- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ย้อนที่มา 'โครงการ9101’ สารพัดข้อร้องเรียนชาวบ้าน 'สุรินทร์-อยุธยา-อุบล' ก่อนบิ๊กตู่สั่งสอบ!
ย้อนที่มา 'โครงการ9101’ สารพัดข้อร้องเรียนชาวบ้าน 'สุรินทร์-อยุธยา-อุบล' ก่อนบิ๊กตู่สั่งสอบ!
"...ชาวบ้านหลายจังหวัด ส่งหนังสือร้องเรียนการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ใน 'โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ' ของกระทรวงเกษตรฯ ว่า มีการเปิดให้ผู้รับเหมามาประมูลงานแล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน ทั้งที่ ยังไม่มีการประชุมวางแผน หรือรับสมัครคนทำงาน โดยกระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และจ้างแรงงานในหมู่บ้านเป็นคนทำปุ๋ย..."
‘โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน’ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อปรากฎข้อมูลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดูแลในระดับผู้ปฏิบัติ ว่า เงินที่จ่ายลงไปจะต้องถึงประชาชนโดยตรง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวอาจมีการดำเนินการที่ไม่มีคุณภาพและความโปร่งใส เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า บรรดาผู้เกี่ยวข้องอาจมีการรวมกลุ่ม เพื่อกำหนดวงเงินสนับสนุนให้ไปอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการฯ และได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดย กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในทุกพื้นที่ที่มีโครงการฯ แล้ว และต้องรายงานและประเมินผลให้ทราบด้วย (อ่านประกอบ : นายกฯสั่งตรวจสอบงบโครงการ 9101)
อันเป็นผลมาจากก่อนหน้านี้ ปรากฎข่าวว่า ชาวบ้านหลายจังหวัด ส่งหนังสือร้องเรียนการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ใน 'โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ' ของกระทรวงเกษตรฯ ว่า มีการเปิดให้ผู้รับเหมามาประมูลงานแล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน ทั้งที่ ยังไม่มีการประชุมวางแผน หรือรับสมัครคนทำงาน โดยกระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และจ้างแรงงานในหมู่บ้านเป็นคนทำปุ๋ย
แต่ปรากฏว่าในการดำเนินการจริง คณะกรรมการชุมชนและกลุ่มชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง กลับเป็นเกษตรอำเภอที่ให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไป และปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูล ‘โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน’ มาเสนอแบบชัดๆ ดังนี้
‘โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน’ เป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ครม.มีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก ซึ่งจะสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท วงเงินงบฯรวม 22,800 ล้านบาท โดยเกษตรกรต้องดำเนินโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การทำฟาร์มชุมชน การเลี้ยงสัตว์เล็ก และการทำประมง เป็นต้น สามารถเลือกทำโครงการตามที่ต้องการได้ และจะได้รับค่าจ้างตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าโครงการ โดยกำหนดด้วยว่า เงินค่าจ้างของเกษตรกรจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% ของงบฯ 2.5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าบริหารจัดการ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เคยกล่าวถึงความหมายของ ‘โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ’ ว่า 9101 มาจาก 9 คือ รัชกาลที่ 9 และ 10 คือ รัชกาลที่ 10 คือในหลวงรัชกาลปัจจุบัน และ 1 ก็คือ ปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน มีหลักการที่สำคัญคือ น้อมนำหลักการ ทฤษฎี และแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้มาปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง
โดย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาการเกษตรชุมชน สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ นำไปปฏิบัติจริง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรชุมชน โดยมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ
“ส่วนงบประมาณที่ได้รับจะเป็นการจ้างแรงงานร้อยละ 50 ในแต่ละพื้นที่จะมีกรอบกติกา โดยชุมชนคัดเลือกและรับรองกันเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย แต่มีความประพฤติดี โดยการให้ชุมชนซึ่งรู้จักกันดีเป็นผู้คัดเลือก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุ (อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ พล.อ.ฉัตรชัย จาก www.thairath.co.th)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มชาวบ้าน อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ว่า มีความผิดปกติในการบริหารจัดการโครงการ เนื่องจากมีการเปิดให้เอกชนผู้รับเหมาเข้ามาประมูลงาน และให้เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับผลิตปุ๋ยมาให้ ทั้งที่ กลุ่มชาวบ้านยังไม่ได้มีการประชุมวางแผน หรือรับสมัครคนทำงานในโครงการ โดยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2560 ซึ่งสำนักข่าวอิศรา ติดตามตรวจสอบข้อมูลสำคัญมาเสนอเป็นลำดับ อาทิ กรณีจัดซื้อมูลสัตว์ ถูกตั้งราคาจัดซื้อกิโลกรัมละ 4 บาท ขณะที่ราคาที่ชาวบ้านซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท เท่านั้น เอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งมาไม่นานนัก (อ่านประกอบ :ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด, เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท)
ด้าน นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ ชี้แจงว่า ทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว โดยชาวบ้านผู้ร้องเรียนได้มาร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งกรณีนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ส่วนกลางจากกระทรวงฯ ได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว โดยโครงการดังกล่าวของ จ.สุรินทร์ มีเรื่องร้องเรียนอยู่ 2 อำเภอ คือ อ.ศีขรภูมิ และ อ.ท่าตูม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ได้รับการอนุมัติงบประมาณจัดสรรโครงการดังกล่าวให้แก่ชุมชน 21 ชุมชน จำนวน 22 โครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52.5 ล้านบาท
ขณะที่ ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการ นั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่า โครงการทั้งหมดได้ระบุค่าวัสดุและค่าแรงงานไว้เรียบร้อยแล้ว โดย 18 โครงการ จาก 22 โครงการกำหนดราคาเท่ากัน คือ ค่าวัสดุ 1,246,450 บาท และ ค่าแรงงาน 1,253,550 บาท จากวงเงินงบประมาณ 2,500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นอกจาก จ.สุรินทร์ แล้ว สำนักข่าวอิศรายังได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการ 9101 กรณีเดียวกันนี้ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อุบลราชธานี ด้วย
ลักษณะภาพรวมพฤติการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 3 จังหวัด ไม่แตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการปรากฎข้อมูลว่า มีคนบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการ และให้เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการทำเกษตรกรรมมาให้ ชาวบ้าน
และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาเสนอต่อสาธารณชนต่อไป
ส่วนจังหวัดอื่นๆ หากใครพบข้อมูลเบาะแส เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการนี้ สามารถส่งข้อมูลเข้ามาที่สำนักข่าวอิศรา ได้นับตั้งแต่นี้ บัดนี้ เป็นต้นไป
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ดำเนินการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งระบบพร้อมกันทั่วประเทศ!
อ่านประกอบ :
พลิก 22 โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ 52.5 ล ผลิตปุ๋ยอื้อ-กำหนดค่าวัสดุ แรงงานเท่ากันเป๊ะ 18 แห่ง
ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด
เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท
โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ถูกร้อง! จนท.จัดการเอง ซื้อปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้าน-ผู้ว่าฯ ตั้ง กก.สอบ