- Home
- Isranews
- ข่าว
- โอนสำนวนหลายครั้งขัด กม.!โฆษกศาล ยธ.แจงไม่ตั้ง‘ศิริชัย’นั่งปธ.ศาลฎีกา-ปัดการเมืองแทรก
โอนสำนวนหลายครั้งขัด กม.!โฆษกศาล ยธ.แจงไม่ตั้ง‘ศิริชัย’นั่งปธ.ศาลฎีกา-ปัดการเมืองแทรก
โฆษกศาลยุติธรรมแจงทุกประเด็นปม ก.ต. ไม่เห็นชอบ ‘ศิริชัย’ นั่ง ปธ.ศาลฎีกา ยันดูตามข้อเท็จจริง-กม. ไร้การเมืองแทรกแซง พบโอนสำนวนหลายครั้ง ทั้งที่ตามระเบียบทำได้ครั้งเดียว หากพบผิดวินัยจริง แม้ลาออกก็ยังลงโทษได้ รื้อฟื้นคดีที่ถูกโอนหลายสำนวนด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ห้องประชุมศาลอาญา ชั้น 12 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวกรณีการลาออกจากราชการของนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์
นายสืบพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมชี้แจงสี่ประเด็นจากกรณีที่นายศิริชัยแถลงข่าวลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ประเด็นแรกที่นายศิริชัยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกลั่นกรองเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) เรียนว่า องค์ประกอบของอนุ ก.ต. ประกอบด้วยตุลาการในศาลชั้นต่าง ๆ รวม 21 ราย แต่ละคนมีตำแหน่งสำคัญในแต่ละชั้นศาล ดังนั้นการประชุมอนุ ก.ต. จึงเป็นอิสระ มีการอภิปราย แสดงความคิดเห็น การออกเสียงลงคะแนน และการตีความของอนุ ก.ต. ที่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นเกี่ยวข้องกับนายศิริชัย เพื่อดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา พบว่า มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการสำนวนคดี จึงให้โอกาสนายศิริชัยชี้แจง 2 ครั้ง ตลอดจนให้นายศิริชัยเสนอพยานบุคคล และหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความแล้ว ไม่ได้รวบรัดแต่อย่างใด ที่ประชุมอนุ ก.ต. จึงมีมติเสียงข้างมาก 19-1 เสียง จากจำนวนผู้ที่เข้าประชุม เห็นว่า นายศิริชัย ไม่เหมาะสมเป็นประธานศาลฎีกา
นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สองที่นายศิริชัยอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ไม่สามารถทบทวนมติได้นั้น เรียนว่า องค์ประกอบ ก.ต. ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นประธานฯ ตุลาการชั้นศาลฎีกา 6 ราย ตุลาการชั้นศาลอุทธรณ์ 4 ราย และตุลาการศาลชั้นต้น 2 ราย และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 2 ราย ที่วุฒิสภาเลือกมา บุคคลดังกล่าวล้วนทรงเกียรติ ดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลแทรกแซงซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้การลงมติ ก.ต. กระทำโดยเปิดเผย สามารถตรวจสอบรายงานการประชุม ก.ต. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ เป็นหลักประกันว่าข้าราชการตุลาการทุกรายได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม แม้มติ ก.ต. จะไม่สามารถทบทวนได้ แต่มติดังกล่าวผ่านการกลั่นกรองจากอนุ ก.ต. แล้ว 21 ราย ด้วยหลักการดังกล่าว ศาลยุติธรรมใช้มาอย่างยาวนาน และบัญญัติรับรองในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระโดยองค์กรอื่นได้ ซึ่งการลงคะแนนเสียง ปรากฏว่า ที่ประชุม ก.ต. มีมติเอกฉันท์ 14-0 จากจำนวนกรรมการ ก.ต. ที่มีอยู่ในที่ประชุม ไม่เห็นชอบให้นายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาอีกเช่นกัน เท่ากับว่ามีจำนวนข้าราชการตุลาการถึง13 ราย และบุคคลภายนอก 2 ราย ไม่เห็นพ้องด้วย
“เมื่อที่ประชุม ก.ต. ไม่ได้ให้ความเห็นชอบนายศิริชัยแล้ว เลขานุการ ก.ต. จึงเสนออาวุโสลำดับถัดไปเป็นผู้ได้รับการพิจารณาเพื่อดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 50 จึงไม่ได้เป็นการเสนอชื่อที่ไม่ได้ลำดับอาวุโสตามที่อ้างแต่อย่างใด” นายสืบพงษ์ กล่าว
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ประเด็นที่สามการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นนั้น ข้อเท็จจริงที่ได้รับจากอนุ ก.ต. และ ก.ต. เห็นว่า เป็นเรื่องที่นายศิริชัยไม่เหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา เนื่องจากมีกรณีที่สงสัยว่า กระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต. ที่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น มิฉะนั้นอาจโดนละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“สำหรับการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นนั้น นายศิริชัยมีสิทธิ์เสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่ และถ้าไม่มีมูลความผิดวินัย ต้องยุติเรื่อง แต่ถ้าผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้นายศิริชัยจะพ้นตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว แต่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ยังสามารถสอบสวนทางวินัย หรือพิจารณาลงโทษได้ เสมือนผู้นั้นยังไม่พ้นตำแหน่ง เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 75” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว
นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สี่ กรณีอ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับในตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกานั้น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 11 ระบุว่า ก.ต. อาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ ตำแหน่งดังกล่าวจะเทียบกับตำแหน่งใดให้กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย ดังนั้นการตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่าตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
เมื่อถามว่า นายศิริชัยมองว่า การพิจารณาของอนุ ก.ต. และ ก.ต. ยังไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเต็มที่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า การแสวงหาข้อเท็จจริง อาจเกิดขึ้นในชั้นอนุ ก.ต. ที่พิจารณา โดยฝ่ายอนุ ก.ต. เสนอข้อเท็จจริงพยานหลักฐานที่ทำให้นายศิริชัยไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานศาลฎีกา ขณะเดียวกันอนุ ก.ต. ได้สอบถามนายศิริชัยแล้วว่ามีพยานปากใดบ้างที่ให้ถ้อยคำ ซึ่งอนุ ก.ต. ได้อนุญาตให้พยานทุกปากให้ถ้อยคำทุกราย มีบางปากที่ฝ่ายนายศิริชัยอ้างแล้วไม่สามารถนำเข้ามาสืบภายในเวลาที่กำหนดได้ 1 ปาก ต้องตัดออกไป ใช้เวลาแสวงหาข้อเท็จจริง 4 วัน ซึ่งมากกว่ารายอื่น ๆ แล้ว และนายศิริชัยมีโอกาสให้ถ้อยคำถึง 2 ครั้ง
เมื่อถามว่า สามารถเปิดเผยพยานหลักฐานได้หรือไม่ เพราะนายศิริชัยติดใจว่า มีการหยิบกรณีที่เคยยุติเรื่องไปแล้วมาพิจารณาใหม่ตอนที่ได้รับการพิจารณาขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ทำไมถึงไม่แสวงหาข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกกรณีบัตรสนเท่ห์นั้น มีการยุติเรื่องไปแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งคือสิ่งที่อนุ ก.ต. หยิบยกมา คือปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดีต่าง ๆ ซึ่งอนุ ก.ต. ได้เอกสารทั้งหมดที่ขอไปจากศาลอุทธรณ์ โดยในการสอบพบว่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่ามีสำนวนความ และคำสั่งต่าง ๆ เรื่องการเพิกถอนสำนวน หรือการโอนสำนวนมีอยู่จริง ประกอบกับมีพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้โอนสำนวนในช่วงเวลาต่าง ๆ มาให้ถ้อยคำด้วย ส่วนข้อสงสัยว่าทำไมถึงไม่ทำก่อนหน้านี้นั้น เรียนว่า เป็นเรื่องของการแสวงหาข้อเท็จจริงของอนุ ก.ต. ที่นำมาเสนอในช่วงเวลานั้นที่จะมีการประเมินความเหมาะสม
ส่วนการโอนสำนวนมีระเบียบในการพิจารณาชัดเจนหรือไม่ เพราะนายศิริชัยอ้างว่า ไม่มีระเบียบระบุไว้ชัดเจนนั้น นายสืบพงษ์ กล่าวว่า การเรียกคืนสำนวนมีการบัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 และระเบียบข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเรียกคืนสำนวน และการโอนสำนวน เป็นข้อพิจารณาประกอบกัน หลักการสำคัญคือ การเรียกคืนสำนวน เกิดขึ้นได้เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีล่าช้า หรือการพิจารณาคดีขัดกฏหมาย หรือขัดแย้งแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ขัดความเป็นธรรมโดยปราศจากเหตุอันสมควร ขัดแนวทางพิจารณาแนวทางคดีของศาลโดยสมควร หรือกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม เมื่อมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ผู้อาวุโสสูงสุดในศาลนั้น ๆ จะเสนอผู้อาวุโสลำดับรองลงมา เพื่อให้ทำความเห็นว่า สมควรหรือไม่ที่จะเรียกสำนวนคืน เมื่อผู้อาวุโสลำดับรองทำความเห็นแล้ว หากพบว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ให้จ่ายให้องค์คณะผู้พิพากษาคณะใหม่พิจารณา
“หลักการคือ เมื่อจ่ายให้องค์คณะฯใหม่ ทำได้เพียงครั้งเดียว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ปัญหาคืออะไรคือเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ การที่ผลวินิจฉัยไม่ตรงกัน ทำให้สามารถโอนสำนวนต่อไปได้ เป็นประเด็นที่พิจารณากันในชั้นอนุ ก.ต. และ ก.ต. ว่าได้แค่ไหนเพียงไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว เหตุที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ การพิจารณาในชั้นอนุ ก.ต. เห็นว่า กระทำได้เฉพาะเรื่องการตาย หรือองค์คณะฯใหม่พิจารณาคดีล่าช้า ไม่ได้หมายความว่า ผลพิพากษาไม่ตรงกัน จะขอโอน หรือเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ และระเบียบการโอนสำนวนบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2547 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย” นายสืบพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า นายศิริชัยอ้างว่า มีคดีหนึ่งที่มีการโอนสำนวนแล้ว แต่ผู้พิพากษาไม่สะดวกใจที่จะทำ เลยส่งคืนสำนวนมา แล้วโอนต่อ เพราะว่าไม่อาจบังคับได้นั้น ผู้พิพากษามีสิทธิ์ไม่รับสำนวนหรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องการตีความว่า กรณีผู้พิพากษาเกิดความลำบากใจ ไม่อยากจะเขียน หรือมีความเห็นเดียวกับความเห็นเดิม แต่เลือกวิธีคืนด้วยความเกรงใจ อะไรก็ตาม ทำให้มีการโอนต่อไป มันสอดคล้องกับระเบียบห้ามหรือไม่นั่นเอง
“ผลเสียของการโอนสำนวนคือ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ การช็อปปิ้งบุคคลเป็นผู้พิพากษาได้ตามต้องการ เหมือนก้าวล่วงอิสระองค์คณะผู้พิพากษา ถือเป็นข้อห้าม เป็นหลักการสำคัญที่ผู้พิพากษาต้องมีดุลยพินิจอิสระ ไม่สามารถถูกแทรกแซงได้” นายสืบพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีถ้าสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ผิดวินัย ต้องเยียวยาหรือไม่ และต้องมีการรื้อฟื้นคดีที่มีการโอนสำนวนด้วยหรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป เบื้องต้นที่ผ่านการพิจารณาของอนุ ก.ต. และ ก.ต. จนยุติคือ นายศิริชัย ไม่มีความเหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา และเป็นเรื่องที่สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการปฏิบัติตามที่ ก.ต. มีมติให้รีบดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เมื่อผลสอบเสร็จ ได้ข้อเท็จจริงแล้ว จะหาหนทางเพื่อไขปัญหาโดยเร็ว เบื้องต้นการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นกำหนดกรอบไว้ประมาณ 30 วัน แต่หากสำนวนมาก ต้องใช้เวลาพิจารณา แต่เมื่อผ่านการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้น พบว่า มีมูลผิดวินัยร้ายแรง จะเข้าสู่กรอบที่ระบุไว้ในระเบียบคือ สอบภายใน 30 วัน ขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน
“ส่วนการรื้อฟื้นคดีที่มีการเพิกถอนโอนสำนวน ยังไม่ทราบว่า คำพิพากษาถึงที่สุดหรือยัง หรือยังอยู่ระหว่างขอฎีกา เป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดการสอบข้อเท็จจริงโดยไว้ เพื่อดูว่ามีช่องทางดำเนินการอย่างไรบ้าง แก้ไขปัญหาดังกล่าว นี่คือสิ่งที่ให้ความสำคัญกว่าการตั้งประธานศาลฎีกาด้วยซ้ำไป” นายสืบพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า การตั้งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ถูกมองว่าเป็นตำแหน่งแขวน ในอนาคตจะยังมีอยู่หรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า เป็นอำนาจของ ก.ต. ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมฯ เมื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่ากำหนดใช้เป็นการทั่วไป ตอนนี้มีเพียง 1 ตำแหน่ง ส่วนจะบรรจุใครเข้ามาในอนาคตเป็นอีกประเด็น แต่สิ่งที่อยากเรียนคือ ให้เห็นใจฝ่าย ก.ต. ในการบริหารงานบุคคล ในเมื่อไม่สามารถให้นายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และเป็นประธานศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้ เพราะยังมีอำนาจในการโอนสำนวนเหมือนกัน จึงอาจเกิดความเสียหายแก่ศาลอุทธรณ์ได้ จึงเป็นเรื่องที่ ก.ต. พิจารณาถึงความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลดำเนินการต่อไป
“เรื่องความโปร่งใสเรียนแล้วว่า กรณีนี้ผ่านการพิจารณา 2 ชั้นคือ อนุ ก.ต. และ ก.ต. ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรมตั้งแต่ปี 2475 ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ผ่านร้อนผ่านหนาวกับการที่ ก.ต. ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหารหลายครั้ง ในที่สุดรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองหลักการให้ ก.ต. ไม่สามารถถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร หรือองค์กรอื่นได้ เป็นอย่างนี้ยาวนานมาถึงปัจจุบัน การดำเนินการครั้งนี้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ไม่มีเรื่องการเมือง หรือเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น และยืนยันว่า เหตุผลทั้งหมดจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบทุกอย่าง” นายสืบพงษ์ กล่าว
นายสืบพงษ์ ยอมรับด้วยว่า ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมเสนอบัญชีรายชื่อนายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ โดยจะเสนออนุ ก.ต. เพื่อกลั่นกรอง และเสนอเข้าที่ประชุม ก.ต. ในวันที่ 31 ก.ค. 2560 แต่ขณะนี้รองประธานศาลอุทธรณ์ที่อาวุโสที่สุดจะรักษาการแทนนายศิริชัยไปก่อน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 นายศิริชัย แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการอย่างเป็นทางการต่อประธานศาลฎีกา (นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) แล้ว เท่าที่ทราบล่าสุด นายวีระพล ได้ลงนามในหนังสือขอลาออกของตนแล้วด้วย โดยมีผลเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ถอยจนไม่มีที่ยืนแล้ว!‘ศิริชัย’เปิดใจลาออกราชการ-‘ธนฤกษ์’นั่ง ปธ.ศาลอุทธรณ์แทน)
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเอกฉันท์ ไม่เลือกนายศิริชัย ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา แต่เลือกนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ที่อาวุโสถัดมาแทน นอกจากนี้ยังตั้งตำแหน่งใหม่ คือ ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา โดยมีกระแสข่าวว่า จะโยกย้ายนายศิริชัยให้มาดำรงตำแหน่ง ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายศิริชัย กรณีปัญหาในการบริหารงานภายในศาลอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นเพิกถอนโอนย้ายสำนวนด้วย
อ่านประกอบ :
ไทม์ไลน์ปม'ศิริชัย'วืดนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ถูกสอบ-ขัดแย้งโอนสำนวนคดียาเสพติด?
ยังไงก็อยู่ไม่ได้แล้ว! ปธ.ศาลอุทธรณ์รับลาออกราชการ-แถลงสื่อ 18 ก.ค.
เจ็บปวดรวดร้าว-ขออยู่ที่เดิมไม่ให้อยู่! คำต่อคำ‘ศิริชัย’เปิดใจไม่ได้นั่ง ปธ.ศาลฎีกา
สะอื้น!‘ศิริชัย’ลั่นไม่อยากพูดให้เสีย-ขอสื่อสืบที่มาปมถูกย้ายนั่งที่ปรึกษา ปธ.ศาลฎีกา
เบื้องหลัง วางหมาก เด้ง 'ศิริชัย'-ตั้งกก.สอบซ้ำ ศึกชิงเก้าอี้ปธ.ศาลฎีกา เจ็บแต่(ไม่)จบ!
สะพัด! ก.ต.เด้ง 'ศิริชัย' พ้น ประธานศาลอุทธรณ์นั่งที่ปรึกษาปธ.ฎีกา-ตั้ง กก.สอบซ้ำ
อยู่ที่วาสนา! ‘ศิริชัย’เคารพมติ ก.ต.ไม่เลือกนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ปัดฟ้องกลับ-ลาออก
‘ศิริชัย' ร้องขอความเป็นธรรม ปธ.ศาลฎีกา-เข้าชี้แจงก.ต.ปมถูกร้องเพิกถอนโอนสำนวน!
สนง.ศาลยุติธรรม ตั้งแท่นชงชื่อ 'ชีพ จุลมนต์' ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่แล้ว
ระวัง! ซ้ำรอยวิกฤตตุลาการ เมื่อ อนุก.ต.ไม่เห็นชอบเสนอชื่อ'ศิริชัย วัฒนโยธิน' ปธ.ศาลฎีกา
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสืบพงษ์ จากสำนักข่าวเนชั่น