- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด
ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด
เปิดผู้ชนะเสนอราคาวัสดุทำปุ๋ย โครงการ 9101 อ.ศีขรภูมิ-สุรินทร์ หลังถูกร้อง ผู้ว่าฯ ตั้งสอบ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59 หุ้นใหญ่ ยันวิ่งหางานเอง ไร้คนทาบทาม เผยขายวัสดุเกษตรเป็นหลักอยู่แล้ว คว้างานอีกหลายจังหวัด
กรณีชาวบ้าน ต.ตรึม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ส่งหนังสือร้องเรียนการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ใน 'โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ' ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าได้เปิดให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน ทั้งที่ ยังไม่มีการประชุมวางแผน หรือรับสมัครคนทำงาน โดยกระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และจ้างแรงงานในหมู่บ้านเป็นคนทำปุ๋ย แต่ปรากฏว่าในการดำเนินการจริง คณะกรรมการชุมชนและกลุ่มชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง กลับเป็นเกษตรอำเภอที่ให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน (อ่านประกอบ : โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ถูกร้อง! จนท.จัดการเอง ซื้อปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้าน-ผู้ว่าฯ ตั้ง กก.สอบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูล ใบสืบ-เสนอราคา โครงการดังกล่าวมานำเสนอ
เบื้องต้น มีเอกชนเข้าร่วมเสนอราคาในโครงการดังกล่าวจำนวน 2 ราย คือ ร้านมารวย อินดัสทรี (โดย น.ส.นันท์นภัส สุมาลุย์) และ หจก.กานต์รวีอุตสาหกรรม (โดย นางกานต์รวี ปุราทะกา) หจก.กานต์รวีฯ เป็นผู้ชนะการเสนอราคา
โดย หจก.กานต์รวีฯ เสนอราคาตามรายการให้แก่หมู่บ้าน (ชุมชน) ดังนี้
มูลสัตว์ กก.ละ 4 บาท, โดโลไมล์ กก.ละ 8 บาท, แกลบดำ กก.ละ 4 บาท, รำ กก.ละ 15 บาท, กากน้ำตาล ลิตรละ 15 บาท, น้ำหมักชีวภาพ ลิตรละ 12 บาท, ปุ๋ยสูตร 46-0-0 กก.ละ 13 บาท, ปุ๋ยสูตร 0-0-60 กก.ละ 17 บาท, ปุ๋ยสูตร 18-46-0 กก.ละ 24 บาท, พลาสติกใส ม้วนละ 4,500 บาท, ตาชั่ง 60 กก. 1,100 บาท, เครื่องเย็บกระสอบ 7,500 บาท, จอบ-พลั่ว ด้ามละ 200 บาท, กระสอบพลาสติกสาน ใบละ 15 บาท, เข็มเย็บกระสอบ เล่มละ 20 บาท, เชือกฟาง ม้วนละ 32 บาท, รถเข็น 1,500 บาท, บัวรดน้ำ อันละ 120 บาท และ ด้ายเย็บกระสอบ ม้วนละ 20 บาท
โดย กำหนดแล้วเสร็จหรือส่งของภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันจัดทำสัญญา และราคานี้ยืนอยู่ภายใน 90 วัน
ขณะที่ ร้านมารวยฯ เสนอราคาสูงกว่า อาทิ มูลสัตว์ กก.ละ 6 บาท รำ กก.ละ 16 บาท กากน้ำตาล กก.ละ 18 บาท พลาสติกใส ม้วนละ 5,000 บาท ตาชั่ง 60 กก. 1,800 บาท, เครื่องเย็บกระสอบ 9,000 บาท, จอบ-พลั่ว ด้ามละ 300 บาท รถเข็นคันละ 2,000 บาท ฯลฯ เป็นต้น (ดูเอกสารประกอบ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 นางกานต์รวี ปุราทะกา ผู้จัดการ หจก.กานต์รวีฯ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่า ทราบข่าวแล้ว ทั้งนี้ หจก. ไม่ได้รับการติดต่อจากใคร แต่วิ่งหางานเอง เนื่องจาก ทำงานด้านนี้อยู่ ขายวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นหลักอยู่แล้ว จึงได้รับความไว้วางใจจากทั้งชาวบ้านและหน่วยงาน
“เพราะเราทำงานตรงไปตรงมา ทำงานตามขีดความสามารถที่มี และไม่ได้รับงานแค่จังหวัดเดียว นอกจาก จ.สุรินทร์ เรายังมีงานที่ จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ด้วย ซึ่งจังหวัดอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาดังกล่าว”
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการร้องเรียนว่าราคาวัสดุที่จัดส่งให้ชาวบ้านมีราคาแพง นางกานต์รวีกล่าวว่า “ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ถ้าได้ศึกษาจริง ๆ แล้ว เป็นราคากลางที่ใช้ร่วมกันทั่วประเทศ”
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า หจก.ฯ จัดตั้งมาเพื่อเข้ารับงานดังกล่าว นางกานต์รวี ยืนยันว่า “ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเพื่อมารับงานนี้ แต่ทำงานด้านนี้อยู่ก่อนแล้ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หจก.กานต์รวีอุตสาหกรรม จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2559 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป ที่ตั้งสำนักงานเลขที่ 208/10 ม. 7 ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์
ทั้งนี้ ได้พยายามติดต่อ น.ส.นันท์นภัส สุมาลุย์ ผู้จัดการร้านมารวย อินดัสทรี ตามหมายเลขที่แจ้งไว้ในใบสืบ-เสนอราคาแล้ว แต่ไม่มีใครรับสาย
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าวว่า “ได้ส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปให้กับผู้ว่าฯ ทหาร และ ป.ป.ช.แล้ว เพื่อช่วยกันตรวจสอบโดยเร่งด่วนก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้ โดยจากการสอบถามกรรมการทุกตำบลใน อ.ศีขรภูมิ จะมีเอกสรเหมือนกันหมด มีผู้รับเหมาที่จัดส่งของให้ 2 ราย แบ่งหมู่บ้านกันคนละครึ่ง คือ ร้าน พ.การเกษตร กับร้านของตำรวจคนหนึ่งในอำเภอฯ เป็นคนวิ่งเต้นกับเกษตรอำเภอ”
สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า โครงการ 9101 ระบุวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุ ณภาพชีวิต และกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท รวม 22,800 ล้านบาท โดยเกษตรกรจะต้องดำเนินโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การทำฟาร์มชุมชน การเลี้ยงสัตว์เล็ก การทำประมง และการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งแต่ละชุมชนสามารถเลือกทำโครงการที่ต้องการได้ และจะได้รับค่าจ้างในการดำเนินโครงการตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าโครงการ โดยกำหนดเงินค่าจ้างของเกษตรกรจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% ของงบฯ 2.5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าบริหารจัดการ
โครงการดังกล่าวถูกร้องเรียนในกรณี เกษตรอำเภอ เปิดให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์ให้ชาวบ้าน โดยคณะกรรมการชุมชนและกลุ่มชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มและดำเนินการเอง
ทั้งหมดคือ ข้อมูลการเสนอราคาของเอกชนในโครงการ 9101 อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ กรณีจัดหาวัสดุสำหรับทำปุ๋ยให้กับชาวบ้าน ต.ตรึม และถูกร้องเรียนด้วยว่า มีราคาแพงกว่าที่ชาวบ้านทำขายเอง
อ่านประกอบ :
เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท