พบพิรุธชื่อเกษตรกรไม่ตรงผลสอบ! สตง.สั่งตรวจจนท.ทุจริตงบโครงการ 9101 สารคาม 187 ล.
สตง. แพร่ผลสอบ สนง.เกษตรมหาสารคาม ใช้งบ 187 ล้าน ทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี ปัญหาเพียบ! พบพิรุธแจ้งชื่อสมาชิกกลุ่มเกษตรกรได้รับแจกปัจจัยการผลิตผ้าไหมไม่ตรงรายงานข้อเท็จจริง สั่งตรวจซ้ำ เจอ จนท.ผู้ที่เกี่ยวข้องรายใดมีเจตนาไม่สุจริตให้ดำเนินการตามหน้าที่อำนาจต่อไป
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรที่ประสบอุทกภัย ปี 2560 ของ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 187,630,000 บาท ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาโครงการรสนับสนุนงบประมาณเฉพาะการจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่กลุ่มสมาชิกในชุมชน ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามกิจกรรมที่เสนอ ประกอบด้วย 1) การปลูกพืชอายุสั้น 2) การเลี้ยง สัตว์ 3) การผลิตอาหาร แปรรูปการผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และ 4) การประมง แต่จากการตรวจสอบติดตามการดำเนินงาน พบข้อบกพร่องในการดำเนินงานหลายส่วน อาทิ การบริหารจัดการโครงการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการดำเนินงานตามแบบเสนอโครงการที่เกี่ยวกับการแจกปัจจัยการผลิต ของกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงปัญหาสมาชิกกลุ่มได้รับปัจจัยการผลิตไม่ครบถ้วนและสมาชิกบางรายยังไม่ได้แปรรูป และแจ้งผลการสอบสวนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ดี ในรายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนี้ มีการระบุปัญหาผลการสอบสวนของสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในรายงานผลการสอบของ สตง. ในประเด็นปัญหาสมาชิกกลุ่มได้รับปัจจัยการผลิตไม่ครบถ้วนและสมาชิกบางรายยังไม่ได้แปรรูป ไว้ด้วย
กล่าวคือ ในการตรวจสอบปัญหาสมาชิกกลุ่มได้รับปัจจัยการผลิตไม่ครบถ้วนและสมาชิกบางรายยังไม่ได้แปรรูปในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบหลักฐานการจัดซื้อและหลักฐานการแจกจ่ายปัจจัยการผลิต พบว่า กลุ่มทอผ้าไหมเม็กดำ 1 มีสมาชิกจำนวน 518 ราย ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการ จำนวนเงิน 2,590,000 บาท (518x5,000) คณะทำงานจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ จัดซื้อเส้น ไหมน้อยตามใบสั่งซื้อลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 จำนวน 1,295กิโลกรัมๆ ละ 2,000 บาท จำนวนเงิน 2,590,000 บาท, กลุ่มทอผ้าไหมเม็กดำ 2 มีสมาชิกจำนวน 277 ราย ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อดำเนินกิจกรรม โครงการ จำนวนเงิน 1,385,000 บาท (277 x 5,000) คณะทำงานจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ จัดซื้อ เส้นไหมน้อย ตามใบสั่งซื้อลงวันที่ 6 ธันวาคม 2560 จำนวน 692.50 กิโลกรัมๆ ละ 2,000 บาท จำนวนเงิน 1,385,000 บาท
จากการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมเม็กดำ ทั้ง 2 กลุ่ม ของ สตง. ระหว่างวันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2561 รวมทั้งสิ้น 43 ราย เพื่อทราบเกี่ยวกับการรับปัจจัย การผลิต และประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ พบว่า สมาชิกจำนวน 26 ราย ได้รับเส้นไหมไม่ครบถ้วน และจำนวน 14 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นผ้าไหม เนื่องจากเส้นไหมที่ได้รับแจกเป็นไหมพื้นบ้าน ก่อนจะนำไปทอเป็นผ้าไหมต้องผ่านกรรมวิธีการฟอกไหมหรือ ด่องไหม เพื่อทำความสะอาดเส้นไหมก่อนย้อมสี คนในชุมชนไม่มีความรู้ความชำนาญต้องจ้างบุคคลในพื้นที่อื่นดำเนินการซึ่งมีค่าใช้จ่ายและต้องใช้เวลา ประกอบกับสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำนาเป็นหลัก บางส่วนออกไปประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปหรือขายล๊อตเตอรี่ในพื้นที่อื่น จะใช้เวลาว่างทำการทอผ้าเท่านั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) จึงได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เบื้องต้น สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ได้ชี้แจงผลการดำเนินการของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการรับปัจจัยการผลิตเส้นไหมของสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมเม็กดำ 1 และกลุ่มทอผ้าไหมเม็กดำ 2 ยืนยัน สมาชิกจำนวน 767 ราย ได้รับเส้นไหมครบถ้วนจำนวนรายละ 2.50 กิโลกรัม ส่วนสมาชิกที่ได้รับเส้นไหมไม่ครบถ้วนขาดไปรายละ 0.50 กิโลกรัม ผู้ขายได้ส่งมอบเส้นไหมให้กับสมาชิกตามหลักฐานทะเบียนรับปัจจัยการผลิตเส้นไหมเพิ่มเติมแล้ว แต่สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ยังไม่ได้ส่งการรายงานผลการสอบข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบคำชี้แจง
ขณะที่ สตง. สอบยันรายชื่อสมาชิกที่ทำการสัมภาษณ์และให้ข้อมูลว่าได้รับเส้นไหมไม่ครบถ้วน จำนวน 26 ราย ระหว่างวันที่ 18 - 19 มิถุนายน 2561 ของ สตง. พบว่า สมาชิกจำนวน 23 ราย มีรายชื่อไม่ตรง รายงานโครงการของสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม กับผลการสอบข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตามหลักฐานทะเบียนรับปัจจัยการผลิตเส้นไหมเพิ่มเติม
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดความคุ้มค่า สตง.จึงขอให้สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมได้รับ ปัจจัยการผลิตไม่ครบถ้วน หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีเจตนาดำเนินการไม่สุจริตให้ พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในรายงานการสอบสวนของ สตง. ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการจัดทำโครงการ พบว่ามีเกษตรกรหลายกลุ่ม เมื่อทำการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิกของกลุ่มแล้ว สมาชิกแต่ละ ครัวเรือนจะนำปัจจัยการผลิตไปดำเนินการเอง โดยจะนำผลผลิตที่ได้ไปบริโภคหรือจำหน่ายเป็นรายได้ ภายในครัวเรือน โดยไม่ผ่านขั้นตอนการบริหารจัดการผลผลิตหรือการตลาดของกลุ่ม ตามที่ระบุไว้ใน แบบเสนอโครงการแต่อย่างใด สาเหตุเป็นเพราะโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกา และตาลัส ให้มีอาหารบริโภคในครัวเรือนหลังน้ำลด เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ฟื้นฟู และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย โดยรัฐให้การสนับสนุน เงินงบประมาณครัวเรือนละ 5,000 บาท โดยการดำเนินการของกลุ่มสมาชิก จัดหาปัจจัยการผลิต เพื่อแจกจ่ายให้กับสมาชิกไปดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาจำกัด ประกอบกับสมาชิก กลุ่มอาศัยอยู่ห่างกันในต่างพื้นที่ ทำให้การรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมเป็นไปค่อนข้างยาก
อ่านประกอบ :
ชาวบ้านโวยโครงการ‘9101’อยุธยา ซื้อเครื่องพ่นยาหลักหมื่น-ได้ของราคาหลักพัน ยื่นบิ๊กตู่สอบ
ย้อนที่มา 'โครงการ9101’ สารพัดข้อร้องเรียนชาวบ้าน 'สุรินทร์-อยุธยา-อุบล' ก่อนบิ๊กตู่สั่งสอบ!
พลิก 22 โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ 52.5 ล ผลิตปุ๋ยอื้อ-กำหนดค่าวัสดุ แรงงานเท่ากันเป๊ะ 18 แห่ง
ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด
เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท
โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ถูกร้อง! จนท.จัดการเอง ซื้อปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้าน-ผู้ว่าฯ ตั้ง กก.สอบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/