- Home
- Isranews
- ข่าว
- ‘ดวงมณี’ วิพากษ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ตรงเจตนารมณ์-กระจายถือครองต่ำ หลังสภาผ่าน กม.
‘ดวงมณี’ วิพากษ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ตรงเจตนารมณ์-กระจายถือครองต่ำ หลังสภาผ่าน กม.
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รอประกาศใช้ ยังไม่ตรงเจตนารมณ์ ไม่ช่วยกระจายถือครอง-เป้ารายได้หลัก อปท. พัฒนาพื้นที่ เหตุยกเว้นลดหย่อนสูง ขณะที่กม.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เสนอจาก ภาคปชช. ยังไม่คืบ
วันที่ 17-18 พ.ย.2561 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรม “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤติที่ดินไทย” ณ หอประชุมเล็ก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทั้งนี้ กิจกรรมวันที่สอง มีการจัดเสวนาเรื่อง “โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ทำอย่างไรจะไปให้ถึงเป้าหมาย”
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าและ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งพ.ร.บ.ภาษีประเภทหลังเพิ่งผ่านมติวาระ 3 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 โดยระบุว่า ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าถูกเสนอจากภาคประชาชน โดยมุ่งหวังให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน ทั้งนี้ เนื้อหาให้สิทธิผู้ที่มีที่ดินในระดับเหมาะสมไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเกิน 50 ไร่ขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า
“ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ไม่ได้จำกัดการถือครอง เพราะปัจจุบันคิดว่า ก้าวพ้นเรื่องดังกล่าวไปแล้ว แต่อยู่ที่ถ้ามีที่ดินมากอยากให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น” นักวิชาการ มธ. กล่าว และว่า จึงกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินมาก ต้องร่วมในการเสียภาษีให้แก่สังคมสูงขึ้น
ทั้งนี้ การมีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าจะทำให้คนตระหนักมากขึ้นว่า ความจริงแล้วต้องการมีที่ดินไปทำการผลิตหรือไม่ หรือถือไว้เพื่อเก็งกำไร ซึ่งปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร
แม้กระทั่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการขับเคลื่อนมา 25 ปี จนผ่าน สนช.แล้ว ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ภาษียังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ เพราะมีเนื้อหายกเว้นลดหย่อนสูง และมีอัตราการจัดเก็บต่ำ เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่อยากให้ภาษีกลายเป็นรายได้หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่จึงอาจยังไม่ช่วยในเรื่องดังกล่าวมาก
“พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีแง่ดีในเรื่องจุดตั้งต้นที่ดี มีฐานภาษีจัดเก็บจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ได้มาตรฐานจากกรมธนารักษ์ ดังนั้น จึงไม่มีเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้อง”
นักวิชาการ มธ. ยังกล่าวว่า การทำกฎหมายเกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ ไม่ควรมีการยกเว้นลดหย่อน หรือกรณีต้องมีต้องให้น้อยที่สุด มิฉะนั้นจะเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีข้อยกเว้นค่อนข้างสูง จึงเห็นว่า ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ควรจะเป็นของกฎหมาย และคงไม่มีผลให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินมาก แต่จะช่วยกระตุ้นในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ ต้องดูในระยะยาวไปด้วย .
อ่านประกอบ:ถกกันยาว สนช.ผ่านฉลุยร่างกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
3 ชั่วโมง สนช.เลื่อนลงมติวาระ 2-3 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ ไปวันที่ 16 พ.ย.เวลา 10 โมงเช้า
เปิด 10 ข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯ ต่อร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ให้คะแนน 6 เต็ม 10 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ เข้าสู่การพิจารณาสนช.15 พ.ย.นี้
ก่อนเข้า สนช. วาระ 2-3 'สกนธ์ วรัญญูวัฒนา'วิพากษ์ กม.ภาษีที่ดินคนรวยได้ประโยชน์
นักวิชาการห่วงอัตราภาษีที่ดินต่ำ ทำท้องถิ่นเก็บเงินได้น้อย-เป็นภาระรัฐบาล
กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย