- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ไทม์ไลน์ปม'ศิริชัย'วืดนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ถูกสอบ-ขัดแย้งโอนสำนวนคดียาเสพติด?
ไทม์ไลน์ปม'ศิริชัย'วืดนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ถูกสอบ-ขัดแย้งโอนสำนวนคดียาเสพติด?
“การที่ผมลงโทษทั้ง 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา เป็นสิ่งที่ผมไม่เหมาะสมเป็นประธานศาลฎีกา ผมลงโทษพวกค้ายาเสพติด ถูกตำหนิว่า ไม่เหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา ผมก็เงียบ ไม่ว่าอะไร กลืนเลือดตัวเองหมด ยอมรับได้ ผมทำงาน ทำศาลอุทธรณ์ให้เป็นศาลดีเด่น แต่ผมลงโทษผู้ค้ายาเสพติด ผมไม่เหมาะจะเป็นประธานศาลฎีกา ท่านคิดว่ามันถูกต้องหรือไม่”
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงต่อสื่อมวลชน ขอลาออกจากราชการ ภายหลังคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเอกฉันท์ไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และมีกระแสข่าวว่า เตรียมถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เคยไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม นอกจากนี้ยังถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีบริหารงานภายในศาลอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดีต่าง ๆ
สำหรับสาระสำคัญในการแถลงครั้งนี้ นอกเหนือจากการระบุว่า จะลาออกจากราชการแล้ว ยังเชื่อว่า สาเหตุที่ไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา เกิดจากกรณีถูกร้องเรียนในการเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดียาเสพติดอย่างน้อย 3 คดี
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงไทม์ไลน์-ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ทราบ ดังนี้
เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2560 มีกระแสข่าวออกมาว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) เพื่อกลั่นกรองบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการ เพื่อพิจารณาเลื่อนข้าราชการตุลาการเป็นประธานศาลฎีกา คนที่ 44 แทนนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2560 โดยมีชื่อของนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ (ขณะนั้น) เป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ที่จะได้เลื่อนเป็นประธานศาลฎีกานั้น
ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ รายชื่อดังกล่าว ด้วยมติ 19-1 เสียง โดยอนุ ก.ต. หยิบยกเรื่องที่นายศิริชัย ถูกร้องเรียนประเด็นเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดีต่าง ๆ เป็นเหตุผลให้ไม่เห็นชอบ และส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาในวันที่ 3 ก.ค. 2560
ต่อมาในวันที่ 3 ก.ค. 2560 ที่ประชุม ก.ต. มีมติเอกฉันท์ ‘ไม่เห็นชอบ’ นายศิริชัย ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และให้สำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายข้าราชการขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาล็อตใหม่มา ซึ่งหลายคนทราบไปแล้วว่าคือ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ที่อาวุโสลำดับถัดมาจากนายศิริชัย
สิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามมาตลอดคือ ตกลงสาเหตุอะไรที่ทำให้นายศิริชัยไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ทั้งที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุด และตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาในศาลยุติธรรมคือ จะเสนอชื่อข้าราชการตุลาการที่อาวุโสสูงสุดให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ?
ภายหลังที่ประชุม ก.ต. มีมติเอกฉันท์ไม่เลือกนายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา นายศิริชัยได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน 3 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560 นายศิริชัย ตอบโต้สื่อบางแห่งที่อ้างว่า จะดำเนินการฟ้อง ก.ต. และอาจลาออก โดยยืนยันว่า จะไม่ฟ้อง ก.ต. และยอมรับมติของ ก.ต. ในเมื่อไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ตนจะต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานศาลอุทธรณ์ต่อไป
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 หรือถัดมาเพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ นายศิริชัย ตอบโต้กระแสข่าวภายหลังที่ประชุม ก.ต. ตั้งตำแหน่งใหม่ คือ ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา และเตรียมให้นายศิริชัยโยกไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ กรณีเพิกถอนโอนย้ายสำนวน
ในครั้งนี้นายศิริชัยถึงกับ ‘สะอื้น’ ระบุว่า ตำแหน่งใหม่ที่เปิดขึ้นนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อยากพูดให้สถาบันศาลเสีย เพราะพูดไปอาจไม่เชื่อว่าเป็นแบบนี้ ตนโดนกระทำอยู่ตลอด ขออยู่ที่เดิมก็ไม่ให้อยู่ ถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายศิริชัย แถลงผ่านสื่อเป็นครั้งที่สามในรอบเดือน ภายหลังเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 มีการประชุม ก.ต. และสำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายข้าราชการตุลาการ บัญชีที่ 2 ให้นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์แทน ให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป
นายศิริชัย ระบุว่า ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา (นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) เพื่อขอลาออกแล้ว โดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทราบว่านายวีระพล ได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวแล้ว
การแถลงข่าวครั้งที่สาม นายศิริชัย พยายามอธิบายถึงเบื้องลึก-ฉากหลังที่ตนไม่ถูกแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดียาเสพติดในชั้นศาลอุทธรณ์ อย่างน้อย 3 คดี สรุปได้ดังนี้
คดีแรก เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยประธานศาลอุทธรณ์คนก่อน มีคดีหนึ่งฟ้องว่า จำเลย ร่วมกับพวก มียาเสพติดให้โทษ (เมตแอมเฟตามีน) จำนวนมากไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต และให้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต่อมามีการอุทธรณ์ โดยคดีนี้มีผู้ช่วยผู้พิพากษา ที่เรียกกันว่า ผู้ช่วยเล็ก และผู้ช่วยใหญ่ รวมถึงผู้พิพากษาอาวุโสท่านหนึ่ง และรองประธานแผนกคดียาเสพติดท่านหนึ่ง ทักท้วงว่า ปรากฏพยานหลักฐานใหม่เชื่อมโยงได้ว่า จำเลยมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ประธานแผนกคดียาเสพติดเห็นว่า ร่างคำพิพากษาดังกล่าวรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดจริง แต่ประธานศาลอุทธรณ์ขณะนั้น ให้รองประธานศาลอุทธรณ์คนที่หนึ่ง พิจารณาว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือไม่ รองประธานฯรายนี้ ระบุว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ทั้งที่ไม่ได้ตรวจสอบว่า ร่างคำพิพากษามีการปรับแก้ไขแล้วว่า จำเลยมีความผิดจริง ทำให้ในชั้นอุทธรณ์ต้องยกฟ้อง
ทีนี้เมื่อคดียกฟ้องไปแล้ว ประธานศาลอุทธรณ์คนก่อนพ้นตำแหน่ง ต้นรับหน้าที่แทน พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างนี้ปรับแก้ไขแล้ว การสั่งโอนครั้งนี้อาจหลงผิด เมื่อปรับแก้ไขจนครบแล้ว และไม่ได้มีผู้ทักท้วงดูอีกว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานครบแล้ว ปรับแก้แล้ว พบว่า จำเลยกระทำความผิดจริง ตนก็บอกให้ลงโทษไปตามร่างที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้ยกฟ้อง และคดีนี้อ่านให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยยอมรับคำพิพากษาทุกประการ ไม่ต้องออกฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีที่สอง ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยรวม 4 คน เกี่ยวกับคดียาเสพติด จำเลยที่ 1 รับสารภาพ รับโทษ 25 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-4 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยอุทธรณ์ ศาลรับอุทธรณ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนปรับแก้ไขร่าง ผลออกมาว่า พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ผู้ช่วยเล็กบอกว่า ร่างนั้นยังไม่พอฟังให้ลงโทษได้ ต่อมารองประธานแผนกคดียาเสพติดเห็นว่า พอผ่านได้ แต่ประธานแผนกคดียาเสพติดขณะนั้นเห็นว่า ยังผ่านไม่ได้ มีการท้วงกัน ประธานศาลอุทธรณ์ขณะนั้น เสนอให้รองประธานฯคนที่หนึ่งพิจารณาว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือไม่ รองประธานฯคนที่หนึ่ง เห็นว่า กระทบกระเทือนความยุติธรรม ให้โอนสำนวน มีการโอนสำนวนเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2558 ซึ่งในการโอนสำนวนนี้ จะทราบแล้วว่า คำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด ต่อมาเมื่อประมาณเดือน ส.ค. 2558 เรื่องถึงผู้ช่วยเล็ก ต่อมาช่วงเดือน พ.ย. 2558 ผู้ช่วยเล็กจึงเสนอมาถึงตนตอนเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ทราบสาเหตุว่าทิ้งเวลา 6-7 เดือน เพราะอะไร
“เห็นว่ามีพฤติการณ์แปลก ๆ ไม่ควรทิ้งช่วงขนาดนี้ ขณะเดียวกันเจ้าของสำนวนยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาใส่มาเลย ก็เห็นว่า ร่างคำพิพากษาออกไปได้ จึงใช้ร่างเดิมของเขา แล้วลงโทษจำเลยไป จำเลยยอมรับ ไม่ขอฎีกา คดีถึงที่สุด ซึ่งทุกท่านรู้อยู่แล้วคดียาเสพติดเงินมหาศาล ถ้าเขาไม่ทำผิด เขาต้องขอฎีกา บางคน 3 ศาลแล้วยังขอรื้อฟื้นคดีอาญาอยู่เลย”
คดีที่สาม กรณีตนโอนสำนวนคดียาเสพติดคดีหนึ่ง เดิมศาลชั้นต้นยกฟ้อง เจ้าของสำนวนเขียนยกฟ้องตาม แต่ทุกคนท้วงหมด ตั้งแต่ผู้ช่วยเล็ก ผู้ช่วยใหญ่ รองประธานแผนกคดียาเสพติด ประธานแผนกคดียาเสพติด ตนเห็นว่า ร่างนี้ลงโทษได้ จึงถามรองประธานฯคนที่หนึ่งว่า กระทบกระเทือนความยุติธรรมหรือไม่ รองประธานฯคนที่หนึ่ง ระบุว่า กระทบกระเทือนความยุติธรรม ตนจึงต้องสั่งโอนสำนวนให้อีกท่านหนึ่ง ท่านเอาไปเก็บไว้ 20 กว่าวัน ก่อนคืนมา บอกว่าไม่สะดวกใจจะเขียนร่างคำพิพากษาเรื่องนี้
“ความจริงทำไม่ได้ เมื่อมอบหมายก็ต้องเขียน แต่ผมบริหารงานไม่ต้องการใช้ระเบียบเข้มข้น ทำให้การทำงานยก ถ้าบอกว่า ไม่เขียน จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มันก็ภาพลักษณ์ไม่ดี เราอยู่อย่างพี่น้อง เมื่อคืนมาผมก็จ่ายให้คนต่อไป”
“ที่คนกล่าวหาว่า ผมต้องการลงโทษจำเลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นขั้นตอนอย่างที่ว่า ประธานศาลอุทธรณ์คนเดียวไม่มีอำนาจ ถ้ารองประธานฯคนที่หนึ่งบอกว่า ร่างไม่กระทบกระเทือนความยุติธรรม ก็ต้องตีออก ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย แล้วผู้พิพากษาท่านมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จะไปบอกให้ท่านเขียนอย่างนู้นอย่างนี้ไม่ได้”
“การที่ผมลงโทษทั้ง 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา เป็นสิ่งที่ผมไม่เหมาะสมเป็นประธานศาลฎีกา ผมลงโทษพวกค้ายาเสพติด ถูกตำหนิว่า ไม่เหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา ผมก็เงียบ ไม่ว่าอะไร กลืนเลือดตัวเองหมด ยอมรับได้ ผมทำงาน ทำศาลอุทธรณ์ให้เป็นศาลดีเด่น แต่ผมลงโทษผู้ค้ายาเสพติด ผมไม่เหมาะจะเป็นประธานศาลฎีกา ท่านคิดว่ามันถูกต้องหรือไม่”
นี่คือ 3 คดียาเสพติดหลัก ๆ ที่ถูกอนุ ก.ต. หยิบยกขึ้นมาพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมในการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของนายศิริชัย
อย่างไรก็ดีนายศิริชัย ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และเอกสารเหล่านี้เป็นความลับ ไม่ทราบว่าเอาออกกันไปได้อย่างไร และเอาไปเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2558 หรือประมาณ 3 ปีมาแล้ว
ท้ายสุดนายศิริชัย พยายามชี้ให้เห็นว่า สมัยเป็นกรรมการ ก.ต. ตนเป็นหัวหอกในการพิจารณาลงโทษข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่หลายคนออกไป และคนที่ออกไปพัวพันกับคดียาเสพติดด้วย ?
“ถ้าท่านทราบถึงผู้ทำหน้าที่บริหารคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จะทราบว่า ช่วงที่ผมมาอยู่ เขาจะพอใจมากในการปฏิบัติงาน เพราะเราไม่มีการแสวงผลประโยชน์จากคดียาเสพติดเลย ถ้าผมอยากจะรวย ผมทำแล้ว คดียาเสพติดก็รู้ว่ามีมูลค่ามหาศาลเท่าไหร่ โทรศัพท์เครื่องหนึ่งในเรือนจำเท่าไหร่ ผมสามารถหาเงินได้มหาศาล ผมรู้ว่าคนไหนจะยกฟ้อง มาหาผม ผมจ่ายสำนวนให้คนที่จะยกฟ้องเลย ไม่ต้องทำอะไรมาก”
ทั้งหมดคือความในใจแบบ ‘เปิดอก’ ของนายศิริชัย จากข้าราชการตุลาการที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตข้าราชการศาลยุติธรรม ปี 2556 เป็นรองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครโดยทุจริต และวินิจฉัยส่วนตัวว่า อาจมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง จนนำไปสู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปสอบสวนเชิงลึกอยู่ตอนนี้
ต่อมาปี 2558 ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ปี 2559 ทำให้ศาลอุทธรณ์ได้รับรางวัลศาลยุติธรรมดีเด่นประจำปีงบประมาณ 2559 ท่ามกลางแสงสปอร์ตไลต์ที่ฉายลงมา นี่อาจจะเป็นประธานศาลฎีกาคนต่อไป
กระทั่งปี 2560 ชีวิตต้องเข้าสู่จุดหักเห ถึงขนาดต้องยอมลาออกจากราชการ และถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นอยู่ตอนนี้
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นแบบนี้หรือไม่ คงต้องรอติดตามผลการสอบอย่างเป็นทางการต่อไป!
อ่านประกอบ :
ถอยจนไม่มีที่ยืนแล้ว!‘ศิริชัย’เปิดใจลาออกราชการ-‘ธนฤกษ์’นั่ง ปธ.ศาลอุทธรณ์แทน
ยังไงก็อยู่ไม่ได้แล้ว! ปธ.ศาลอุทธรณ์รับลาออกราชการ-แถลงสื่อ 18 ก.ค.
เจ็บปวดรวดร้าว-ขออยู่ที่เดิมไม่ให้อยู่! คำต่อคำ‘ศิริชัย’เปิดใจไม่ได้นั่ง ปธ.ศาลฎีกา
สะอื้น!‘ศิริชัย’ลั่นไม่อยากพูดให้เสีย-ขอสื่อสืบที่มาปมถูกย้ายนั่งที่ปรึกษา ปธ.ศาลฎีกา
เบื้องหลัง วางหมาก เด้ง 'ศิริชัย'-ตั้งกก.สอบซ้ำ ศึกชิงเก้าอี้ปธ.ศาลฎีกา เจ็บแต่(ไม่)จบ!
สะพัด! ก.ต.เด้ง 'ศิริชัย' พ้น ประธานศาลอุทธรณ์นั่งที่ปรึกษาปธ.ฎีกา-ตั้ง กก.สอบซ้ำ
อยู่ที่วาสนา! ‘ศิริชัย’เคารพมติ ก.ต.ไม่เลือกนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ปัดฟ้องกลับ-ลาออก
‘ศิริชัย' ร้องขอความเป็นธรรม ปธ.ศาลฎีกา-เข้าชี้แจงก.ต.ปมถูกร้องเพิกถอนโอนสำนวน!
สนง.ศาลยุติธรรม ตั้งแท่นชงชื่อ 'ชีพ จุลมนต์' ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่แล้ว
ระวัง! ซ้ำรอยวิกฤตตุลาการ เมื่อ อนุก.ต.ไม่เห็นชอบเสนอชื่อ'ศิริชัย วัฒนโยธิน' ปธ.ศาลฎีกา
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายศิริชัยจาก ไทยโพสต์