การไล่ล่าภาษีหุ้นชิน หลังศาลอาญาสั่งจำคุกอดีต รมช.คลัง
กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สามารถเก็บภาษีจากครอบครัวชินวัตรได้อีกหรือไม่?...
หมายเหตุ - ภายหลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยอดีตข้าราชการกรมสรรพากรอีก 3 ราย และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นปฏิบัตหน้าที่โดยมิชอบจากกรณีการตอบข้อหารือว่า นายพานทองแท้ และ นางพินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรชายและบุตรสาว นายทักษิณ ไม่ต้องเสียภาษีจากการรับโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของ Ample Rich Investment ในราคาพาร์ 1 บาท มีคำถามว่า
กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สามารถเก็บภาษีจากครอบครัวชินวัตรได้อีกหรือไม่
1.คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตรวจสอบการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและเห็นว่า การที่นายทักษิณโอนหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปให้แก่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด (บ.แอมเพิลริช ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะ British Virgin) และต่อมาบริษัทแอมเพิลริชได้โอนให้แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางพิณทองทา ชินวัตร บุตรเพื่อที่จะโอนขายให้แก่เครือเทมาเส็ก ตามแผนภูมิที่แสดงไว้ดังกล่าวนั้น
คตส. เห็นว่า บ.แอมเพิลริช ได้โอนขายหุ้นให้แก่นายพานทองแท้และนางพิณทองทาในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และต่อมาได้มีการขายหุ้นดังกล่าวให้แก่เครือเทมาเส็ก ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 และถือว่าส่วนต่างของราคาหุ้นระหว่างราคาตลาดกับราคาที่นายพานทองแท้และนางพิณทองทาซื้อมาจาก บ.แอมเพิลริช เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร คตส. จึงได้แจ้งให้กรมสรรพากรประเมินภาษี ต่อมากรมสรรพากรได้ทำการประเมินภาษีต่อนายพานทองแท้และนางพิณทองทา บุคคลทั้งสองได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และต่อมาได้มีการฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง
2. ส่วนอีกคดีหนึ่ง มีการฟ้องคดีนายบทักษิณต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีร่ำรวยผิดปกติศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 ว่า การถือครองหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปของนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน ในขณะที่ยังมีอำนาจสั่งการว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และเห็นว่าคุณทักษิณยังเป็นเจ้าของหุ้นอยู่ จึงมีคำสั่งให้ริบผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นดังกล่าว (ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 หมายเลขแดง ที่ อม.1/2553 ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา กับพวกรวม 22 คน)
3. เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาว่าเจ้าของหุ้นที่แท้จริงยังคงเป็นนายทักษิณ นายพานทองแท้และนางพิณทองทาจึงได้นำคำพิพากษาดังกล่าวไปใช้เป็นข้อต่อสู้ในคดีที่ศาลภาษีอากรกลางกำลังพิจารณาอยู่ว่าในเมื่อเจ้าของหุ้นยังคงเป็นคุณทักษิณ การประเมินภาษีต่อบุคคลทั้งสองจึงมิใช่เป็นการประเมินต่อบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ศาลภาษีอากรกลางจึงได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553ว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า หุ้นยังคงเป็นของนายทักษิณและคุณหญิงพจมานและได้มีการยึดทรัพย์สินของคุณทักษิณไปแล้ว เงินได้ที่เกิดจากการขายหุ้นจึงไม่ถือเป็นเงินได้ของนายพานทองแท้และนางพิณทองทา เพราะมิได้เป็นเจ้าของหุ้นหรือเจ้าของทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดเงินได้ (ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขดำที่ 266/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 242/2553) คดีถึงที่สุดเนื่องจากกรมสรรพากรไม่ได้อุทธรณ์
4. การที่ไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา อาจเป็นเพราะกรมสรรพากรต้องการจะไปประเมินภาษีกับบุคคลที่เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากในขณะนั้นยังอยู่ในเวลาที่จะออกหมายเรียกตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีอากรได้ตามประมวลรัษฎากร กล่าวคือ เงินได้ที่เกิดขึ้นจากการโอนขายหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นในปีภาษี 2549 ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550 และถ้าปรากฏว่าภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550 ดังกล่าว คุณทักษิณได้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีไว้เฉพาะเงินได้รายการอื่น แต่มิได้นำเงินได้จากการโอนขายหุ้นไปยื่นเสียภาษีไว้ด้วย ก็ย่อมถือว่า เป็นการยื่นแบบรายการภาษีไว้โดยไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรก็จะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบภายในระยะเวลา 5 ปี คือภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และจะต้องประเมินภาษีต่อคุณทักษิณภายในอายุความ 10 ปี คือวันที่ 31 มีนาคม 2560 อย่างไรก็ตาม ถ้ามิได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบไว้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ก็จะไม่มีอำนาจประเมินภาษีได้ตามกฎหมาย แม้ว่าจะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี คือวันที่ 31 มีนาคม 2560
5. เนื่องจากความเสียหายเกี่ยวกับจำนวนภาษีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีจำนวนที่สูงมากคือประมาณเกือบ 12,000 ล้านบาท และปรากฏว่าไม่มีการออกหมายเรียกตรวจสอบและประเมินภาษีต่อนายทักษิณจนถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ของกระทรวงการคลังแล้วว่าให้กรมสรรพากรไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เนื่องจากกรมสรรพากรได้สอบถามปัญหาเรื่องนี้ว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีคำวินิจฉัยไว้ดังกล่าว (คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 39/2555 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 12 มีนาคม 2555)
ปัญหาว่า จะกระทำอย่างไรที่จะทำให้สามารถประเมินภาษีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรต้องดำเนินการดังนี้
5.1 ใช้อำนาจของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 เพื่อออกคำสั่งให้ทำการตรวจสอบและประเมินภาษีในกรณีนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการออกหมายเรียกตรวจสอบภายใน 5 ปี ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากนั้นก็ให้กรมสรรพากรทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
5.2 คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวัน เดือน ปี ใด ๆ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบและทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้โต้แย้งว่าการใช้อำนาจขยายเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นการบรรเทาความเสียหายหรือเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีเท่านั้น หากเป็นไปในทางที่เป็นโทษแก่ผู้เสียภาษีไม่อาจกระทำได้
แต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ดังกล่าว กรณีนี้น่าจะเป็นการตีความที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีซึ่งเป็นภัยทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลักแล้วจะต้องตีความในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เสียภาษีหรือประโยชน์ของรัฐด้วยจึงจะเป็นการชอบด้วยเหตุผล เช่น ถ้าบุคคลใดมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปี 2549 จำนวนสี่หมื่นล้านบาท แต่ได้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีเงินได้ไว้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550 เพียง 100 ล้านบาท และกรมสรรพากรมิได้ออกหมายเรียกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ย่อมแสดงว่ารัฐไม่อาจที่จะเรียกเก็บภาษีจากบุคคลนั้นได้อีกต่อไปแม้ว่าจะยังอยู่ในกำหนดอายุความสิบปีคือวันที่ 31 มีนาคม 2560 เพราะไม่อาจขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกได้ ทั้ง ๆ ที่บุคคลนี้ได้ทำการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างร้ายแรง
กรณีเช่นนี้ จึงควารตีความในทางที่เป็นประโยชน์กับรัฐแม้ว่า จะเป็นโทษต่อบุคคลที่ต้องเสียภาษี โดยให้สามารถขยายกำหนดเวลาออกหมายเรียกออกไปเกินห้าปีได้ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการกับบุคคลที่กระทำการหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ ถ้าจะตีความว่าไม่สามารถขยายได้ก็ย่อมแสดงว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ได้ให้ความคุ้มครองกับบุคคลที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะกฎหมายย่อมคุ้มครองบุคคลที่กระทำการโดยสุจริตเท่านั้น และกรณีนี้ก็มิใช่เป็นการขยายอายุความซึ่งกฎหมายห้ามไว้ว่า อายุความไม่อาจขยายได้ เพราะอายุความยังไม่สิ้นสุดลงแต่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2560 กล่าวคือการออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เป็นระยะเวลามิใช่อายุความ
5.3 ให้มีการสอบสวนทางวินัยและสอบสวนหาผู้รับผิดทางละเมิด ตลอดจนดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรมสรรพากร ที่มีการละเว้นหรือไม่กระทำการออกหมายเรียกตรวจสอบภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ว่าสาเหตุที่ไม่ดำเนินการเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย ก็จะต้องมีความรับผิดทางวินัย ความรับผิดทางละเมิด และความรับผิดทางอาญา แล้วแต่กรณี
6. ข้อต่อสู้ที่ฝ่ายคุณทักษิณอาจยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้ง ถ้ามีการถูกตรวจสอบและประเมินภาษี
6.1 การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล อีกทั้งเป็นการกระทำที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียภาษี (Taxpayer Rights) เห็นว่าข้อโต้แย้งนี้ไม่อาจรับฟังได้หากมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนดังที่กล่าวมาใน 5.1 และ 5.2 ส่วนที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียภาษีนั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจะใช้คุ้มครองผู้เสียภาษีหรือบุคคลที่กระทำการโดยสุจริตเท่านั้น
6.2 นายทักษิณไม่มีเงินได้จากการโอนหุ้นให้แก่ บ.แอมเพิลริช ซึ่งได้โอนต่อให้นายพานทองแท้และนางพิณทองทา เนื่องจากการที่คุณทักษิณโอนให้แก่ บ.แอมเพิลริช และได้โอนต่อให้นายพานทองแท้และนางพิณทองทานั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ทางการเมืองได้พิพากษาแล้วว่า เจ้าของหุ้นยังเป็นนายทักษิณจึงถือว่า ไม่มีการโอนหรือเป็นการโอนให้แก่ตัวเอง จึงยังไม่เป็นผู้มีเงินได้ ข้ออ้างเช่นนี้ไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล เพราะการที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาดังกล่าวย่อมหมายความว่าการโอนดังกล่าวนี้เป็นเพียงการกระทำในลักษณะที่ให้ บ.แอมเพิลริช นายพานทองแท้และนางพิณทองทา ถือหุ้นไว้แทน (Nominee) มิใช่เป็นการกระทำเพื่อโอนให้แก่กันที่แท้จริง ดังนั้น จึงต้องถือว่าหุ้นทั้งหมดยังเป็นของบุคคลที่เป็นตัวการคือคุณทักษิณ
แต่การโอนที่ก่อให้เกิดเงินได้นั้นคือการโอนขายให้แก่เครือเทมาเส็ก และถือว่า เงินได้ที่เกิดจากการขายหุ้นให้แก่เทมาเส็กย่อมเป็นเงินได้ของนายทักษิณ มิใช่เป็นของ บ.แอมเพิลริช นายพานทองแท้และนางพิณทองทา ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาไว้
6.3 นายทักษิณไม่มีเงินได้จากการขายหุ้นให้แก่เครือเทมาเส็ก เนื่องจากหุ้นและผลประโยชน์จากหุ้นทั้งหมดได้ถูกริบไปโดยคำพิพากษาแล้ว เห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่รับฟังได้เช่นเดียวกัน เพราะในกรณีนี้เมื่อมีการขายหุ้นก็ย่อมถือว่านายทักษิณเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรแล้วในปีภาษี 2549 เมื่อบุคคลใดเป็นผู้มีเงินได้ในปีภาษีใดก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดไว้ และการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นั้น แม้ว่าต่อมาภายหลังเงินได้ดังกล่าวจะถูกยึด ถูกริบ หรือถูกดำเนินการใด ๆ ให้สิทธิในเงินได้นั้นต้องระงับไป ก็ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ในการเสียภาษีจะสิ้นสุดลง
กรณีนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับการที่กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีเงินได้ต่อบุคคลที่มีเงินได้จากการค้ายาเสพติด เช่น สมมติว่า นาย ก. ได้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดและได้รับเงินมาจำนวน 200 ล้านบาทในปี 2549 ต่อมา นาย ก. ได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีจนกระทั่งในปี 2553 ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิตและให้ริบเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดทั้งจำนวน 200 ล้านบาทดังกล่าว กรมสรรพากรยังมีอำนาจในการประเมินภาษีจากเงินได้ดังกล่าวนี้แม้ว่าจะถูกริบเป็นของรัฐไปแล้วก็ตาม เพราะเมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้มีเงินได้ย่อมมีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าเงินได้นั้นจะเกิดจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและถูกริบไปจนหมดแล้วก็ตาม ซึ่งกรมสรรพากรเองก็เคยดำเนินการกับผู้ค้ายาเสพติดในลักษณะนี้แล้ว
กรณีนี้จึงเปรียบเทียบได้กับของนายทักษิณ กล่าวคือการขายหุ้นให้เครือเทมาเส็กย่อมถือว่าคุณทักษิณเป็นผู้มีเงินได้แล้วในปีที่มีการขายคือปี 2549 แต่เนื่องจากคุณทักษิณได้กระทำผิดอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว จนกระทั่งศาลได้มีคำพิพากษาให้ริบหุ้นและผลประโยชน์จากหุ้นดังกล่าวในปี 2553 แต่เมื่อตามกฎหมายย่อมถือว่าเป็นผู้มีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 ก็ย่อมเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีแม้ว่าจะถูกริบไปแล้วก็ตาม
6.4 เงินได้ที่นายทักษิณได้รับจากการขายหุ้นให้แก่เครือเทมาเส็ก เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามข้อ 2(23) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องตีความอย่างละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพราะบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ปเป็นการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ มีข้อพึงพิจารณาดังนี้
(1) การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องพิจารณาถึงลักษณะของการทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายว่าจะต้องเป็นการซื้อขายกันในตลาด โดยมีตลาดเป็นสถานที่ที่ทำการซื้อขายกันเท่านั้นดังเช่นการซื้อขายหุ้นที่กระทำกันตามปกติทั่วไป ดังนั้น หากมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายหุ้นกันนอกตลาดหลักทรัพย์ เพียงแต่ใช้กระบวนการของตลาดเพื่อให้เกิดการโอนหรือส่งมอบให้เป็นไปตามที่เจตนาตกลงซื้อขายกัน ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ผู้มีเงินได้จากการขายหุ้นจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายกันที่ประเทศสิงคโปร์ จึงถือว่าไม่มีสิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับการขายหุ้นดังกล่าว
(2) การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ให้พิจารณาเพียงว่า หุ้นนั้นเป็นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่เท่านั้น โดยไม่ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายว่าจะต้องเป็นการซื้อขายกันในตลาด โดยมีตลาดเป็นสถานที่ที่ทำการซื้อขายกันดังเช่นการซื้อขายหุ้นที่กระทำกันตามปกติทั่วไป ดังนั้น แม้วว่าจะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายหุ้นกันนอกตลาดหลักทรัพย์ และใช้กระบวนการของตลาดเพื่อให้เกิดการโอนหรือส่งมอบให้เป็นไปตามที่เจตนาตกลงซื้อขายกัน ก็ถือว่าเป็นการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าตีความในลักษณะเช่นนี้ ผู้มีเงินได้จากการขายหุ้นจึงมีสิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าว
เมื่อพิจารณาจากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการตีความนัยตาม (1) น่าจะมีเหตุผลที่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมากกว่านัยตาม (2) อย่างไรก็ตาม โดยหลักแล้วกรมสรรพากรควรจะต้องมีการประเมินภาษีสำหรับกรณีนี้ก่อน หากมีข้อโต้แย้งก็ควรจะให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาต่อไป