‘วลัย นวาระ’ เพชรเม็ดงามเเห่งสวนอักษร
“ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าใครจะเป็นพระเอก ยกเว้น ‘ซี ศิวัฒน์’ (ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่ไม่ใช่บทบาทหม่อมเจ้าสุริยกานต์ หรือคุณชายธมกานต์ แต่เหมาะสมกับเพชรเทพกานต์มากกว่า”
เมื่อไม่นานมานี้ ‘พราวกระซิบ’ มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนสตรีอาวุโส ‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ เจ้าของรางวัลนราธิป ปี 2555 ผู้เสกสรรปั้นแต่งบันเทิงอักษรผ่านนามปากกาอมตะ ไม่ว่าจะเป็น วลัย นวาระ, จามรี พรรณชมพู, นลิน บุษกร หรือชมนาด ชวัลนุช ซึ่งสร้างความสุขแก่นักอ่านรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เสมอมา
แม้วัยจะล่วงเลยย่างเข้าสู่ 83 ปีแล้ว แต่คุณศรีเฉลิมยังคงแข็งแรง เดินเหินไปมาสะดวก ซึ่งตลอดชีวิตที่ผ่านมาเธอมีหนังสือเป็นเพื่อนตั้งแต่จำความได้ และด้วยความชื่นชอบอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ จึงทำให้แตกฉานด้านภาษา กระทั่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินสู่ถนนนักเขียนสายนี้
“ดิฉันชอบอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีวรรณกรรมไทย จำได้ว่า สมัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่ชุมพร คุณพ่อจะมีหนังสือประเภทนี้ในตู้จำนวนมาก ซึ่งเล่มแรกที่ได้อ่าน คือ The Tempest ประพันธ์โดย วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)”
คุณศรีเฉลิมบอกว่า แท้จริงแล้วเธอชอบอ่านหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่งานเขียนของเชคสเปียร์จนถึงการ์ตูนอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องลึกลับ แต่ปัจจุบันอ่านไม่ค่อยไหว ด้วยวัยที่สูงขึ้น ทำให้ตาฝ้าฟาง ดังนั้นจึงเลือกเปิดอ่านจากด้านหลังของเล่ม เพียงให้รู้ว่าใครเป็นผู้ร้ายก็พอ
“สตีเฟน เอ็ดวิน คิง (Stephen Edwin King) นักเขียนเขย่าขวัญชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า เกลียดที่สุดคนที่ชอบพลิกอ่านเรื่องจากด้านหลังของเล่ม แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเราแก่แล้วก็ต้องใช้วิธีอ่านแบบนี้ (หัวเราะ)”
กระทั่งคุณศรีเฉลิมย้ายมาอาศัยกับคุณย่าที่กรุงเทพฯ ไม่มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อเห็นคุณย่ากับคุณอาอ่านหนังสือ เธอก็เลือกอ่านบ้าง อ่านไปอ่านมา เริ่มอยากเขียน เริ่มต้นด้วยการเขียนนิทานในสมุด ได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่จำความได้ ฝันอยากเป็นนักเขียนมาตลอด
สมัยเด็ก ๆ เธอแอบสงสัยว่า ชาติก่อนคงเคยเป็นนักเขียน เมื่อโตขึ้นจึงพยายามนั่งสมาธิเพื่อระลึกชาติ (หัวเราะ) ไม่ใช่เพื่อใจสงบ
นวนิยายหลายสิบเล่ม หลากนามปากกา ถูกจัดเก็บไว้อย่างดีภายในบ้านสีขาวใจกลางย่านอโศก โอบล้อมด้วยตึกสูงระฟ้ามองไกลสุดลูกหูลูกตา ประกาศก้องให้โลกรู้ว่า คุณศรีเฉลิม คือ นักเขียนนวนิยายอันดับต้นของไทย แต่กว่าที่เธอจะโลดแล่นอย่างมั่นคงนั้น
คุณศรีเฉลิม เล่าว่า เริ่มต้นเขียนงานจริงจังตอนอายุ 17 ปี ครั้งนั้นชื่นชอบดาราภาพยนตร์มาก จึงเขียนบทความน่ารัก ๆ ส่งนิตยสารตุ๊กตาทอง ครั้งแรกเป็นเรื่องราวความรักของโรเบิร์ต จอห์น แวกเนอร์ (Robert John Wagner) กับคนรัก ซึ่งกอง บก.ตอบรับอย่างดี และเชิญชวนให้ส่งเข้าไปอีก
“ดิฉันเขียนเรื่องส่วนตัวดารา แนะนำดาราดาวรุ่ง ซุบซิบดารา โดยจะจดไว้ในสมุด เรื่องไหนดีก็ส่ง เรื่องไหนไม่เข้าท่าก็ไม่ส่ง เรียกว่าช่วงนั้นมีความสุขมาก”
หลังเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณศรีเฉลิมเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งหน้าที่แปลเอกสาร กรมประมวลข่าวราชการแผ่นดิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประมวลข่าวกลาง ทำงานเรื่อยมา รู้สึกตัวอีกทีอายุ 36 ปี แล้ว จึงตัดสินใจเขียนนวนิยายตามความฝันเสียที
นวนิยายเรื่องแรกที่คุณศรีเฉลิมเขียน คือ ‘รักแรก’ ตามมาด้วย ‘วิมานใจ’ ซึ่งทั้งสองเรื่องใช้นามปากกา วลัย นวาระ แต่เธอไม่ถนัดเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เพราะไม่ค่อยรู้เรื่อง จำ ค.ศ.หรือ พ.ศ. ไม่ได้ คนจะเขียนเรื่องประเภทนี้ต้องมีพื้นฐานแน่น ดังนั้นคิดว่า ‘โรแมนติก’ จึงเหมาะสมกับเธอมากกว่า
ทั้งนี้ ทราบกันดีว่า ด้วยรสอักษรเรียบง่าย เข้าถึงอารมณ์ผู้อ่าน ทำให้นวนิยายหลายเรื่องถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละคร อาทิ ทายาทป๋องแป๋ง เงากามเทพ คุณหญิงจอมแก่น รักปาฏิหาริย์ วิมานทราย ผัวเชลย ซึ่งเรื่องหลังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อหลายสิบปีก่อน โดยคุณคมน์ อรรฆเดช
คุณศรีเฉลิม เล่าเพิ่มเติมถึง ‘ผัวเชลย’ ด้วยอารมณ์ขันว่า ตั้งแต่เป็นภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีใครกล้านำไปสร้างต่ออีกเลย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละคร เพราะมีฉากเซ็กส์ แต่เธอกลับมองไม่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ คิดไปคิดมา น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้มากกว่า
“คุณแดง (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) ขอเปลี่ยนชื่อจากผัวเชลย เป็นเชลยใจ หรือเชลยรัก แต่ก็ไปไม่รอด บางคนจึงบอกดิฉันให้ขายเรื่องนี้แก่ผู้จัดในเคเบิลทีวี ซึ่งน่าจะผลิตเป็นละครได้ (หัวเราะ)”
‘ดาวแข่งเดือน’ เป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่คุณศรีเฉลิมอยากให้สร้างเป็นละคร เพราะ ‘น้ำเน่า’ ดี
แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้คุณศรีเฉลิม มั่นใจเกินร้อยว่า อยากให้นวนิยาย ‘ชุดเทพกานต์’ โลดแล่นหน้าจอแก้วเสียที ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง หม่อมเจ้าสุริยกานต์, คุณชายธมกานต์, พธูเทพกานต์ และเพชรเทพกานต์ ซึ่งปัจจุบันช่อง 7 ซื้อลิขสิทธิ์ไว้แล้ว
เชื่อว่าจะโด่งดังไม่แพ้ ‘สุภาพบุรุษจุฑาเทพ’ ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อหลายปีก่อน
คุณศรีเฉลิม กล่าวว่า สมัยก่อน หม่อมเจ้าสุริยกานต์ เกือบได้สร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว โดยหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา พระชายาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) วังละโว้ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้ วางตัวให้ ‘ภิญโญ ทองเจือ’ รับบทพระเอก แต่ติดปัญหาการเซ็นสัญญา ประกอบกับ ‘แหวนทองเหลือง’ ขาดทุน จึงพับโครงการไป
“ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าใครจะเป็นพระเอก ยกเว้น ‘ซี ศิวัฒน์’ (ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่ไม่ใช่บทบาทหม่อมเจ้าสุริยกานต์ หรือคุณชายธมกานต์ แต่เหมาะสมกับเพชรเทพกานต์มากกว่า”
แม้เวลาจะผ่านเลยไป แต่ภาษายังคงเป็นเอกลักษณ์ของคุณศรีเฉลิม “เคยมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งขอพิมพ์หม่อมเจ้าสุริยกานต์ แต่มีข้อแม้ว่า ขอเปลี่ยนภาษาให้เป็นปัจจุบัน เช่น สิ เป็น อะดิ หรือ ไปไหม เป็น ไปป่ะ ซึ่งดิฉันไม่ยอม เพราะนั่นคือความคลาสสิค”
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันคนอ่านหนังสือน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างชาติ แต่เธอไม่กังวล เพราะเมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ คงสิ้นใจแล้ว เกิดมาชาติหน้าอีก 150 ปี ค่อยเรียนรู้เทคโนโลยีกันใหม่
ก่อนทิ้งท้ายว่า จะยืนหยัดเขียนนวนิยายในสมุดลายไทยต่อไป ตราบจนลมหายใจสุดท้าย .