเรื่องดังกล่าวไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งให้กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษี นายพานทองแท้ และ นางพินทองทา บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กรณีเมื่อปี 2549 ทั้งสองคนได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ในราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ แม้เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะได้ชี้แจงว่า ไม่อาจจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะไม่ใช่เงินของคนทั้งสอง แต่เป็นเงินของอดีตนายกทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553
โดยแนวทางกฎหมายที่ สตง. จะนำมาใช้ในกรณีนี้ คือ การเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวัน เดือน ปี ใด ๆ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบและทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ได้
"สตง.เห็นว่า รมว.คลัง มีอำนาจที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร มาดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ไม่อาจจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะไม่ใช่เงินของคนทั้งสอง แต่เป็นเงินของอดีตนายกทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553 นั้น สตง. ไม่เห็นด้วย และไม่ถูกต้อง เพราะมองว่าเป็นเรื่องคนละส่วนกัน"
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ถึงการหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากกรณีนี้ ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า กรมสรรรพากร คงไม่สามารถดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า หุ้นที่นายพานทองแท้และนางพิณทองทา ถืออยู่เป็นหุ้นของนายทักษิณ และมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทของ นายทักษิณ มาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก่อนนี้ด้วย
" เงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก้อน 4.6 หมื่นล้านบาท และมันก็ตกมาเป็นของหลวงหมดแล้ว ตอนนี้เงินทั้งหมดก็อยู่ที่กรมบัญชีกลางแล้ว ไม่รู้จะไปเงินอะไรกับใครอีก ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มข้าราชการที่ไปตอบข้อหารือ ศาลก็มีคำพิพากษาไปแล้วทุกอย่างก็น่าจะจบไปหมดแล้ว"
อธิบดีกรมสรรพากร ยังระบุว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ให้นายพานทองแท้ และนางพิณทองทา ชนะคดีที่ยื่นฟ้องกรมสรรพากรซึ่งเรียกเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป นั้น ก็มีคำถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่ยื่นเรื่องอุทธรณ์
"แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ตนก็คงจะไม่เข้าไปทำอะไร เพราะถือว่าเรื่องมันจบไปแล้ว ส่วนหน่วยงานใดจะดำเนินการอะไรก็ว่าไป" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
หมายเหตุ: ภาพประกอบเรื่องจาก www.thaipost.net