นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ให้คะแนน 6 เต็ม 10 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ เข้าสู่การพิจารณาสนช.15 พ.ย.นี้
ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เวอรชั่นสุดท้าย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ชี้มีข้อยกเว้น ลดหย่อนมากทำให้เสียหลักการที่ควรจะเป็น ระบุชัดหากสมมุติว่าผ่านสภาไปแล้ว หวังรัฐบาลหน้ากล้าหาญเปิดดูข้อบกพร่อง-แก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพอปท. ลดความเหลื่อมล้ำ
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้
ในฐานะที่ติดตามร่างภาษีที่ดินฯ และเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการกำหนดอัตราภาษี ตามร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ผศ.ดร.ดวงมณี บอกว่า ร่างภาษีที่ดินฯ ล่าสุดได้ถูกปรับจากร่างแรกที่เข้าครม.พอสมควร ทั้งประเด็นของเพดานอัตราภาษี ถูกปรับลดลง อัตราการจัดเก็บจริงที่ประกาศแนบท้าย ก็ค่อนข้างต่ำ ที่เหมือนเดิมอย่างที่เข้าครม.ก็คือ ผู้มีบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน ส่วนบ้านหลังที่ 2 เก็บตั้งแต่บาทแรก
"ประเด็นนี้มีการถกเถียงในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ อยู่เยอะ สุดท้ายก็สรุปว่า เหมือนเดิม บ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มองว่า เป็นตัวเลขที่มากเกินไป ซึ่งตามหลักการไม่ควรยกเว้นเลยด้วยซ้ำไป ยกเว้นเราต้องการดูแลคนเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีกำลังจ่ายภาษี เช่น ยกเว้นแค่ 5 ล้านบาท เป็นต้น"
ผศ.ดร.ดวงมณี ให้ข้อมูลว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศ มีที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 3-5 ล้านบาท หากยกเว้นในส่วนนี้ก็ครอบคลุมไปได้เกือบหมดแล้ว คนที่มีที่อยู่อาศัยมูลค่าเกิน 5 ล้านบาท เชื่อว่า มีความสามารถจ่ายภาษีได้ ขณะที่อัตราการจัดเก็บภาษีก็ไม่ได้จัดเก็บในอัตราที่สูง
"ในที่ประชุมกรรมาธิการฯ มีการถกเถียงกันอยู่มากพอสมควร โดยข้อเสนอที่อยู่อาศัย หรือบ้านหลังแรกไม่ต้องยกเว้นเลย เก็บตั้งแต่บาทแรกเลยก็มี และมีการเสนอยกเว้นไม่เกิน 20 ล้านบาทด้วย ในแต่สุดท้ายคงที่ 50 ล้านบาทเหมือนเดิม"
เมื่อถามถึงร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการยกเว้นมากเกินไป ทั้งบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรมของบุคคลธรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีนั้น ผศ.ดร.ดวงมณี ชี้ว่า พื้นที่เกษตรกรรมของบุคคลธรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ก็ถือว่าสูงเกินไป แต่ความเห็นของกรรมาธิการฯ มองว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมจึงให้ความช่วยเหลือเกษตรกร จึงขอให้คงไว้ที่ 50 ล้านบาท
"ส่วนตัวเห็นว่า เราควรดูแลเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีกำลังจ่ายภาษีมากกว่า มิเช่นนั้นทุกคนจะรู้สึก 50 ล้านบาทไม่น้อยแล้วนะ เราจะตอบสังคมยาก"
ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ผศ.ดร.ดวงมณี เชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้ก็น่าจะผ่านสภาออกมาได้ แต่ก็อดเสียดายตรงที่ถูกปรับแก้แบบบิดเบี้ยวค่อนข้างเยอะทีเดียว ท้องถิ่นเองหลายแห่งอาจไม่ได้รายได้เพิ่มขึ้น แถมอาจเป็นภาระให้กับท้องถิ่นด้วย
และจากการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะทำให้อปท.มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับการจัดเก็บในส่วนของภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ นักเศรษฐศาสตร์ มธ.บอกว่า ตัวเลข 1 หมื่นล้านบาทคำนวณบนพื้นฐานที่มีการปรับอัตราภาษีใหม่แล้ว แต่อาจไม่ได้มีการรวมเรื่องการลดหย่อนต่างๆ ฉะนั้นคาดการค่อนข้างยากว่า ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นระดับนั้นจริงหรือไม่
"บางแห่งอาจรายได้ลดด้วยซ้ำไปจากการลดหย่อน บรรเทาภาระภาษี"
ในฐานะมีส่วนขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดกฎหมายตัวนี้ในประเทศไทย เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ ที่กำลังจะคลอดออกมา และให้คะแนนความพึงพอใจ ผศ.ดร.ดวงมณี ให้ผ่าน หากคะแนนเต็ม 10 ให้ 6 คะแนน
พร้อมกับทวนคำถาม "ดีใจหรือไม่ ที่ร่างกฏหมายตัวนี้เข้าสภา ?"
"ตอบไม่ค่อยได้เต็มปากเต็มคำ เพราะสุดท้ายแล้วกฎหมายตัวนี้มีข้อยกเว้น ลดหย่อนมากทำให้เสียหลักการที่ควรจะเป็น และบิดเบี้ยวไปเยอะ หากสมมุติว่าผ่านสภาไปแล้ว อยากให้รัฐบาลถัดไป ไปดูข้อบกพร่องและแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐบาลหน้าต้องพิจารณาเมื่อกฎหมายผ่านออกมาแบบนี้ เกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ไปเสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ หากคำตอบ คือ ไม่ รัฐบาลหน้าต้องกล้าหาญพอไปปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้"
ผศ.ดร.ดวงมณี ยังให้มุมมองเพิ่มเติมว่า นี่คือการตั้งต้น วางฐานการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินเอาไว้ แต่รัฐบาลถัดไปต้องพิจารณา การตั้งต้นแบบนี้มีข้อบกพร่องอย่างไร เมื่อมีการจัดเก็บภาษีไประยะหนึ่งแล้ว
สุดท้ายเมื่อถามถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่เสนอต่อสนช.พิจารณา หนึ่งในนั้น เสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลการถือครองที่ดินของผู้เสียภาษีในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วนทั่วประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ไม่สามารถเขียนในร่างกฎหมายนี้ได้ แต่หากเราอยากให้เก็บภาษีที่ดินฯ อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องมีตัวฐานข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ศึกษา หาประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหน การถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยกระจุก หรือกระจายแค่ไหน ซึ่งงานวิจัยก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่อเนื่องได้ เพื่อดูพัฒนาการการถือครองทรัพย์สินของประเทศไทยเป็นอย่างไร นี่จึงเป็นที่มาของข้อเสนอของกรรมาธิการฯ ว่า ควรมีตัวฐานข้อมูลและสำคัญต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ก่อนเข้า สนช. วาระ 2-3 'สกนธ์ วรัญญูวัฒนา'วิพากษ์ กม.ภาษีที่ดินคนรวยได้ประโยชน์
นักวิชาการห่วงอัตราภาษีที่ดินต่ำ ทำท้องถิ่นเก็บเงินได้น้อย-เป็นภาระรัฐบาล
กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย