‘วิรไท’ ยันพร้อมลดดอกเบี้ยประคองศก. แนะรัฐบาลทำ ‘งบกลางปี’ สู้ ‘ไวรัส’
‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ เผยธปท.ยันพร้อมใช้ ‘policy space’ ที่เหลืออยู่ ดูแลเศรษฐกิจหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หนุนรัฐบาลใช้มาตรการคลังช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘ไวรัสโคโรน่า’ จะตรงจุดมากกว่า แนะอาจเป็นเวลาที่เหมาะสมในการจัดทำงบประมาณกลางปี
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบาย (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 1% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ว่า กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างแรง และไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีผู้ประกอบการและลูกจ้างเป็นจำนวนมาก
2.ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะในการประชุม กนง. ครั้งที่แล้ว กนง.คาดหวังด้วยซ้ำไปว่า เมื่อพ.ร.บ.งบประมาณผ่านตามกำหนดการเดิม คือ ในเดือน ก.พ.และเบิกจ่ายในเดือนมี.ค. จะเป็นแรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เพราะจะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบ แต่เมื่องบประมาณประจำต้องล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์การเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน และส่งกระทบต่อเศรษฐกิจในต่างจังหวัดด้วย
และ3.สถานการณ์ภัยแล้งที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ แม้ว่าภาคเกษตรจะมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่สูงนัก แต่เป็นภาคที่มีประชาชนซึ่งเป็นเกษตรกรจำนวนมาก ดังนั้น สถานการณ์ภัยแล้งจะเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย และการบริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัด
“ความเสี่ยงทั้ง 3 เรื่อง คือ การระบาดของไวรัสโคโรน่า งบล่าช้า และภัยแล้ง มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเราได้ประเมินโอกาสและสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราเห็นว่ามีความไม่แน่นอนสูง ผลกระทบเมื่อเกิดเหตุการณ์จะรุนแรงกว่าที่คาด และเกิดผลกระทบที่กว้างไกล กนง.จึงเลือกที่จะตัดสินใจเร็ว มากกว่าที่จะรอ แล้วไปตัดสินใจในการประชุมครั้งต่อไป” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท ระบุว่า การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว คงไม่ช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องประสานเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการคลัง ภาคการเงิน และภาคสถาบันการเงิน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจตอนนี้ ซึ่งหลังการประชุม กนง. เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) ตนได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ว่า เราต้องเน้นการดูแลลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ
“ลูกหนี้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก การดูแลสภาพคล่องในภาวะที่รายได้ของผู้ประกอบการจะตกลงไปมาก เนื่องจากการการระบาดของไวรัสโคโรน่า ส่วนภาครัฐก็ได้ออกมาตรการหลายอย่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง” นายวิรไทระบุ
นายวิรไท ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว โดยได้มีหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้าไปดูแลผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ประกอบการ แต่ฝากให้ดูแลลูกจ้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งอาจจะให้ผ่อนผันอัตราการจ่ายขั้นต่ำ หรือปรับโครงสร้างเป็นสินเชื่อระยะยาว และมีอัตราดอกเบี้ยถูกลง
“เราขอให้ทุกสถาบันการเงินถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยขอให้มีทีมงานโดยเฉพาะที่จะมาทำ เพราะปกติแล้วลูกค้า SMEs จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการทำงานตามช่องทางปกติ กว่าจะไปถึงหน้างาน กว่าจะไปดูแลลูกค้า และกระบวนการตัดสินใจต่างๆ อาจจะล่าช้า ไม่ทันการณ์ จึงขอให้ตั้งทีมพิเศษขึ้นมา โดยขอให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดจากส่วนกลาง เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจทำได้เร็ว” นายวิรไทระบุ
เมื่อถามว่า ธปท. ยังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อดูแลเศรษฐกิจหรือไม่ นายวิรไท กล่าวว่า “มี ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการอื่นๆ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจถูกกระทบแรง ต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ย และเราไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการกลายเป็น NPLs มีการเลิกจ้างเยอะ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ และเมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ การฟื้นตัวจะไม่เร็ว”
นายวิรไท ยังกล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง “โอกาสและความท้าทายที่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญในการก้าวเข้าสู่ปี 2563” ในงาน The Year Ahead 2020 ซึ่งจัดโดย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ตอนหนึ่งว่า การที่กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาลลง 0.25% เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ที่สมควรที่จะใช้ policy space ที่รักษาไว้มาใช้
“ถ้าสถานการณ์จะแย่ลงไปอีกในอนาคต เราก็ยังมีความสามารถในการใช้ policy space ที่มีอยู่ได้ แต่ต้องตระหนักร่วมกันว่าไม่มีเครื่องมือใด เครื่องมือหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ดังนั้น มาตรการที่นำมาใช้ควรเป็นมาตรการที่ตรงจุด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากไวรัสโคโรน่าจะกระทบกับแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน แต่การที่เราไปใช้มาตรการลดดอกเบี้ย ถือเป็นมาตรการที่มีผลกระจาย ไม่ได้แก้ตรงจุดทันที และมีผลข้างเคียงด้วย” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท กล่าวต่อว่า มาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าได้ตรงจุด คือ มาตรการการคลัง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างที่จะช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพียงแต่มาตรการทำได้จำกัด ทำได้แต่มาตรการภาษี เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณล่าช้า
“ถ้าเราไม่สะดุดขาตัวเองเรื่องงบประมาณ เราจะสามารถทำมาตรการที่ตรงจุดได้มากกว่านี้ และอาจเป็นภาวะที่เหมาะสมที่เราจะต้องทำงบประมาณกลางปีด้วยซ้ำไป เพื่อใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ในภาวะการเมืองที่เราเป็นอยู่ ที่เราสะดุดขาตัวเอง ดังนั้น เราจะมานั่งดูว่าการคลังทำได้ดีกว่า ควรให้การคลังทำ จึงไม่เหมาะ เพราะในภาวะแบบนี้ใครทำอะไรได้ก็ต้องช่วยกัน ช่วยกันประคับประคอง” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า เรื่องค่าเงิน ธปท. ก็ยังไม่ค่อยสบายใจ เนื่องจากค่าเงินบาทในปีที่แล้วแข็งค่าเร็วกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค และแม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่อาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความอ่อนไหวอยู่มาก
“แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค วันนี้เราอาจเป็นประเทศที่ค่าเงินอ่อนมากที่สุดประเทศหนึ่งเมื่อเทียบกับต้นปี แต่ถ้ามองย้อนกลับไปถึงต้นปีที่แล้ว วันนี้ค่าเงินอินโดนีเซียแข็งค่ากว่าเราไปแล้ว และค่าเงินของเม็กซิโก ซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดอเมริกาจะแข็งมากกว่าเรา แต่เราก็ยังคิดว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาบ้าง ยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะเราเจอความเสี่ยงที่ค่อนข้างมาก” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท ระบุว่า ปีที่แล้วเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลไทย หุ้นกู้เอกชนไทย พันธบัตรธปท. และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไหลออกสุทธิ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าหดตัวมากกว่าการส่งออก การท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดี รายจ่ายนำเข้าน้ำมันลดลง การลงทุนภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความไม่สมดุลกันของดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า
“เราต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างเวลานี้ที่มีแรงกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมานาน เราได้ประสานกับรัฐบาล และรัฐบาลก็แพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน ให้หักภาษีได้เพิ่มขึ้น และเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และเราได้มีการเปิดเสรีให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท ยังกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุมัติให้บริษัทประกันภัยไทยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเป็น 30% ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มีแนวนโยบายเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ และเมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) รมว.คลังได้ลงนามขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ 1 ใบขน จากเดิม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/1 ใบขน ซึ่งครอบคลุม 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งปี
อ่านประกอบ :
แพ็กเกจอุ้มศก.ยื้อไม่ไหว ‘รัฐ-เอกชน’ พาเหรดหั่นจีดีพี
‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
'คลัง' แจง 'ไวรัสอู่ฮั่น' คลี่คลายใน 4 เดือน ย้ำ 'ส่งออกฟื้น-หนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/