นักวิชาการห่วงอัตราภาษีที่ดินต่ำ ทำท้องถิ่นเก็บเงินได้น้อย-เป็นภาระรัฐบาล
นักวิชาการห่วง เพดานภาษีที่ดินต่ำ จะส่งผลให้ท้องถิ่นเก็บเงินได้น้อย วกกลับเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ไม่ต้องนับพูดถึงประเด็นกระจายการถือครอง เหตุที่ดินรกร้างราคาเพิ่มทุกปี แต่เสียเงินน้อย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุลอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อการปรับเพดานภาษีที่ดินในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... (อ่านประกอบ : ก.คลังปรับลดเพดานภาษีที่ดินในกม.ใหม่ลง 40% บ้านหลังแรกไม่เกิน 20 ล. ไม่ต้องจ่าย ) ว่า การปรับลงมาครั้งนี้มีประเด็นว่า ตัวอัตราเพดานที่ตั้งไว้ มีบางส่วนที่มีข้อกังวลถึงที่สุดเดี๋ยวอัตราจะขึ้นไปสูงเกินไป เลยมีการเสนอว่าควรตั้งเพดานไม่สูงนัก เพื่อให้เกิดการยอมรับในตัวกฎหมายได้ง่ายขึ้น โดยมีคนคำนวนก่อนหน้าที่จะยังไม่มีอัตราการจัดเก็บจริง เนื่องจากตัวพ.ร.บ.ยังไม่ผ่าน ดังนั้นเวลาคนคิดตัวอัตราภาษีจะไปคิดที่อัตราเพดาน เมื่ออัตราเพดานสูงคนก็คิดว่าจะต้องเสียภาษีสูง เลยเกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่การคิดอัตราภาษีนั้นไม่ได้คิดกับอัตราที่ต้องจ่ายจริง
สำหรับการปรับเพดานภาษีลงมา ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ก็ช่วยทำให้หลายฝ่ายสบายใจมากขึ้น ว่ามูลค่าภาษีที่ต้องเสียไม่ได้สูงเกินไป นี่คือข้อดีของการปรับลงมา เนื่องจากมีข้อกังวลของหลายฝ่าย รวมไปถึงกรณีการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นอัตราภาษีได้ แต่ไม่เกินเพดาน เลยมีข้อกังวลว่า หากมีการใช้เพดานที่สูงแล้ว อปท.ปรับขึ้นไปถึงเพดานก็อาจต้องแบกรับที่สูง
“การปรับนี้ก็เพื่อเป็นเชิงบวกต่อสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะกับบางกลุ่ม แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า อัตราเพดานเขียนไว้เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะว่าเมื่อประกาศใช้ไปแล้ว การแก้ไขค่อนข้างยาก ดังนั้นหากเราเปิดเพดานที่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเศรษฐกิจ สังคม สถานการณ์ ในระยะแรกการจัดเก็บภาษีที่ดินจะไม่ได้จัดเก็บในอัตราที่สูงมาก อัตราจัดเก็บจริงค่อนข้างต่ำ ไม่เป็นภาระในการเสียภาษี”
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวถึงกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าว่า หากดูการกระจายการถือครองที่ดิน ตัวราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้นในแต่ละปี เฉลี่ย 4-5% เพราะฉะนั้นตัวอัตราเพดานที่ตั้งไว้ไม่ได้สูงจนเกินไป อยู่ในอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ดังนั้นการลดอัตราเพดานลงมา ทำให้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ส่งผลต่ออัตราการกระจายที่ดินหรือว่า ทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ดวงมณี ยังได้กล่าวถึงการปรับลดการยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 20 ล้านบาทว่า การปรับลงมาก็ยังไม่ได้ครอบคลุมได้มากเท่าไหร่ เพราะว่าคนที่จะมีบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไปมีค่อนข้างน้อย แต่ประเด็นคือว่า ในร่างพ.ร.บ.นี้ มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าขั้นต่ำอยู่ที่ 50 ล้านบาท เพราะฉะนั้นสังคมก็ยอมรับที่ราคานี้ไปก่อนแล้ว เวลาปรับลดลงมาจึงเป็นเรื่องยาก แต่ส่วนตัวคิดว่า ไม่ควรมีการยกเว้นเลยด้วยซ้ำ หรือถ้าจะยกเว้นควรยกเว้นสำหรับคนที่ไม่สามารถแบกรับภาระภาษีได้ หรืออย่างมากควรกำหนดไว้ที่ 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
"ที่มากไปกว่านั้น ตัวฐานภาษีไม่ได้ถูกประเมินในฐานที่มีการซื้อขายในตลาด เป็นราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดลงไปพอสมควร ดังนั้นแม้เราจะกำหนดไว้ว่าบ้านตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปต้องจ่ายภาษี คนที่ต้องจ่ายก็ยังมีน้อยอยู่ดี เพราะเมื่อใช้ราคาประเมินที่ต่ำกว่าตลาดคนที่เข้าข่ายก็น้อย ส่วนการตั้งที่ 20 ล้านบาทก็ยังสูงเกินไปอยู่ดี"
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวด้วยว่า หลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือการเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลังให้ท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ความเป็นธรรมจริงๆ แล้วเป็นผลพลอยได้เท่านั้น แต่หากอัตราภาษีที่จัดเก็บอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมาได้ เกิดการกระจายที่ดินขึ้นได้ พออัตราถูกดึงลดลง คนที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าก็ไม่ได้เอาที่ดินมาใช้ประโยชน์ ซึ่งวัตถุประสงค์อีกอย่างของกฎหมายคือเอาที่ดิน สิ่งปลูกสร้างมาใช้ประโยชน์ ถ้าอัตราค่อนข้างต่ำ วัตถุประสงค์เหล่านี้ก็จะไปไม่ถึง
“สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า อปท. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เพราะว่าตัวร่างพ.ร.บ.มีข้อยกเว้น ลดหย่อนค่อนข้างเยอะ ก็น่ากังวลใจว่าหากพ.ร.บ.ออกมาแล้วจะทำให้รายได้ของอปท.เพิ่มหรือไม่ จะบรรลุตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ เช่นอปท.ที่อยู่ไกลๆ มูลค่าที่ต่ำๆ ก็จัดเก็บไม่ได้สุดท้ายจะกลายเป็นภาระรัฐบาลที่ต้องส่งงบอุดหนุนไปแทน ซึ่งยังไม่ต้องไปถึงเรื่องการกระจายการถือครองที่ดูเเล้วจะเป็นไปได้ยากขึ้น” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในข้อกำหนดในกระบวนการออกข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรณีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ระบุเอาไว้ว่า อปท.ใดมีความประสงค์ที่จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่านั้น สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดอัตราภาษีเพิ่มใช้จัดเก็บภายในเขต อปท.นั้นได้ แต่เมื่อรวมกันเเล้วต้องไม่เกินอัตราเพดานภาษีที่กำหนดในกฎหมาย
อ่านประกอบ
กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย
หมายเหตุ-ภาพประกอบจาก http://www.econ.tu.ac.th/