- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- จับตา'ผู้ว่าฯสตง.' สัญจรตรวจงานแหล่งน้ำสทภ.9 ระวัง (เสียรู้) ถูกยืมมือช่วยคนผิด?
จับตา'ผู้ว่าฯสตง.' สัญจรตรวจงานแหล่งน้ำสทภ.9 ระวัง (เสียรู้) ถูกยืมมือช่วยคนผิด?
"..หากสตง.ไปยอมรับข้อเสนอไม่สั่งยกเลิกโครงการทั้งหมด ก็จะเข้าทางข้าราชการบางกลุ่ม ที่ต้องการหาทางเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ให้กับตัวเอง ไม่ให้ผู้รับเหมาออกมาโวยวาย ทวงคืนเงินล่วงหน้าที่ไปเรียกเก็บมาก่อนแล้ว.."
"ราชการคงจ่ายเงินให้ไม่ได้ ซึ่งผู้รับหมาทำได้ 2 ทาง คือ ต้องปรับแก้ไขงานใหม่จนกว่าจะถูกต้องและเสียค่าปรับ หรือ ไม่ก็หาพื้นที่ที่เหมาะสมอื่นแล้วสร้างชดใช้ให้ใหม่"
คือ คำยืนยันของ นางภัทรา โชว์ศรี ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 10 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ให้ไว้กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ปี 2559 ของ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 (สทภ.9) ที่รับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ ซึ่งตั้งงบประมาณโครงการละ 5 แสนบาท ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2559 จำนวน 395 โครงการ จากยอดรวมโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 ทั่วประเทศ จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท
ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า การดำเนินงานมีข้อผิดพลาดหลายส่วน อาทิ สร้างไม่ตรงตามรูปแบบรายการ พื้นที่ไม่เหมาะสม ดำเนินงานก่อนทำสัญญาจ้าง และยังไม่ได้มีการทำประชามติของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น และเตรียมที่จะสรุปรายงานเป็นทางการ แยกผลการตรวจสอบออกเป็นส่วนๆ ส่งเรื่องให้สตง.ส่วนกลางพิจารณาตามขั้นตอนในเร็วๆ นี้
(อ่านประกอบ :สั่งอายัดเอกสาร-ห้ามจ่ายเงิน!สตง.ภาค10 ยันปรับปรุงแหล่งน้ำสทภ.9 สร้างผิดแบบเพียบ)
ไม่ว่าผลสอบโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ปี 2559 ของ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ที่สตง.ภาค 10 อยู่ระหว่างการสรุปผลจะออกมาเป็นอย่างไร
แต่มีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ของ 'ผู้รับเหมา' ที่เข้ามารับงานโครงการฯ นี้ ที่ต้องจับตามองอยู่ไม่น้อย
เพราะล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากตัวแทนผู้รับเหมาบางรายว่า ในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. ที่จังหวัดน่าน และพิษณุโลก ในช่วงวันที่ 30-31 ก.ค.2559 นี้
กลุ่มผู้รับเหมา จะพยายามหาทางเข้าพบผู้ว่าฯ สตง. เพื่อขอต่อรองไม่ให้สตง.สั่งยกเลิกการดำเนินงานโครงการทั้งหมด แต่จะขอเข้ามาแก้ไขงานเป็นจุดๆ ไปแทน
"เราลงทุนกับโครงการไปมาก ทั้งในส่วนของงบงานก่อสร้าง รวมถึงเงินล่วงหน้า ที่จ่ายให้กับข้าราชการบางกลุ่มไปก่อนหน้านี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้ามารับงาน ซึ่งหาก สตง.ยืนยันให้ยกเลิกโครงการทั้งหมด จะทำให้ฝ่ายผู้รับเหมาเสียหายเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท ฝ่ายที่ไม่เดือนร้อนอะไรก็คือ กลุ่มข้าราชการที่ได้รับเงินล่วงหน้าไปแล้ว" ผู้รับเหมารายหนึ่งยืนยัน
ตัวแทนผู้รับเหมารายนี้ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้รับเหมา ได้รับการประสานข้อมูลวงในจากคนในกรมทรัพยากรน้ำว่า ทาง ผู้ใหญ่ ได้พยายามติดต่อเพื่อขอเคลียร์เรื่องนี้กับสตง.แล้ว และได้รับการยืนยันว่า เคลียร์ได้แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
"ทางออกของเรื่องนี้ที่จะเกิดขึ้น คือ สตง.จะไม่สั่งยกเลิกงาน แต่จะให้ผู้รับเหมาเข้ามาปรับแก้ไขงานบางจุด อันไหนปล่อยผ่านได้ก็ปล่อยผ่านไป เนื่องจากขณะนี้ราชการยังไม่ได้จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมา จึงยังไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น และจะไม่ลงโทษเอาผิดผู้รับเหมา แต่ทางผู้รับเหมาก็ยังไม่แน่ใจว่า ข้อมูลนี้จริงเท็จประการใด จึงอยากจะพบผู้ว่าฯ สตง. เพื่อขอคำยืนยันในเรื่องนี้เป็นทางการ"ตัวแทนผู้รับเหมาระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำ ได้ติดต่อที่จะส่งผู้บริหารรายหนึ่งมาพบผู้ว่าฯ สตง. เพื่อขอเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ แต่เนื่องจากผู้ว่าฯ สตง. ไม่ได้ตอบรับ จึงไม่แน่ใจว่า ผู้ว่าฯ สตง. ได้มีการพบปะพูดคุยกับ ผู้บริหารของ กรมทรัพยากรน้ำไปหรือยัง
แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ยังระบุด้วยว่า ส่วนที่มีคนไปปล่อยข่าวว่า ทางกรมทรัพยากรน้ำ เคลียร์ปัญหาเรื่องนี้กับผู้ว่าฯ สตง. เรียบร้อยแล้ว ไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะการทำงานของผู้ว่าฯ สตง. คนปัจจุบันยึดหลักเรื่องการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของเงินแผ่นดินเป็นสำคัญ
"ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ เท่าที่ทราบ จุดเริ่มต้น มาจากความเร่งรีบในการดำเนินโครงการ ทั้งที่ ไม่พร้อมหลายด้าน และรองปลัดกระทรวงทรัพย์รายหนึ่ง ก็เคยออกมาคัดค้านไปแล้ว แต่กรมทรัพยากรน้ำ ก็ยังเดินหน้าทำโครงการต่อไป"
"ขณะที่การดำเนินการก็มีการตั้งงบประมาณโครงการแห่งละ 5 แสน เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้วิธีการตกลงราคาคัดเลือกผู้รับเหมา และถูกร้องเรียนว่ามีข้าราชการบางกลุ่มไปเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจากผู้รับเหมาก่อน เป็นจำนวนเงินสูง 25-26 % ของมูลค่างาน ผู้รับเหมาบางรายได้รับงานในพื้นที่จำนวนมาก บางรายก็นำไปจ้างช่วงงานต่อ ผู้รับเหมาบางรายจากกรุงเทพ ก็ถูกส่งไปร่วมทำงานด้วย"
"หากสตง.ไปยอมรับข้อเสนอไม่สั่งยกเลิกโครงการทั้งหมด ก็จะเข้าทางข้าราชการบางกลุ่ม ที่ต้องการหาทางเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ให้กับตัวเอง ไม่ให้ผู้รับเหมาออกมาโวยวาย ทวงคืนเงินล่วงหน้าที่ไปเรียกเก็บมาก่อนแล้ว และมีข่าวว่าผู้ว่าฯ สตง. จะสั่งยกเลิกโครงการทั้งหมดด้วยซ้ำ" แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ
ทั้งนี้ หากพิจารณาความเห็นของแหล่งข่าวจาก สตง. ที่ชี้แจงตอบโต้กลับมา บวกกับคำยืนยันของนางภัทรา โชว์ศรี ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 10 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ให้ไว้กับสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้
จะพบว่าขณะนี้มีแนวโน้มไปได้สูง ที่แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ของ สตง. จะออกมาเป็น 2 ทาง คือ 1.ให้ผู้รับหมาที่ได้รับงานไปแล้ว ต้องปรับแก้ไขงานใหม่จนกว่าจะถูกต้องและเสียค่าปรับ หรือ 2. หาพื้นที่ที่เหมาะสมอื่นแล้วสร้างชดใช้ให้ใหม่ แต่หากผู้รับเหมา ไม่ดำเนินการอะไร ก็จะทำเรื่องไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สั่งทบทวนโครงการที่มีปัญหาไปทั้งหมด
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญประการเดียว คือ ราชการจะต้องไม่เสียหาย หรือเสียประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการนี้ และต้องไม่ปล่อย บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด ที่กระทำความผิด ลอยนวลและได้รับประโยชน์จากการตัดสินใจของสตง.ในครั้งนี้
ส่วนผลการตัดสินของผู้ว่าฯ สตง. จะเป็นไปตามนี้ หรือมีอะไรเปลี่ยนแปลง คงต้องฟังท่าทีหลังเดินทางกลับจากการตรวจสอบโครงการในพื้นที่เป็นทางการอีกครั้ง!
ขณะที่ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนี้โดยด่วน
เพราะต้องไม่ลืมว่า ในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
ระบุไว้ชัดเจนว่า
ข้อ 1 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้
ข้อ 2 ในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือพบเหตุอันควรสงสัยว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารการเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ประกอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล โดยให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
ข้อ 3 ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด
ข้อ 4 กรณีหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามข้อ 2 และ ข้อ 3 ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี
กรณีการดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ปี 2559 ถูกสตง.ตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินงานจำนวนมาก และถูกระบุว่ามีกลุ่มข้าราชการ ไปเรียกเงินล่วงหน้าจากผู้รับเหมา ที่เข้ามารับงานจำนวนหลายร้อยล้านบาท
ผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรฯ และกรมทรัพยากรน้ำ ไม่คิดจะดำเนินการอะไรตามคำสั่งคสช.ฉบับนี้ บ้างเลยหรือ?
หรือ เรื่องบางอย่าง 'มันพูดไม่ได้ คายไม่ออก' ตามที่คนใน กระทรวง-กรม ว่ากันว่าไว้จริงๆ
อ่านประกอบ :
งานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา
ปูดเบื้องหลังงานปรับปรุงแหล่งน้ำ 818 ล.หัวคิวพุ่ง 204 ล.-ปลัดทส.ท้าสื่อตรวจสอบ
เปิดช่องตกลงงานก่อนทำสัญญา! สตง.จี้ทส.ทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล.
เปิดบันทึก'รองปลัด& สตง.' โต้ ทส. ยันไส้ในปรับปรุงแหล่งน้ำ818 ล.ปัญหาเพียบ!
พบสร้างผิดแบบ355สัญญา! สตง.ลุยเช็คบิลตั้งงบแห่งละ5แสนปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์ 818 ล.
ขมวดปม!งานปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์818ล.ตั้งงบแห่งละ5แสน-เงินทอนผู้รับเหมาโผล่?
เจาะไส้ในปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์6จ.182ล.! สัญญามีปัญหาเพียบเกือบ100%
เผยชื่อ'หจก.' ขาใหญ่ปรับปรุงแหล่งน้ำสทภ.9! ก่อนได้งานงบแห่งละ5แสน ร้อยสัญญารวด
สั่งอายัดเอกสาร-ห้ามจ่ายเงิน!สตง.ภาค10 ยันปรับปรุงแหล่งน้ำสทภ.9 สร้างผิดแบบเพียบ