"ก.ศป." โต้ "หัสวุฒิ"รอบสอง! ข้ออ้างศาลถูกฝ่ายการเมืองยึด ไม่มีมูลความจริง
"..เวลานี้ยังมีคนของฝ่ายการเมืองในทุกองค์กรสำคัญของชาติรวมถึงในศาลปกครอง กลุ่มตุลาการของฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดอำนาจในศาลปกครองได้แล้ว และศาลถูกฝ่ายการเมืองยึดไปโดยกำจัดคนดีออกไปนั้น ...ข้ออ้างของประธานศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงไม่มีมูลความจริง.."
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่ข่าวศาลปกครอง ชี้แจงกรณีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน 2558 ( อ่านประกอบ : “หัสวุฒิ”แถลงซ้ำ! อ้างการเมืองภายใน -คดีความมั่นคง โดนแกล้งปม จม.น้อย) ซึ่งถือเป็นการชี้แจงรอบที่สอง หลังจากก่อนหน้านี้ นายหัสวุฒิ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวอ้างว่า มีการถ่วงเวลาการสอบสวนคดีจดหมายน้อยฝาก ตำรวจให้มีความล่าช้า (อ่านประกอบ : "หัสวุฒิ"รอดคดีคลั่งพลังจิต! ศาลปค.แจงตั้งกก.สอบทุกกรณีทำตามขั้นตอนกม.)
โดยการชี้แจงรอบที่สองของสำนักงานศาลปกครอง ระบุว่า ตามที่สำนักงานศาลปกครองได้ชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริงกรณีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๘ เกี่ยวกับการถูกพักราชการและการดำเนินการสอบสวนหลายประการ ปรากฏตามเอกสารข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ ๖๙/๒๕๕๘ และต่อมาเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘ ประธานศาลปกครองสูงสุดได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งปรากฏเอกสารในกรณีดังกล่าวด้วย นั้น
สำนักงานศาลปกครองจึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
๑. กรณีกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมาก กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เห็นว่าไม่มีมูล จึงต้องยุติเรื่องว่าไม่มีความผิด แต่ ก.ศป. ได้ให้คณะกรรมการสอบสวนสอบสวนใหม่ โดยให้มาชี้แจงเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดแจ้งว่าได้ยื่นเอกสารชี้แจงไปแล้ว ๑๐ กว่าหน้า จึงไม่มีอะไรชี้แจงแล้ว ซึ่งเข้าใจได้ว่าหากศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว ศาลสูงซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินเสียงข้างมากของศาลชั้นต้น จะสั่งให้ศาลชั้นต้นไปพิจารณาใหม่ตามเสียงข้างน้อยของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ นั้น
สำนักงานศาลปกครองขอชี้แจงว่า คณะกรรมการสอบสวนแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วเสร็จ ก็ต้องทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อ ก.ศป. พิจารณาต่อไป ซึ่ง ก.ศป. มีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่าตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่และมีกรณีต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการสอบสวนให้ถูกต้องได้ การทำเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่อาจเปรียบเทียบได้กับการมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และการพิจารณาของ ก.ศป. ก็ไม่อาจเปรียบเทียบได้กับคำพิพากษาของศาลสูง
ทั้งนี้ ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหา ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก
ให้คณะกรรมการสอบสวนมีหนังสือส่งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อเริ่มการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและอธิบายข้อกล่าวหา โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิชี้แจงและให้ถ้อยคำได้ และหลังจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาอย่างไร และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงหรือไม่ชี้แจงก็ได้ หรือจะยืนยันตามคำชี้แจงที่ให้ไว้ในครั้งแรกก็ได้ ซึ่งหากชี้แจงว่าไม่มีประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติม การสอบสวนในขั้นตอนนี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น การดำเนินการของ ก.ศป. จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
๒. กรณีกล่าวอ้างว่า การสอบสวนใช้เวลาถึง ๖ เดือน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๕๘ นี้ กรรมการสอบสวนท่านหนึ่งจะเกษียณอายุราชการ จะมีการตั้งกรรมการอื่นซึ่งเป็นคนของตนเองและลงมติด้วยเสียงข้างมากว่าประธานศาลปกครองสูงสุดมีความผิด นั้น
ขอชี้แจงว่า หลังจาก ก.ศป. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ก.ศป. มีความเห็นว่าสมควรหารือไปยัง ก.พ. ว่ากรรมการสอบสวนที่เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่ ก.พ. แต่งตั้งมีคุณสมบัติสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นกรณีที่เข้าข่ายตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ จึงมีหนังสือขอให้สำนักงาน ก.พ. เสนอเรื่องดังกล่าว ให้ ก.พ. พิจารณา ในที่สุด เมื่อสำนักงาน ก.พ. มีหนังสือแจ้งยืนยันกรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเช่นเดิม ก.ศป. จึงมีมติรับทราบและมีหนังสือยืนยันความเห็นเดิมไปยังสำนักงาน ก.พ. และได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการสอบสวนเริ่มดำเนินการสอบสวน ซึ่งในระหว่างการสอบสวน ก.ศป. ได้เห็นชอบและอนุมัติให้คณะกรรมการสอบสวนขยายระยะเวลาการสอบสวนตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ ตลอดมา ส่วนกรณีที่สิ้นเดือนกันยายนนี้ จะมีกรรมการสอบสวนท่านหนึ่งจะเกษียณอายุราชการนั้น คณะกรรมการสอบสวนได้เสนอรายงานผลการสอบสวนต่อ ก.ศป. โดยปรากฏความเห็นของกรรมการแต่ละท่านมาแล้ว การเกษียณอายุราชการจึงไม่กระทบต่อความเห็นของกรรมการดังกล่าว
๓. กรณีกล่าวอ้างว่า ในคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี มีตุลาการในศาลปกครองสูงสุดชุดหนึ่ง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล โดยให้การเพิกถอนคำสั่งมีผลเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้ว ๖๐ วัน ประธานศาลปกครองสูงสุดได้นำคดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเสียงข้างมากมีมติให้เพิกถอนคำสั่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นไม่พอใจประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นอย่างยิ่ง
อันเป็นที่มาที่จะต้องกำจัดประธานศาลปกครองสูงสุดให้พ้นจากศาลปกครองให้ได้ นั้น ขอชี้แจงว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดองค์คณะที่พิจารณาคดีดังกล่าวมีความเห็นว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว แต่เห็นว่าคำพิพากษาของศาลอาจมีผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ และไม่ได้เข้ามาในคดีกับกระทบต่อความต่อเนื่องของการปฏิบัติราชการ จึงสมควรเพิกถอนประกาศดังกล่าวให้มีผลเมื่อครบกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่าสมควรเพิกถอนประกาศดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ดังนั้น ความเห็นขององค์คณะและความเห็นของที่ประชุมใหญ่ตุลาการใน
ศาลปกครองสูงสุด จึงมีความเห็นตรงกันว่าประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ไม่สอดคล้องกันว่าจะให้คำสั่งดังกล่าวมีผลเมื่อใดเท่านั้น ซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด
๔. กรณีกล่าวอ้างว่า ในคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐบาลยินยอมให้ประเทศกัมพูชานำข้อตกลงไปใช้ในการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ทำให้รัฐบาลไม่พอใจอย่างยิ่ง และได้ใช้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดชุดหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวจนมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น
ขอชี้แจงว่า คดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยห้ามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและการดำเนินการตามมติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประธานศาลปกครองสูงสุดดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในองค์คณะที่ ๔ ซึ่งมิใช่องค์คณะที่มีคำสั่งในคดีดังกล่าว และประธานศาลปกครองสูงสุด
ซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีดังกล่าว และกรณีที่มีผู้นำเรื่องไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรณีใดเกี่ยวข้องกับประธานศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด
๕. กรณีกล่าวอ้างว่า คดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำให้ฝ่ายการเมืองในขณะนั้นไม่พอใจอย่างยิ่งนั้น คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ซึ่งขณะนั้นประธานศาลปกครองสูงสุดดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในองค์คณะที่ ๕ ซึ่งไม่ใช่องค์คณะที่มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีดังกล่าว อีกทั้งคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด
๖. ส่วนที่กล่าวอ้างว่า เวลานี้ยังมีคนของฝ่ายการเมืองในทุกองค์กรสำคัญของชาติรวมถึงในศาลปกครอง กลุ่มตุลาการของฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดอำนาจในศาลปกครองได้แล้ว และศาลถูกฝ่ายการเมืองยึดไปโดยกำจัดคนดีออกไปนั้น
ขอชี้แจงว่า การสรรหาตุลาการศาลปกครองรวมถึงการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๙ คน ที่ได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองทั้งหมด และกรรมการตุลาการ
ศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๓ คน ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา การดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครอง จึงมีกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการกระทำโดยองค์คณะและมีกระบวนการและขั้นตอนตามที่กำหนดในกฎหมายและระเบียบวิธีพิจารณา ข้ออ้างของประธานศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงไม่มีมูลความจริง
สำนักงานศาลปกครอง
วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘
อ่านประกอบ :
“หัสวุฒิ”แถลงซ้ำ! อ้างการเมืองภายใน -คดีความมั่นคง โดนแกล้งปม จม.น้อย
23 ก.ย.วันชี้ชะตา"หัสวุฒิ" ก.ศป. นัดลงมติคดีจม.น้อย "พ้นผิด-ให้ออก-ไล่ออก"
"หัสวุฒิ"เจอคดีที่สอง! ก.ศป.ลงมติสั่งตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรง กรณียกยอดฉัตร
เปิดทุกคดี! ชะตากรรม“หัสวุฒิ”ในศาล ปค.หลังขอความเป็นธรรมปม จม.น้อย
“หัสวุฒิ”ขอความเป็นธรรมคดี จม.น้อย อ้างถูกเลื่อยขาเก้าอี้-เงินบาทเดียวยังไม่โกง
"หัสวุฒิ"อ่วม!ก.ศป.สั่งสอบเพิ่ม 4คดีรวด"ยกฉัตร-ใกล้ชิดคู่ความ-รถ-ญาติ"
ก.ศป.มีมติ 8:3 สั่งพักราชการ “ปธ.ศาลปกครองสูงสุด"คดีจม.น้อยฝาก ตร.