- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- 'คลัง' แจง 'ไวรัสอู่ฮั่น' คลี่คลายใน 4 เดือน ย้ำ 'ส่งออกฟื้น-หนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง'
'คลัง' แจง 'ไวรัสอู่ฮั่น' คลี่คลายใน 4 เดือน ย้ำ 'ส่งออกฟื้น-หนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง'
'สศค.' เรียกความเชื่อมั่น ชี้สถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรน่าคลี่คลายใน 4 เดือน ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัว การบริโภคดีขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือนไม่น่าเป็นห่วง ย้ำรัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นลงทุนเอกชน 1.1 แสนล้านบาท ผ่าน 3 มาตรการสนับสนุน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันนี้ (3 ก.พ.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ออกเอกสารข่าวชี้แจงข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2563 โดยเฉพาะในด้านการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชน โดยระบุว่า การส่งออกล่าสุดในเดือน ธ.ค.2562 เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 2562 หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ -1.3% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงที่ -7.3% ต่อปี
"เมื่อหักทองคำและสินค้าที่เกียวข้องกับน้ำมันพบว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 2562 กลับมาขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวสูงได้แก่หมวดอุตสาหกรรมเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว 9.1% และ6.0% ต่อปี ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2563 ที่ดีขึ้น"
นอกจากนี้ การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี โดยล่าสุดได้มีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกแล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 63 ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยในปี 2563
สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้น แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน และเมื่ออ้างอิงจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่านักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2563 นั้น สำนักงาน ททท. ในจีน 5 แห่ง ประเมินว่ากระทบรายได้ท่องเที่ยว 95,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีรัฐบาลได้ก็ได้ออกมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว อาทิ มาตรการ VOA หรือ Visa On Arrival และการนำระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่าน Mobile Application ที่แรกของโลก หรือที่เรียกว่า Thailand VRT
ขณะเดียวกัน ในปี 2563 ไทยจะมีการจัด Event ใหญ่ๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ อย่างการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือศึกโมโตจีพี 2020 สนาม 2 ซึ่งในปีที่ผ่านมีจำนวนยอดผู้เข้าชมรวมทั้งสิ้นถึง 226,655 คน ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงการคลังก็ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยจะได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าวต่อไป
"กระทรวงการคลังประเมินว่า กรณีสถานการณ์การระบาดของโรคไม่ยืดเยื้อ กล่าวคือ สถานการณ์คลี่คลายภายใน 4 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยรวมจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปี 2563 สามารถขยายตัวได้" สศค.ระบุ
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ (ณ ราคาคงที่) ในเดือน ธ.ค. 2562 ที่ขยายตัว 4.9% ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากมาตรการชิมช้อปใช้ที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการในวันที่ 27 ก.ย. 2562 ถึง วันที่ 31 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ขณะที่เมื่อพิจารณารายได้เกษตรกรที่แท้จริงพบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือน ธ.ค. 2562 ขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี หมวดที่ขยายตัวสูงได้แก่ หมวดไม้ผล หมวดประมง และปาล์มน้ำมัน
สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ค่อนข้างทรงตัว จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เคยแตะระดับสูงสุดที่ 81.2% เมื่อปี 2558 และค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.1% ต่อ GDP
"หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ จึงมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหากมองว่าหนี้เหล่านี้เป็นไปเพื่อการสะสมความมั่งคั่งในรูปสินทรัพย์และเพื่อการลงทุนทำธุรกิจหารายได้แล้ว ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางทรัพย์สินและรายได้ของครัวเรือนด้วย"
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงนั้น เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกและการผลิตสินค้า
ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 110,000 ล้านบาท รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวต่อไป
สำหรับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศฯ ประกอบด้วย
1.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง
2.มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าในครั้งนี้จะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนที่เหลืออีก 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็นของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
3.มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ หรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1-2 ดอกเบี้ย 2% และปีที่ 3 - 5 ดอกเบี้ย 4% วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค.2563
อ่านประกอบ :
‘ไวรัสโคโรน่า-งบปี’63 ช้า’ ฉุดศก.ไตรมาสแรก ‘ลงลึก’ แบงก์ชาติจ่อหั่นจีดีพีต่ำ 2.8%
ร่างพ.ร.บ.งบปี’ 63 ส่อ ‘แท้ง’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยซบยาว
หนี้ครัวเรือนพุ่ง-NPLs เพิ่ม ถ่วงเศรษฐกิจ ‘แบงก์’ เตือนธปท.อย่าคุมเพดานกู้เงิน
ธปท.ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไม่หยุด แถมผ่อนสั้น-ดอกเบี้ยสูง
SCB EIC เผยภาระหนี้ต่อรายได้ 'ครัวเรือนไทย' พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/