จุดเสี่ยงทุจริตโครงการ 9101 สารคาม! สตง.พบเปิดบัญชี-ยืมเงิน 'คน' เดียวกัน15 กลุ่มรวด
"...ตามคู่มือการดำเนินงาน โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟู อาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 มอบหมายผู้ดำเนินการเปิดบัญชีธนาคาร จำนวน 3 คน โดยมีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินจำนวน 2 ใน 3 คน ... แต่จากการตรวจสอบ พบว่า มีสมาชิกที่ได้รับมอบหมายเป็นคณะทำงานดำเนินการเปิดบัญชีเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ลงนามในสัญญายืมเงินกับคณะกรรมการระดับชุมชน จำนวน 15 กลุ่ม..."
ประเด็นตรวจสอบปัญหาการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรที่ประสบอุทกภัย ปี 2560 สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 187,630,000 บาท ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังไม่จบ
เพราะนอกจากปัญหาข้อบกพร่องในเรื่องการบริหารจัดการโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการดำเนินงานตามแบบเสนอโครงการที่เกี่ยวกับการแจกปัจจัยการผลิต ปัญหาสมาชิกกลุ่มได้รับปัจจัยการผลิตไม่ครบถ้วนและสมาชิกบางรายยังไม่ได้แปรรูป รวมไปถึงการจัดซื้อในราคาสูงกว่าราคากลางหรือราคาอ้างอิงของทางราชการกำหนดแล้ว ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : พบพิรุธชื่อเกษตรกรไม่ตรงผลสอบ! สตง.สั่งตรวจจนท.ทุจริตงบโครงการ 9101 สารคาม 187 ล., ถอดรหัสจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกอุย โครงการ 9101 มหาสารคาม ทำไมแพงกว่าราคากลางหลายล้าน?)
ล่าสุด ยังมีข้อมูลปรากฎเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะทำงาน และการมอบหมายให้ผู้ทำสัญญายืมเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้เปิดบัญชีหรือผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงิน ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารงานทางการเงินและเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการด้วย
โดยในรายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า ตามคู่มือการดำเนินงาน โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟู อาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 ข้อ 2.6.3 กำหนดให้สมาชิกในชุมชนรวมกลุ่มกันประกอบกิจกรรมร่วมกัน กลุ่มละไม่น้อยกว่า 10 ราย ยกเว้นชุมชนที่มีเกษตกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยไม่ถึง 10 ราย อนุโลมให้สามารถดำเนินการได้ และใช้มติที่ประชุมคณะกรรมการระดับชุมชน ในการรับรองการจัดตั้งกลุ่ม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มสมาชิกในชุมชนประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เหรัญญิก กรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานและมอบหมายให้สมาชิกกลุ่มในชุมชน ดำเนินการ ดังนี้
1) แต่งตั้งคณะทำงานจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ อย่างน้อย 2 คน
2) แต่งตั้งคณะทำงานตรวจรับวัสดุอุปกรณ์ อย่างน้อย 2 คน ทั้งนี้ คณะทำงานตามข้อ 1) และข้อ 2) ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกัน
3) มอบหมายผู้ดำเนินการเปิดบัญชีธนาคาร จำนวน 3 คน โดยมีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินจำนวน 2 ใน 3 คน
4) มอบหมายผู้ดำเนินการลงนามในสัญญายืมเงินกับคณะกรรมการฯ ระดับชุมชน จำนวน 3 คน ทั้งนี้ ผู้ได้รับมอบหมายในข้อ 3) และข้อ 4) ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกัน
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบ พบว่า มีสมาชิกที่ได้รับมอบหมายเป็นคณะทำงานดำเนินการเปิดบัญชีเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ลงนามในสัญญายืมเงินกับคณะกรรมการระดับชุมชน จำนวน 15 กลุ่ม
ขณะที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการจัดซื้อปัจจัยการผลิตและการเบิกจ่ายเงิน พบข้อสังเกตดังนี้
1. จัดซื้อปัจจัยการผลิตโดยไม่จัดทำใบสั่งซื้อ
จากการตรวจสอบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของกลุ่มสมาชิก จำนวน 76 กลุ่ม พบว่า กลุ่มสมาชิก จำนวน 17 กลุ่ม จัดทำหลักฐานใบสั่งซื้อ และจำนวน 59 กลุ่มไม่ได้จัดทำใบสั่งซื้อ
โดยจากการสัมภาษณ์คณะทำงานจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อปัจจัยการผลิตให้ข้อมูลว่า คณะทำงานจะทำการสืบราคาปัจจัยการผลิตจากร้านค้า 2 - 3 ร้าน และจะตกลงสั่งซื้อกับร้านค้าที่ราคาต่ำกว่าร้านอื่น โดยทางร้านจะเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อเอง หากร้านใดไม่ได้จัดทำใบสั่งซื้อให้ก็จะตกลงด้วยวาจา
ส่วนคณะทำงานตรวจรับวัสดุอุปกรณ์ เกี่ยวกับวิธีการตรวจรับปัจจัยการผลิต ให้ข้อมูลว่า คณะทำงานจะใช้ใบสั่งซื้อตรวจรับของ ถ้าไม่มีใบสั่งซื้อจะตรวจรับตามหลักฐานแบบเสนอโครงการหรือใบส่งของการจัดทำใบสั่งซื้อเป็นเอกสารข้อตกลงหรือสัญญาในเชิงพาณิชย์ ที่ออกโดยผู้ซื้อเพื่อสั่งซื้อพัสดุสินค้าหรือบริการจากผู้ขาย โดยระบุชนิด จำนวน และราคา พร้อมทั้งอาจจะรวมถึงเงื่อนไขต่างๆ และเป็นหลักฐานยืนยันแสดงการสั่งซื้อ และใช้เป็นหลักฐานตรวจสอบว่าผู้ขายส่งมอบปัจจัยการผลิตถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่
ทั้งนี้ สตง.เห็นว่า กรณีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตโดยให้ผู้ขายเป็นผู้จัดทำใบสั่งซื้อและบางกลุ่มไม่จัดทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหลักฐานยืนยันการสั่งซื้อ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการใช้สิทธิเรียกร้องหากผู้ขายส่งมอบปัจจัยการผลิต ไม่ครบถ้วน ถูกต้องตรงกับความต้องการของกลุ่มสมาชิก
2. การเบิกจ่ายเงินให้ผู้ขาย
จากการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขายของกลุ่มสมาชิก จำนวน 56 กลุ่ม เบิกจ่ายเงินให้ผู้ขายโดยการถอนเงินสดจากบัญชี และจำนวน 20 กลุ่ม จ่ายเงินโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ขาย การถอนเงินสดเพื่อจ่ายให้ผู้ขายดังกล่าวในจำนวนเงินสูง เช่น กลุ่มทอผ้าไหมเม็กดำ 1 จ่ายเงินค่าเส้นไหมให้ผู้ขายโดยถอนเป็นเงินสดจำนวนเงิน 2,590,000.00 บาท (หักภาษีณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากร) ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในความปลอดภัยและไม่โปร่งใสในการธุรกรรมทางการเงิน
ในรายงานการตรวจสอบ สตง. ระบุสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สมาชิกไม่ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติงานตามคู่มือการดำเนินงานโครงการให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ประธานกลุ่มสมาชิก มิได้ตรวจสอบรายชื่อคณะทำงานของกลุ่มให้เป็นไปตามคู่มือการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ขณะที่การกำหนดวิธีการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อและการเบิกจ่ายเงินยังไม่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันความเสี่ยงด้านการจัดซื้อและการเบิกจ่ายเงิน นอกจากนี้ ยังมีการมอบหมายให้ผู้ทำสัญญายืมเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้เปิดบัญชีหรือผู้มี อำนาจในการเบิกจ่ายเงิน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารงานทางการเงินและเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการได้
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งให้ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม แจ้งกำชับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ซักซ้อมความเข้าใจกับคณะกรรมการระดับชุมชน ประธานกลุ่ม และสมาชิกในกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ เช่น การมอบหมายหน้าที่ให้สมาชิกเป็นคณะทำงานด้านต่าง ๆ จะต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง ตามคู่มือที่กำหนดเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในโอกาสต่อไป และเห็นควรให้จัดทำแนวทางหรือซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อกลุ่มสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานโดยนำรูปแบบของทางราชการมาปรับใช้ เพื่อให้การบริหารงาน เกิดความชัดเจน รัดกุมและเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย
อ่านประกอบ :
ชาวบ้านโวยโครงการ‘9101’อยุธยา ซื้อเครื่องพ่นยาหลักหมื่น-ได้ของราคาหลักพัน ยื่นบิ๊กตู่สอบ
ย้อนที่มา 'โครงการ9101’ สารพัดข้อร้องเรียนชาวบ้าน 'สุรินทร์-อยุธยา-อุบล' ก่อนบิ๊กตู่สั่งสอบ!
พลิก 22 โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ 52.5 ล ผลิตปุ๋ยอื้อ-กำหนดค่าวัสดุ แรงงานเท่ากันเป๊ะ 18 แห่ง
ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด
เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท
โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ถูกร้อง! จนท.จัดการเอง ซื้อปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้าน-ผู้ว่าฯ ตั้ง กก.สอบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/