- Home
- Isranews
- ข่าว
- ชง'รมว.คลัง'ใช้อำนาจม.3 รัษฎากร! ผู้ว่าฯสตง. เผยแนวทางไล่บี้เก็บภาษีหุ้นชินฯ หมื่นล.
ชง'รมว.คลัง'ใช้อำนาจม.3 รัษฎากร! ผู้ว่าฯสตง. เผยแนวทางไล่บี้เก็บภาษีหุ้นชินฯ หมื่นล.
เผยแนว 'สตง.' ชงรมว.คลัง ไล่บี้เก็บภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป 'โอ๊ค-เอม' ไม่เสียภาษี หมื่นล้านใหม่ เสนอให้ใช้อำนาจ ม.3 รัษฎากร ขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี โต้ความเห็นสรรพากร ระบุเป็นเงินก้อนเดียวกับที่ศาลสั่งยึดทรัพย์ 'ทักษิณ' 4.6 หมื่นล้าน ไม่ถูกต้อง
กรณี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์กับ ทีมพิกัดข่าว 26 ว่า เตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งให้กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษี นายพานทองแท้ และ นางพินทองทา บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กรณีเมื่อปี 2549 ทั้งสองคนได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ในราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ แม้เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะได้ชี้แจงว่า ไม่อาจจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะไม่ใช่เงินของคนทั้งสอง แต่เป็นเงินของอดีตนายกทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553 นั้น
ล่าสุด นายพิศิษฐ์ ผู้ว่าฯ สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า แนวทางกฎหมายที่ สตง. จะนำมาใช้ในกรณีนี้ คือ การเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวัน เดือน ปี ใด ๆ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบและทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ได้
"สตง.เห็นว่า รมว.คลัง มีอำนาจที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร มาดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ไม่อาจจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะไม่ใช่เงินของคนทั้งสอง แต่เป็นเงินของอดีตนายกทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553 นั้น สตง. ไม่เห็นด้วย และไม่ถูกต้อง เพราะมองว่าเป็นเรื่องคนละส่วนกัน"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2559 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ถึงการหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากกรณีนี้ ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า กรมสรรรพากร คงไม่สามารถดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า หุ้นที่นายพานทองแท้และนางพิณทองทา ถืออยู่เป็นหุ้นของนายทักษิณ และมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทของ นายทักษิณ มาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก่อนนี้ด้วย
" เงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก้อน 4.6 หมื่นล้านบาท และมันก็ตกมาเป็นของหลวงหมดแล้ว ตอนนี้เงินทั้งหมดก็อยู่ที่กรมบัญชีกลางแล้ว ไม่รู้จะไปเงินอะไรกับใครอีก ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มข้าราชการที่ไปตอบข้อหารือ ศาลก็มีคำพิพากษาไปแล้วทุกอย่างก็น่าจะจบไปหมดแล้ว"
อธิบดีกรมสรรพากร ยังระบุว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ให้นายพานทองแท้ และนางพิณทองทา ชนะคดีที่ยื่นฟ้องกรมสรรพากรซึ่งเรียกเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป นั้น ก็มีคำถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่ยื่นเรื่องอุทธรณ์
"แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ตนก็คงจะไม่เข้าไปทำอะไร เพราะถือว่าเรื่องมันจบไปแล้ว ส่วนหน่วยงานใดจะดำเนินการอะไรก็ว่าไป" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
(อ่านประกอบ : ยกเหตุยึดทรัพย์'แม้ว' 4.6หมื่นล.แล้ว! สรรพากรเลิกหาคนชดใช้ภาษีหุ้นชิน กรณี 'เบญจา')
ขณะที่ ในช่วงภายหลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยอดีตข้าราชการกรมสรรพากรอีก 3 ราย และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นปฏิบัตหน้าที่โดยมิชอบจากกรณีการตอบข้อหารือว่า นายพานทองแท้ และ นางพินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรชายและบุตรสาว นายทักษิณ ไม่ต้องเสียภาษีจากการรับโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของ Ample Rich Investment ในราคาพาร์ 1 บาท
มีผู้ใช้ชื่อว่า นายสรรพากร เคยเขียนบทความเสนอแนวทางการ ว่า กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สามารถเก็บภาษีจากครอบครัวชินวัตรได้อีกหรือไม่
โดยระบุว่า เนื่องจากความเสียหายเกี่ยวกับจำนวนภาษีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีจำนวนที่สูงมากคือประมาณเกือบ 12,000 ล้านบาท และปรากฏว่าไม่มีการออกหมายเรียกตรวจสอบและประเมินภาษีต่อนายทักษิณจนถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ของกระทรวงการคลังแล้วว่าให้กรมสรรพากรไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เนื่องจากกรมสรรพากรได้สอบถามปัญหาเรื่องนี้ว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีคำวินิจฉัยไว้ดังกล่าว (คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 39/2555 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 12 มีนาคม 2555)จะกระทำอย่างไรที่จะทำให้สามารถประเมินภาษีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรต้องดำเนินการดังนี้
- ใช้อำนาจของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 เพื่อออกคำสั่งให้ทำการตรวจสอบและประเมินภาษีในกรณีนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการออกหมายเรียกตรวจสอบภายใน 5 ปี ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากนั้นก็ให้กรมสรรพากรทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
- คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวัน เดือน ปี ใด ๆ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบและทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้โต้แย้งว่าการใช้อำนาจขยายเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นการบรรเทาความเสียหายหรือเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีเท่านั้น หากเป็นไปในทางที่เป็นโทษแก่ผู้เสียภาษีไม่อาจกระทำได้
แต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ดังกล่าว กรณีนี้น่าจะเป็นการตีความที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีซึ่งเป็นภัยทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลักแล้วจะต้องตีความในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เสียภาษีหรือประโยชน์ของรัฐด้วยจึงจะเป็นการชอบด้วยเหตุผล เช่น ถ้าบุคคลใดมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปี 2549 จำนวนสี่หมื่นล้านบาท แต่ได้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีเงินได้ไว้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550 เพียง 100 ล้านบาท และกรมสรรพากรมิได้ออกหมายเรียกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ย่อมแสดงว่ารัฐไม่อาจที่จะเรียกเก็บภาษีจากบุคคลนั้นได้อีกต่อไปแม้ว่าจะยังอยู่ในกำหนดอายุความสิบปีคือวันที่ 31 มีนาคม 2560 เพราะไม่อาจขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกได้ ทั้ง ๆ ที่บุคคลนี้ได้ทำการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างร้ายแรง
กรณีเช่นนี้ จึงควารตีความในทางที่เป็นประโยชน์กับรัฐแม้ว่า จะเป็นโทษต่อบุคคลที่ต้องเสียภาษี โดยให้สามารถขยายกำหนดเวลาออกหมายเรียกออกไปเกินห้าปีได้ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการกับบุคคลที่กระทำการหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ ถ้าจะตีความว่าไม่สามารถขยายได้ก็ย่อมแสดงว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ได้ให้ความคุ้มครองกับบุคคลที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะกฎหมายย่อมคุ้มครองบุคคลที่กระทำการโดยสุจริตเท่านั้น และกรณีนี้ก็มิใช่เป็นการขยายอายุความซึ่งกฎหมายห้ามไว้ว่า อายุความไม่อาจขยายได้ เพราะอายุความยังไม่สิ้นสุดลงแต่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2560 กล่าวคือการออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เป็นระยะเวลามิใช่อายุความ
นายสรรพากร ยังเสนอด้วยว่า ให้มีการสอบสวนทางวินัยและสอบสวนหาผู้รับผิดทางละเมิด ตลอดจนดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรมสรรพากร ที่มีการละเว้นหรือไม่กระทำการออกหมายเรียกตรวจสอบภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ว่าสาเหตุที่ไม่ดำเนินการเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย ก็จะต้องมีความรับผิดทางวินัย ความรับผิดทางละเมิด และความรับผิดทางอาญา แล้วแต่กรณี
(อ่านประกอบ : การไล่ล่าภาษีหุ้นชิน หลังศาลอาญาสั่งจำคุกอดีต รมช.คลัง)