- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท
เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท
“..มูลสัตว์ ราคา กก.ละ 4 บาท 90,000 กก. 360,000 บาท.. แกลบดำ กก.ละ 4 บาท 90,000 กก. 360,000 บาท.. รำ กก.ละ 15 บาท 3,000 กก. 55,000 บาท.. มูลไก่ กก.ละ 4 บาท 85,000 กก. 340,000 บาท.. กากน้ำตาล กก.ละ 15 บาท 3,000 กก. 55,000 บาท.. รวมค่าวัสดุกว่า 1.2 ล้านบาท..”
สืบเนื่องจากกรณี ชาวบ้าน ต.ตรึม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ส่งหนังสือร้องเรียนการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ใน 'โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ' ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าได้เปิดให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน ทั้งที่ ยังไม่มีการประชุมวางแผน หรือรับสมัครคนทำงาน ทั้งที่ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และจ้างแรงงานในหมู่บ้านเป็นคนทำปุ๋ย แต่ปรากฏว่าในการดำเนินการจริง คณะกรรมการชุมชนและกลุ่มชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง กลับเป็นเกษตรอำเภอที่ให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน (อ่านประกอบ : โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ถูกร้อง! จนท.จัดการเอง ซื้อปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้าน-ผู้ว่าฯ ตั้ง กก.สอบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวมาเสนอ
@เอกสาร ผลการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
ระบุสาระสำคัญว่า อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ได้รับงบฯ จัดสรร จำนวน 21 ชุมชน 22 โครงการ รวมจำนวนเงินโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 52.5 ล้านบาท ประเภทโครงการด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยในส่วนของ ต.ตรึม แบ่งเป็น 2 ชุมชน คือ กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านจังเอิด (ตรึม 1 เกษตรกร 1,000 ราย) และกลุ่มส่งเสริมอาชีพการทำนา ต.ตรึม (ตรึม 2 เกษตรกร 950 ราย) ได้รับงบฯ จัดสรรแห่งละ 2.5 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าวัสดุ 1,246,450 บาท และค่าจ้างแรงงาน 1,253,550 บาท
ปรากฏชื่อ นายธนัช ยืนยิ่ง เกษตร อ.ศรีขรภูมิ กรรมการ และ ร.ต.อ.นครินทร์ เกตุสิริ นายอำเภอศรีขรภูมิ ประธานกรรมการฯ ระดับอำเภอ ลงนามท้ายเอกสาร (ดูเอกสาร)
@แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงิน โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน ยอดรวมงบฯ 2.5 ล้านบาท
1.ค่าวัสดุ ระบุรายการ ดังนี้
มูลสัตว์ ราคา กก.ละ 4 บาท จำนวน 90,000 กก. เป็นเงิน 360,000 บาท
แกลบดำ ราคา กก.ละ 4 บาท จำนวน 90,000 กก. เป็นเงิน 360,000 บาท
รำ ราคา กก.ละ 15 บาท จำนวน 3,000 กก. เป็นเงิน 55,000 บาท
มูลไก่ ราคา กก.ละ 4 บาท จำนวน 85,000 กก. เป็นเงิน 340,000 บาท
กากน้ำตาล ราคา กก.ละ 15 บาท จำนวน 3,000 กก. เป็นเงิน 55,000 บาท
น้ำหมัก ราคา ลิตรละ 12 บาท จำนวน 3,000 ลิตร เป็นเงิน 36,000 บาท
กระสอบพลาสติก ขนาดบรรจุ 50 กก. ราคา ใบละ 15 บาท จำนวน 2,768 ใบ เป็นเงิน 41,520 บาท
เครื่องเย็บกระสอบ ราคาเครื่องละ 7,500 บาท จำนวน 1 เครื่อง
ด้ายเย็บกระสอบ ราคาม้วนละ 90 บาท จำนวน 27 ม้วน เป็นเงิน 2,430 บาท
พลาสติกใส ราคาม้วนละ 4,500 บาท จำนวน 2 ม้วน เป็นเงิน 9,000 บาท
รวมค่าวัสดุ 1,246,450 บาท
2.ค่าจ้างแรงงาน ระบุค่าจ้าง 1 แรง เป็นเงิน 305 บาท โดยเมื่อนำมาคิดกับจำนวน 4,110 แรง เป็นเงิน 1,253,550 บาท แบ่งจ่ายในเดือน ก.ค. จำนวน 457,500 บาท และเดือน ส.ค. จำนวน 796,050 บาท โดยสัดส่วนค่าจ้างแรงงานคิดเป็นร้อยละ 50.14 (ดูเอกสาร)
@แผนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ยอดรวม 274 ตัน
จำนวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 274 ตัน แบ่งออกเป็น 2 เดือน คือ เดือน ก.ค. จำนวน 100 ตัน และเดือน ส.ค. จำนวน 174 ตัน ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และระยะเวลาในการอนุมัติโครงการและสนับสนุนงบฯ
โดย ค่าวัสดุที่ทำปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตัน ประกอบด้วย
แกลบดำ 328 กก. เป็นเงิน 1,312 บาท, มูลสัตว์ 328 กก. เป็นเงิน 1,312 บาท, น้ำหมัก 10 ลิตร เป็นเงิน 120 บาท, มูลไก่ 310 กก. เป็นเงิน 1,240 บาท, รำ 20 กก. เป็นเงิน 300 บาท และ กากน้ำตาล 10 กก. เป็นเงิน 150 บาท
รวมค่าวัสดุสำหรับทำปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตัน เป็นเงิน 4,434 บาท
ขณะที่ ค่าแรงงานในการทำปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตัน มีราคาอยู่ที่ 4,575 บาท เนื่องจากใช้แรงงานรวม 15 แรงในขั้นตอนการผสมปุ๋ยหมัก
เท่ากับว่า ปุ๋ยหมักชีวภาพ 1,000 กก. (1ตัน) มีต้นทุนในการผลิต 9,009 บาท เฉลี่ย กก.ละ 9 บาท (ดูเอกสาร)
อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนกล่าวว่า “ในการดำเนินการจริง คณะกรรมการชุมชนและกลุ่มชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง กลับเป็นเกษตรอำเภอที่ไปให้ผู้รับเหมามาประมูลงาน แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้าน ทั้งที่ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และจ้างแรงงานในหมู่บ้านเป็นคนทำปุ๋ย”
เอกสารได้ระบุชื่อเอกชน 2 ราย ร่วมเสนอราคา
กรณีมูลสัตว์นั้น กิโลกรัมละ 4 บาท ขณะที่ราคาที่ชาวบ้านซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท เท่านั้น
ทั้งหมดคือ ข้อมูลต้นทุนการผลิตปุ๋ยหมักชีวิภาพ ในโครงการ 9101 ของ ต.ตรึม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ที่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่เกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจังหวัดฯ