- Home
- Investigative
- บทความและบทวิเคราะห์
- ต้องทลาย (ความฉ้อฉล?) จัดซื้ออาหาร‘นักโทษ’ 5 พันล.ที่กรมราชทัณฑ์
ต้องทลาย (ความฉ้อฉล?) จัดซื้ออาหาร‘นักโทษ’ 5 พันล.ที่กรมราชทัณฑ์
"...เป็นเรื่องประหลาด!ที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กำกับกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แม้กระทั่ง คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) องค์กรเฉพาะกิจของรัฐบาล หูหนวก ตาบอด ไม่ได้กลิ่น?.."
ข่าวชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปี คือกรณีจัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ ประมาณ 3 แสนคน ปีละเกือบ 5,000 ล้านบาทที่ถูกร้องเรียนอย่างหนักว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่หน่วยงานรัฐและเอกชนรายใหญ่บางราย
เพื่อให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ขอสรุปข้อเท็จจริงให้เห็นดังนี้
ผู้เกี่ยวข้อง (stakeholder) ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ หน่วยงานของรัฐคู่สัญญา 4 แห่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (บางจังหวัด) ผู้บัญชาการเรือนจำ ฝ่ายจัดซื้อและพัสดุของเรือนจำ และเอกชน
การจัดซื้ออาหารดิบ สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ที่ทำกันมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (งบประมาณ 2556-2558) กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีจัดซื้อโดย ‘วิธีกรณีพิเศษ’ อ้างเหตุผลหลักเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำ (ก่อนหน้านี้จัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Auction)
‘วิธีกรณีพิเศษ’ก็คือ จัดซื้อจากหน่วยงานของรัฐที่ได้รับ ‘สิทธิพิเศษ’ 4 แห่งตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ องค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.)
แนวปฏิบัติ ‘ปกติ’ ก็คือ
1.อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะมีหนังสือมอบอำนาจให้เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขัง ประมาณ 140 แห่งทั่วประเทศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ลงนามในสัญญา บอกเลิกสัญญาเอง
2.เรือนจำแต่ละแห่งก็จะส่งหนังสือถึงหน่วยงานอย่างน้อย 3 แห่งให้เข้ามาเสนอราคาโดยแจ้งถึงราคากลาง แล้วคัดเลือกผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ และจัดการทำสัญญากับเรือนจำ
แต่เงื่อนปมอยู่ตรงนี้
1.กรมราชทัณฑ์โดยอธิบดีจะมีหนังสือแจ้งให้เรือนจำในช่วงต้นเดือนกันยายน (ปีล่าสุดแจ้งช่วงกลางเดือน) ซึ่งใกล้ระยะเวลาสิ้นสุดปีงบประมาณ
2.เรือนจำต่างๆซึ่งจะมีคู่ค้าเดิมอยู่ก่อนแล้ว เรือนจำแห่งนั้นจะส่งหนังสือแจ้งให้หน่วยงานเข้ามาเสนอราคาเพียง 2-3 ราย โดยเป็นหน่วยงานที่คุ้นเคยสนิมสนมกันมาก่อนเป็น ‘ตัวหลัก’ และจะมีหน่วยงานอีก 1 แห่งเป็นตัวประกอบ หรือ ‘คู่เทียบ’ราคาด้วย
3.การจัดซื้อบางแห่ง หน่วยงานของรัฐที่ถูกเชิญชวนให้เข้าร่วมเสนอราคา จะทำหนังสือ(ใช้หัวหนังสือของหน่วยงาน)จะมอบอำนาจให้เอกชนเสนอราคาแทน และยังให้เอกชนมีอำนาจต่อรองราคาเองเสร็จสรรพ
4. กระบวนการจัดซื้อ (ขั้นตอนทางเอกสาร) ได้แก่ การเสนอราคา เปิดซองราคา และอนุมัติจัดซื้อ มักจะเกิดขึ้นในวันเดียว คือวันท้ายๆของปีงบประมาณ เช่น 29-30 ก.ย. เป็นต้น
5. เมื่อผ่านการอนุมัติจัดซื้อแล้ว หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญาก็จะไปตั้งเอกชนเป็น 'ตัวแทน' หรือ ‘ตัวแทนช่วง’ จัดหาอาหารดิบอีกทอดหนึ่ง
6.เอกชนที่เป็น ‘ตัวแทน’หรือ ‘ตัวแทนช่วง’ จากหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญา บางรายเป็นรายเดียวกับ 'ผู้รับมอบอำนาจ' จากหน่วยงานของรัฐให้เสนอราคาต่อเรือนจำ เท่ากับเป็นผู้รับมอบอำนาจให้เสนอราคาด้วย และเป็นตัวแทนช่วงด้วย
7. 'ตัวแทน'หรือ ‘ตัวแทนช่วง’ของเรือนจำรายนั้นจะเป็นตัวแทนของเรือนจำแห่งอื่นๆ บางแห่งเป็นเครือญาติ หรือ ลูกจ้าง กลุ่มอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ สลับหน้ากันเป็นตัวแทน จากการตรวจสอบพบว่า เอกชนกลุ่มใหญ่ๆประมาณ 5 รายหรือเรียกกันว่า ‘5 เสือค้าอาหารดิบ’
เพราะฉะนั้น เมื่อมีผู้เสนอราคาหลักเพียงรายเดียว มีหน่วยงานอื่น 1 แห่ง เป็น คู่เทียบ (ตัวประกอบ) วงเงินการจัดซื้อในแต่ละปีจึง ‘ไม่ห่าง’จากราคากลางมากนัก (0-2%)
นี่คือวงจร (อุบาทว์?) แห่งการจัดซื้ออาหารดิบของผู้ต้องขังในแต่ละปี และถูกร้องเรียนอย่างหนักว่ามีการ‘ฮั้ว’กันอย่างมโหฬาร!
ล่าสุด ปีงบประมาณ 2559 กรมราชทัณฑ์ สั่งให้เรือนจำใช้วิธี ‘ตกลงราคา’ หรือ วิธีพิเศษ ไปอีก 2 เดือน (วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย.58) เท่ากับเป็นออกตั๋วหรือ‘ใบเบิกทาง’ให้จัดซื้อ ‘วิธีพิเศษ’จากหน่วยงานรัฐคู่ค้าเดิมที่ได้รับสิทธิพิเศษอีกรอบ ไม่กี่วันถัดมาก็มีเรื่องร้องเรียนล็อกผู้เสนอราคาที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี
เป็นเรื่องประหลาด!ที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กำกับกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แม้กระทั่ง คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) องค์กรเฉพาะกิจของรัฐบาล หูหนวก ตาบอด ไม่ได้กลิ่น?
ลองย้อนเวลา ภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี พูดอย่างชัดเจน พูดแทบทุกครั้งผ่านรายการคืนความสุขทุกวันศุกร์ และกำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐในเรื่อง ธรรมาภิบาล การป้องกันและปราบการทุจริต กระทั่งหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ (ข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองท้องถิ่น) ออกจากตำแหน่งอย่างน้อย 2 ครั้งนับร้อยคน (ซึ่งไม่มีหน่วยงานในกองทัพ และกรมราชทัณฑ์)
และเรื่องนี้ก็มีหลักฐาน อย่างชัดเจนว่าการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษมีเงื่อนงำเป็นอย่างมาก ไม่ปรากฏว่า กลไกของรัฐอย่าง คตร. และหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลง ‘วิธีการ’ มิให้เกิดการรั่วไหลปีละ 1.4 พันล้าน (ในกรณีที่จัดซื้อต่ำกว่าราคากลาง 30%) ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา
เม็ดเงินส่วนนี้เอาไปสร้างการศึกษา ตัดวงจรการเข้าสู่เรือนจำ หรือแม้กระทั่งเอาไปใช้เป็นสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของกรมราชทัณฑ์ มีคุณค่าต่อสาธารณะมากกว่าสร้างความมั่นคงทางกระเพาะอาหารให้ ‘เสือนอนกิน’บางราย
การใช้กลไกของรัฐเป็นเครื่องมือ ตรวจสอบความฉ้อฉลในโครงการประชานิยมของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เป็นหน้าที่ควรทำ ต้องทำ และควรทำทุกรัฐบาล (หรือแม้กระทั่งไล่ล่าตรวจสอบบางหน่วยงานที่คิดว่าเป็นปฏิปักษ์)โดยมิกล้า‘ส่อง’ดูความผิดพลาดของหน่วยงานในกำกับและทำความสะอาดอย่างตรงไปตรงมา เรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’
ต้องเริ่มที่บ้าน ไม่ต้องกลัวเสียหน้า ครับ!
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ประเดิม‘วิธีพิเศษ’ปี 59!ปูดเรือนจำธัญบุรีแห่งแรกล็อคจัดซื้ออาหารดิบ 7.2 ล้าน
ประเดิมงบฯ 5 พันล.! อธิบดี‘ราชทัณฑ์’สั่งจัดซื้ออาหารดิบ‘วิธีพิเศษ’ลอตแรก 2 เดือน
เปิดคำสั่ง ‘อธิบดี’ 3 ฉบับ!จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ‘วิธีพิเศษ’ลอตแรก 2 เดือน
เปิดขุมทรัพย์ 1,800 ล้าน ‘คุณนายติ๋ม’ 1 ใน 5 เสือ ‘ค้าอาหารดิบ’เรือนจำ
ติดใช้‘วิธีพิเศษ’จนเป็นจารีต! หนังสือ 3 ฉบับแฉยิบปมจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 5 พันล.
ร้องสอบจัดซื้ออาหารดิบ 5 เรือนจำ 260 ล.-2 คู่สัญญา ตั้ง 'ตัวแทนช่วง'รายเดียวกัน
เปิดคำสั่ง ‘อธิบดี’ 3 ฉบับ!จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ‘วิธีพิเศษ’ลอตแรก 2 เดือน
ประเดิมงบฯ 5 พันล.! อธิบดี‘ราชทัณฑ์’สั่งจัดซื้ออาหารดิบ‘วิธีพิเศษ’ลอตแรก 2 เดือน
รวบรวมหนังสือร้องปม‘จัดซื้ออาหารดิบ’เรือนจำ 6 ฉบับ-ก่อนเค้กก้อนใหม่ 5 พันล.
2 บ.‘ตัวแทน’ค้าอาหารดิบ 5 เรือนจำ 600 ล. อยู่ห่างกัน 200 ม.-ชื่อ‘คุณนายติ๋ม’โผล่
เจาะลึก! บ.กลุ่มเดียว เป็น‘ตัวแทน’จัดหาอาหารดิบ 10 เรือนจำ 600 ล้าน
ร้องสอบจัดซื้ออาหารดิบ 5 เรือนจำ 260 ล.-2 คู่สัญญา ตั้ง'ตัวแทนช่วง'รายเดียวกัน
จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำอุทัยธานี16.5ล้าน3รอบ! เลือกจิ้ม‘วิธีพิเศษ’เจ้าเดิม
5ปมเงื่อน!จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำกลางเขาบิน55.7ล. ต่ำกว่าราคากลาง0.52%
ร้องนายกฯหนัก!สอบจัดซื้ออาหารดิบอีก11เรือนจำ ตั้ง‘ตัวแทน’กลุ่มเดียวอื้อ
ผ่าปมจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำชัยนาท40.6ล.-‘ตัวแทนช่วง’โยง‘นครสวรรค์’
แกะรอยจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำนครสวรรค์117ล.-‘เสนอราคา-อนุมัติ’ในวันเดียว
ร้อง‘บิ๊กตู่’ปลด ผอ.องค์การตลาด-อตก.-อคส.กรณีจัดซื้ออาหารดิบ3เรือนจำ
บ.ญาติอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็น'ตัวแทน'จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ
ผ่าเงื่อนงำจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ‘สิงห์บุรี-ตราด’45ล. จ้าง‘ตัวแทนช่วง’รายเดียวกัน
เปิดชื่อจัดซื้ออาหารดิบ98เรือนจำ-ตัวแทนช่วง-ผู้ชนะต่ำกว่าราคากลาง0.00-1%
พบ‘ตัวแทน’จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ กระจุกตัว‘พ่อค้า’6กลุ่ม - รายเดียวกวาด8แห่ง
ชำแหละ‘พฤติกรรม’จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ92แห่งส่อฮั้ว - คู่ค้าช่วงรับ97% ?
ชงข้อมูลนายกฯทลายจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ ซัด92แห่งส่อฮั้ว ให้ใช้‘อี-บิดดิ้ง’แทน