สถิติฯเผยผู้ว่างงานเดือนธ.ค.เพิ่ม 5.16% ยอดตกงานเหตุ ‘ปิดกิจการ’ พุ่ง 965%
สำนักงานสถิติฯเผยผู้ว่างงานเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 5.16% แตะ 3.67 แสนคน ส่วนการตกงานเพราะนายจ้างปิดกิจการอยู่ที่ 2.45 หมื่นคน พุ่ง 965% ขณะที่ ‘ธปท.’ ระบุแม้ว่าการจ้างงานเดือนธ.ค.จะปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นการจ้างงาน ‘ลูกจ้างรายวัน’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรในเดือนธ.ค.2562 พบว่าจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.66 ล้านคน ลดลง 2.1 แสนคน เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 ที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.87 ล้านคน หรือลดลง 0.56% ส่วนจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 3.67 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1% เพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2561 ที่มีผู้ว่างงาน 3.49 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 5.16%
อย่างไรก็ตาม หากเทียบจำนวนผู้ว่างงานในเดือนธ.ค.2562 กับเดือนพ.ย.2562 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.29 แสนคน พบว่าจำนวนผู้ว่างงานลดลง 6.2 หมื่นคน หรือลดลง 14.45%
ทั้งนี้ หากพิจารณาสาเหตุการว่างงานในเดือนธ.ค.2562 พบว่า แรงงานที่ว่างงานพราะนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ มีจำนวน 24,500 คน เพิ่มขึ้น 965.22% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 ที่มี 2,300 คน แต่ลดลง 48.42% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2562 ที่มี 47,500 คน ส่วนแรงงานที่ว่างงานเพราะหมดสัญญาจ้างงาน มีจำนวน 39,500 คน เพิ่มขึ้น 234.74% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 ที่มี 11,800 คน และเพิ่มขึ้น 2.59% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2561 ที่มี 38,500 คน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของผู้ว่างงานพบว่า อันดับ 1 ยังคงเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือปริญญาตรี 1.48 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.8% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 7.6 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.5 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.8% และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.1 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.3%
ก่อนหน้านี้ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อัตราว่างงานในเดือนธ.ค.ที่ลดลงมาอยู่ที่ 1% ลดลงจากเดือนก่อนที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.1% เนื่องจากตลาดแรงงานได้รับผลบวกจากการผลิตที่ดีขึ้น แต่หากปรับปัจจัยฤดูกาลพบว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ 1.1% ส่วนการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2562
“แม้ว่าการจ้างงานเดือนธ.ค.2562 ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่เมื่อแยกแยะแรงงานที่จ้างใหม่เป็นแบบรายวันและรายเดือน จะเห็นว่าในระยะหลังการจ้างงานแบบรายเดือนไม่ค่อยขึ้นมาก แต่ลูกจ้างรายวันขึ้นค่อนข้างเยอะ หมายความว่าธุรกิจจ้างลูกจ้างรายวันเพิ่ม ซึ่งในมุมมองของลูกจ้าง ความมั่นคงในงานมีไม่ค่อยมาก คือ มีงานก็จริง แต่การเป็นลูกจ้างรายวัน วันรุ่งขึ้น ถ้าธุรกิจเป็นอะไรไป เขาก็ไม่มีงานแล้ว” นายดอนกล่าว
นายดอน ย้ำว่า แม้ว่ารายได้ของแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรในเดือนธ.ค.2562 ที่ดีขึ้นตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้ของแรงงานในภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานลูกจ้างรายวัน ซึ่งทำให้คนไม่มั่นใจในหน้าที่การงาน ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงลดลงต่อเนื่อง
อ่านประกอบ :
ยงยุทธ : ‘ไวรัสโคโรน่า’ จุดไฟเผาเศรษฐกิจเร็วขึ้น-ห่วงตกงานพุ่งไม่ต่ำ 5 แสน
‘วิรไท’ ยันพร้อมลดดอกเบี้ยประคองศก. แนะรัฐบาลทำ ‘งบกลางปี’ สู้ ‘ไวรัส’
แพ็กเกจอุ้มศก.ยื้อไม่ไหว ‘รัฐ-เอกชน’ พาเหรดหั่นจีดีพี
‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
'คลัง' แจง 'ไวรัสอู่ฮั่น' คลี่คลายใน 4 เดือน ย้ำ 'ส่งออกฟื้น-หนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/