ก่อนเข้า สนช. วาระ 2-3 'สกนธ์ วรัญญูวัฒนา'วิพากษ์ กม.ภาษีที่ดินคนรวยได้ประโยชน์
หากผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ออกมา ก็จะเหมือนกับพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ที่แทบไม่ต้องมีใครมาจ่ายภาษีเลย ความเป็นภาษีที่ดีแทบจะหมดความหมาย -ไม่มีประโยชน์
วันที่ 15 พ.ย.ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีวาระการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง วาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว
สำหรับนักวิชาการผู้ติดตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หากมองในหลักการแล้ว พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ควรจะมีในเมืองไทย แต่ประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกัน คือ เอื้อประโยชน์ มีการยกเว้น ลดหย่อน และความพยายามไปลดภาระในด้านภาษีให้เอกชนให้เสียน้อยที่สุด
“พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ 1. เป็นเครื่องมือของภาครัฐเรื่องการกำกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด 2.ช่วยเรื่องการกระจายตัวของการถือครองที่ดิน หากคุณไปลดภาระภาษี หรือทำให้ผู้ครอบครองที่ดินมากๆ แบบบ้านเราไม่รู้สึก มีภาระด้านภาษี เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของภาษีตัวนี้ก็ผิดพลาดไปแล้ว”
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เป็นภาษีทรัพย์สินตัวแรก ๆ และเป็นตัวภาษีทรัพย์สินจริงๆ ไม่เหมือนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน โดยเป็นการจัดเก็บบนฐานของมูลค่าทรัพย์สิน ใครมีมากเสียมาก มากทั้งเรื่องจำนวนและมูลค่า แต่บ้านเราออกกฎหมายพยายามไปลดภาระทั้งเรื่องของการบรรเทา การยกเว้น ลดหย่อน อัตราภาษีลงมา ลดฐานภาษีการประเมินมูลค่าภาษีลงมา จนทำให้คนถือครองที่ดิน ที่อยู่อาศัยมีภาระน้อยสุด
"แทนที่ภาษีตัวนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กลับเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง คุณมายกเว้นฐานภาษีที่เกิน 50 ล้านขึ้นไป แต่คนส่วนใหญ่ถือครองทรัพย์สิน มูลค่าโดยเฉลี่ย 5-10 ล้านเท่านั้นเอง คนรวยพลอยได้รับประโยชน์ตามไปด้วย "
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ข้อมูลคนไทยที่ถือครองทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่อาศัยเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ในประเทศไทยมีประมาณ 7-8 พันรายเท่านั้น ถามว่า มีความหมายอะไร
"ตัวฐานภาษีลดลงมาแล้ว อัตราภาษีก็ไม่ควรลดลงมาก กลับเป็นว่า ลดอัตราภาษีต่ำกว่าเดิม คำถาม ประสิทธิภาพประสิทธิผลจะไม่เป็นภาษีที่ดีแล้ว ฐานภาษีก็ถูกยกเว้น ลดหย่อนอย่างมหาศาล และช่วงระยะเวลาบรรเทาภาษี ทำให้คนต้องจ่ายภาษีแทบไม่ต้องจ่าย"ศ.ดร.สกนธ์ ชี้ พร้อมกับเห็นว่า หากผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ออกมาแล้ว ก็จะเหมือนกับ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ออกมาแล้วแทบไม่ต้องมีใครมาจ่ายภาษีเลย ความเป็นภาษีที่ดีแทบจะหมดความหมาย ออกไปแทบจะไม่มีประโยชน์
สุดท้าย ศ.ดร.สกนธ์ ฝากถึงสนช.ช่วยพิจารณาถึงการเป็นภาษีที่ดี วัตถุประสงค์ภาษีตัวนี้ไม่ใช่รายได้ของรัฐบาล แต่เป็นของท้องถิ่นทั่วประเทศ และจะเป็นแหล่งรายได้ให้กับท้องถิ่น ส่งเสริมการกระจายอำนาจ ส่งเสริมการเรียนรู้พึ่งตนเองของท้องถิ่น เมื่อพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ไม่ใช่ภาษีที่ดี ท้องถิ่นก็ต้องหันกลับมาพึ่งรายได้จากรัฐบาลอีก ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ ขาดความสามารถจัดการทรัพยากรของตนเอง ต้องพึ่งรัฐบาลอีก ทำให้โอกาสในการพัฒนาการกระจายทรัพยากรประเทศออกจากส่วนกลาง พังทลายเลย
"หากยอมให้ผ่านได้ ต้องมาคิดเรื่องการประเมินมูลค่ากันใหม่"