- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
"...ตอนนี้ไกด์ไทยตกงานแล้ว 1 หมื่นคน ซึ่งเมื่อคำนวณจากรายได้ของไกด์ที่มีรายได้ขั้นต่ำ 3,000 บาท/วัน กรุ๊ปหนึ่งเที่ยว 5-6 วัน หรือ 15,000-20,000 บาท/กรุ๊ป เดือนหนึ่งได้ 3-4 กรุ๊ป เมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ เท่ากับว่ารายได้เขาหายไปเดือนละแสนต่อคน ทำให้คนที่มีหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เดือดร้อนในช่วง 2-3 เดือนนี้..."
ถือว่าไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
เพราะเพียงไม่กี่วันหลังปรากฏข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ กระทั่งทางการจีนสั่งห้ามกรุ๊ปทัวร์จีนออกนอกประเทศ และห้ามไม่ให้ขายแพกเกจท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว F.I.T. (FREE INDIVIDUAL TRAVELER) ชาวจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลงเกือบ 60%
“ช่วงแรกหลังมีคำสั่งห้ามนั้น นักท่องเที่ยวจีนลดลงทันที 20% แต่ล่าสุดวันที่ 31 ม.ค. นักท่องเที่ยวจีนลดลง 80% ทำให้ตั้งแต่วันที่ 24-31 ม.ค.2563 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 1.43 แสนคน ลดลงเกือบ 2 แสนคน หรือลดลง 58% และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูญเสียรายได้แล้ว 9,156 ล้านบาท” คณนาถ หมื่นหนู โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุ
สำหรับภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้า/ของที่ระลึก ธุรกิจสถานพักแรม และธุรกิจการจำหน่ายอาหาร/เครื่องดื่ม
มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะคลี่คลายใน 3-4 เดือน และสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก โดยสำนักงาน ททท. 5 แห่ง ในจีน ได้คาดว่าตัวเลขความเสียหายไว้ที่ 95,000 ล้านบาท
แต่ล่าสุด พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาระบุว่า หากสามารถยุติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ภายในเดือนมี.ค.63 ภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวเพื่อให้กลับมาเหมือนเดิมอีก 4 เดือน หรือถึงเดือน ก.ค.63 ซึ่งจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการสร้างรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน กระทรวงท่องเที่ยวฯ ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าที่มีต่อการท่องเที่ยวไทยไว้ 4 กรณี ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงแตกต่างกันตามระยะเวลา และคาดว่าไทยจะสูญเสียรายได้ตั้งแต่ 1.47-3.25 แสนล้านบาท
สูงกว่าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า จะส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยในช่วงครึ่งปีแรกหายไปกว่า 2.4 ล้านคน และทำให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งปี 2563 สูญเสียรายได้กว่า 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% ของจีดีพี
TMB Analytics ยังประเมินว่า นักท่องเที่ยวจีนที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กรวม 7,500 ราย คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท
นักท่องเที่ยวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มาภาพ : thaigov.go.th
ฟันเฟืองการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนกว่า 2 ล้านคน ที่สะดุดหยุดลง 'กะทันหัน' ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวที่มีไม่ต่ำ 5 หมื่นราย และมีลูกจ้างกว่า 4 ล้านคน ในขณะที่ผู้ประกอบการฯเกิน 90% เป็นรายกลางล่างถึงรายเล็ก ซึ่งไม่มีเงินทุนหนาพอที่จะรับมือกับวิกฤต ‘ไวรัสมรณะ’ ได้นานนัก
“ตอนนี้ยังไม่มีการเลย์ออฟ หรือถ้ามีก็น้อยมาก เพราะธุรกิจท่องเที่ยวฯ ถ้าให้ลูกจ้างหยุด เขาก็ไปเลย และการหาคนใหม่มาก็ยาก แต่บางแห่งเริ่มพูดถึงเรื่องการลดเงินเดือน หรือให้เงินเดือน 50% แต่ให้ลูกจ้างลา ไม่ต้องมาทำงาน” ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ชัยรัตน์ เสนอว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการฯและรักษาการจ้างงานให้กับลูกจ้างนับล้านคน รัฐบาลควรออกมาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็น SMEs ให้สามารถอยู่รอดและผ่านพ้นช่วง 3 เดือนนี้ไปให้ได้ ก่อนที่การท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวในอีกไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า
“วันนี้เหมือนมีวาตภัย ทุกคนโดนกันหมด รัฐบาลจะไปอุ้มหรือไปเยียวยาให้เขาอยู่ได้ยาวที่สุด เช่น พักหนี้เงินต้น พักดอกเบี้ย หาแหล่งเงินกู้ใหม่ที่มีเงื่อนไขน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นให้คนที่ไปเที่ยวเมืองนอกปีละ 10 ล้านคน หันมาเที่ยวเมืองไทยก่อน ในช่วง 3-4 เดือนจากนี้” ชัยรัตน์กล่าว
ชัยรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า ไวรัสโคโรน่าไม่เพียงแต่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปเท่านั้น แต่ยังทำให้นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาเซียน ชะลอการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วย เพราะไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเจอคนเยอะๆ ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรปตอนนี้บางตาไปเลย เพราะเขายังรีรอไม่ตัดสินใจว่าจะมาเที่ยวประเทศไทย
“นอกจากจีนแล้ว หลายประเทศไม่อยากเดินทาง ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเจอคนเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาเซียน ส่วนยุโรปบางตาไปเยอะมา และอย่างที่เห็นตอนนี้ สายการบินต่างๆ แต่ละเที่ยว มีคนไม่ถึง 30% จากเดิมแต่ละเที่ยวมีคน 70-80% ของที่นั่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่สงบการเดินทางก็จะต่อเนื่อง ส่วนตอนนี้หยุดชั่วคราว” ชัยรัตน์ระบุ
ด้าน วิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า นักท่องเที่ยวจีนที่หายไปทันทีในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มัคคุเทศก์ (ไกด์) ไทย ที่นำกรุ๊ปทัวร์จีนเที่ยว ทั้งในกรุงเทพ เชียงใหม่ และภูเก็ต ตกงานทันทีกว่า 1 หมื่นคน จากไกด์ทั่วประเทศที่มี 2 หมื่นคน
“ตอนนี้ไกด์ไทยตกงานแล้ว 1 หมื่นคน ซึ่งเมื่อคำนวณจากรายได้ของไกด์ที่มีรายได้ขั้นต่ำ 3,000 บาท/วัน กรุ๊ปหนึ่งเที่ยว 5-6 วัน หรือ 15,000-20,000 บาท/กรุ๊ป เดือนหนึ่งได้ 3-4 กรุ๊ป เมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ เท่ากับว่ารายได้หายไปเดือนละแสนต่อคน ทำให้คนที่มีหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เดือดร้อนในช่วง 2-3 เดือนนี้” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์
วิโรจน์ ตั้งความหวังว่า แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะคลี่คลายภายใน 3 เดือน แม้ว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ไทยจะต้องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 1 แสนล้านบาทก็ตาม ขณะที่สมาคมมัคคุเทศก์ฯได้มีมาตรการช่วยเหลือกันเอง โดยให้ผู้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์มัคคุเทศก์ฯกู้เงินจากสหกรณ์ฯเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ไม่เกิน 120,000 บาท/ราย
“ผมยังเชื่อว่าจีนและหลายประเทศจะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ภายใน 3 เดือน หรือถ้าช้าสุดไม่เกิน 6 เดือน” วิโรจน์ ระบุ
ขณะที่ ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า การสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศ ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยนั้น จะทำให้ลูกจ้างที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการฯของไทยต้องตกงานกว่า 4 แสนคน หรือคิดเป็น 10% ของการลูกจ้างที่มีทั้งหมด 4 ล้านคน โดยทั้งหมดเป็นลูกจ้างรายวัน
“ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงการค้าส่ง-ค้าปลีก มีการจ้างงานประมาณ 4 ล้านคน และ 10% ของลูกจ้างดังกล่าว หรือ 4 แสนคน เป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มี ผู้ประกอบการฯก็ไม่จ้างทำงานต่อ รายได้ของเขาก็หายไปในทันที ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้บ้าง” ยงยุทธกล่าว
ในขณะที่รัฐบาลกำลังคร่ำเคร่งกับการควบคุมไม่ให้ไวรัสโคโรน่าแพร่ระบาดออกไปนั้น
สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันไปอย่างเร่งด่วน คือ การออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการฯ เพื่อคงสภาพการจ้างงานให้กับลูกจ้างนับแสนคนที่มีความ 'เสี่ยง' ตกงานในอนาคต หลังจากลูกจ้างหลายแสนคนต้องตกงานไปแล้ว จากวิกฤตไวรัสอู่ฮั่นรอบนี้
อ่านประกอบ :
‘ไวรัสโคโรน่า-งบปี’63 ช้า’ ฉุดศก.ไตรมาสแรก ‘ลงลึก’ แบงก์ชาติจ่อหั่นจีดีพีต่ำ 2.8%
ร่างพ.ร.บ.งบปี’ 63 ส่อ ‘แท้ง’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยซบยาว
หนี้ครัวเรือนพุ่ง-NPLs เพิ่ม ถ่วงเศรษฐกิจ ‘แบงก์’ เตือนธปท.อย่าคุมเพดานกู้เงิน
ธปท.ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไม่หยุด แถมผ่อนสั้น-ดอกเบี้ยสูง
SCB EIC เผยภาระหนี้ต่อรายได้ 'ครัวเรือนไทย' พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/