ถอดรหัสจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกอุย โครงการ 9101 มหาสารคาม ทำไมแพงกว่าราคากลางหลายล้าน?
"... หากกลุ่มสมาชิกจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย โดยใช้ราคากลางปัจจัยการการผลิตของสำนักงานประมงอำเภอเมืองมหาสารคามและสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามกำหนด จะทำให้จัดซื้อในราคาถูกสามารถประหยัดเงินงบประมาณ รวม 3 อำเภอเป็นจำนวนเงิน 3,523,951.50 บาท (557,713.80 + 1,759,843.50 + 1,206,394.20) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปบริหารจัดการปัจจัยการผลิตให้สมาชิกได้เพิ่มขึ้น..."
ดูเหมือนว่า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรที่ประสบอุทกภัย ปี 2560 ของ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 187,630,000 บาท ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาโครงการรสนับสนุนงบประมาณเฉพาะการจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่กลุ่มสมาชิกในชุมชน ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามกิจกรรมที่เสนอ ประกอบด้วย 1.) การปลูกพืชอายุสั้น 2.) การเลี้ยง สัตว์ 3.) การผลิตอาหาร แปรรูปการผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และ 4.) การประมง
จะมิได้ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาข้อบกพร่องในการดำเนินงาน แค่เรื่องการบริหารจัดการโครงการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการดำเนินงานตามแบบเสนอโครงการที่เกี่ยวกับการแจกปัจจัยการผลิต ของกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงปัญหาสมาชิกกลุ่มได้รับปัจจัยการผลิตไม่ครบถ้วนและสมาชิกบางรายยังไม่ได้แปรรูป ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอไปก่อนหน้านี้เท่านั้น (อ่านประกอบ : พบพิรุธชื่อเกษตรกรไม่ตรงผลสอบ! สตง.สั่งตรวจจนท.ทุจริตงบโครงการ 9101 สารคาม 187 ล.)
หากแต่ในขั้นตอนการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ยังถูกตรวจสอบพบปัญหาการจัดซื้อในราคาสูงกว่าราคากลางหรือราคาอ้างอิงของทางราชการกำหนดอีกด้วย
ทั้งนี้ ในคู่มือการดำเนินงาน โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรที่ประสบอุทกภัย ปี 2560 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาโครงการ ข้อ 2.2.1 เรื่องการการจัดซื้อจัดหาควรพิจารณาจากแหล่งในชุมชนเป็นลำดับแรก ขณะที่วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มีราคามาตรฐานให้อ้างอิงจากราคาท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของ กิจกรรมการประมง และกิจกรรมการผลิตอาหารและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรฯ ของ สตง. พบว่า มีการจัดซื้อในราคาพันธุ์ปลา ที่สูงกว่าราคากลางหรือราคาอ้างอิงที่หน่วยงานราชการกำหนดไว้ ดังนี้
1. ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ ของอำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอยางสีสุราช และอำเภอนาดูน มีมติให้กลุ่มสมาชิกที่ดำเนินกิจกรรมการประมงจัดซื้อปัจจัยการผลิต โดยยึดราคากลางหรือราคาเฉลี่ยของสำนักงานประมงอำเภอเมืองมหาสารคามหรือสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม (แบบสำรวจราคาสัตว์น้ำ/ปัจจัยการผลิต ปี 2560 จังหวัดมหาสารคาม) เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อ และคณะกรรมการระดับอำเภอของอำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอบรบือ ไม่ได้กำหนดราคากลางปัจจัยการผลิตให้กลุ่มสมาชิกกิจกรรมการประมงใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อ โดยให้ทางกลุ่มจัดซื้อปัจจัยการผลิตในราคาไม่เกินจริงตามราคาตลาด
ราคากลางปัจจัยการผลิตของสำนักงานประมงอำเภอเมืองมหาสารคาม
1) พันธุ์ปลานิล ขนาด 5 - 7 ซม. ตัวละ 0.79 บาท
2) พันธุ์ปลาตะเพียน ขนาด 5 - 7 ซม. ตัวละ 0.76 บาท
3) พันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 5 - 7 ซม. ตัวละ 1.21 บาท
4) พันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 7 - 10 ซม. ตัวละ 1.72 บาท
5) พันธุ์ปลาดุกรัสเซีย ขนาด 3 - 4 ซม. ตัวละ1.12 บาท
6) พันธุ์ปลาดุกรัสเซีย ขนาด 4 - 5 ซม. ตัวละ1.56 บาท
ราคากลางปัจจัยการผลิตของสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม
1) ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 ซม. ตัวละ 1.21 บาท
2) ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 4 - 5 นิ้ว หรือ 10 - 13 ซม. ตัวละ 1.72 บาท
3) ปลาดุกรัสเซีย ขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 ซม. ตัวละ 1.12 บาท
4) ปลาดุกรัสเซีย ขนาด 4 - 5 นิ้ว หรือ 10 - 13 ซม. ตัวละ 1.56 บาท
แต่จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการจัดหาปัจจัยการผลิตกิจกรรมการประมงจำนวน 50 โครงการ พบว่า กลุ่มสมาชิกกิจกรรมการประมงนิยมเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 เซนติเมตร จำนวน 36 โครงการ
เมื่อทำการเปรียบเทียบราคาพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยที่ทางกลุ่มจัดซื้อกับราคากลางของคณะกรรมการระดับอำเภอของอำเภอเมืองมหาสารคาม และราคากลางปัจจัย การผลิตของสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามกำหนด
พบว่า กลุ่มสมาชิกกิจกรรมการประมงในอำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 ซม. สูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ ดังนี้
- คณะกรรมการระดับอำเภอของอำเภอเมืองมหาสารคาม โดยประมงอำเภอเมืองมหาสารคาม กำหนดราคากลางตัวละ 1.72 บาท กลุ่มสมาชิกฯ ในอำเภอเมืองมหาสารคาม จัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย รวม 6 โครงการ จำนวน 1,991,835 ตัว ราคาตัวละ 2.00 บาท เป็นเงิน 3,983,670.00 บาท หากจัดซื้อในราคากลางจะเป็นจำนวนเงิน 3,425,956.20 บาท ซึ่งถูกกว่าเป็นจำนวนเงิน 557,713.80 บาท (3,983,670 - 3,425,956.20)
- คณะกรรมการฯ ระดับอำเภอของอำเภอกันทรวิชัย กำหนดราคากลางปัจจัยการผลิต โดยใช้ราคากลางของสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม กำหนดราคากลางตัวละ 1.21 บาท กลุ่มสมาชิกในอำเภอกันทรวิชัย จัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย รวม 12 โครงการ จำนวน 2,227,650 ตัว ราคาตัวละ 2.00 บาท เป็นเงิน 4,455,300.00 บาท หากจัดซื้อในราคากลางจะเป็นจำนวนเงิน 2,695,456.50 บาท ซึ่งถูกกว่าเป็นจำนวนเงิน 1,759,843.50 บาท (4,455,300 - 2,695,456.50)
- คณะกรรมการระดับอำเภอของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย กำหนดราคากลางปัจจัยการผลิตโดยใช้ราคากลางของสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม กำหนดราคากลาง ตัวละ 1.21 บาท กลุ่มสมาชิกฯ ในอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย รวม 5 โครงการ จำนวน 4,159,980 ตัว ราคาตัวละ 1.50 บาท เป็นเงิน 6,239,970.00 บาท หากจัดซื้อในราคากลางจะเป็นจำนวนเงิน 5,033,575.80 บาท ซึ่งถูกกว่าเป็นจำนวนเงิน 1,206,394.20 บาท (6,239,970 -5,033,575.80)
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่าหากกลุ่มสมาชิกจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย โดยใช้ราคากลางปัจจัยการการผลิตของสำนักงานประมงอำเภอเมืองมหาสารคามและสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามกำหนด จะทำให้จัดซื้อในราคาถูกสามารถประหยัดเงินงบประมาณ รวม 3 อำเภอเป็นจำนวนเงิน 3,523,951.50 บาท (557,713.80 + 1,759,843.50 + 1,206,394.20) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปบริหารจัดการปัจจัยการผลิตให้สมาชิกได้เพิ่มขึ้น
2. จากการสัมภาษณ์คณะทำงานจัดซื้อของกลุ่มสมาชิกกิจกรรมการประมง จำนวน 51 ราย เพื่อทราบขั้นตอนการจัดหาปัจจัยการผลิต และหลักเกณฑ์การจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 เซนติเมตร
คณะทำงานจัดซื้อ จำนวน 24 ราย ให้ข้อมูลว่า จัดซื้อปัจจัยการผลิตโดยใช้วิธีการสืบราคาจากร้านค้า จำนวน 2 - 3 ร้าน และเลือกสั่งซื้อจากร้านที่เสนอราคาต่ำสุด กรณีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 เซนติเมตร จะจัดซื้อตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำในราคาไม่เกินตัวละ 2.00 บาท และคณะทำงาน จำนวน 27 ราย จัดซื้อพันธุ์ปลาดุก โดยไม่มีราคากลางแต่จะใช้วิธีการสืบราคาจากผู้ขายเสนอราคาไม่เกินตัวละ 2.00 บาท
สาเหตุปัญหา
สตง.ชี้สาเหตุว่า ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพเกษตกรผู้ประสบอุกภัย ปี 2560 กำหนดให้คณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ มีหน้าที่พิจารณา อนุมัติโครงการ กำกับ ติดตามการดำเนินงานโครงการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และรายงานผลการดำเนินงานโครงการ ซึ่งการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ราคากลางปัจจัยการผลิต
ขณะที่คณะกรรมการระดับชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เกิดความถูกต้องและโปร่งใส มิได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการฯ กำหนด และคณะทำงานจัดซื้อฯ ได้รับข้อมูลราคากลางพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยขนาด 3 - 4 นิ้ว หรือ 7 - 10 เซนติเมตร จากเจ้าหน้าที่ไม่ถูกต้องตรงกันกับราคากลางที่คณะกรรมการระดับอำเภอกำหนด
นอกจากนี้ ประธานกลุ่มสมาชิกในฐานะผู้เสนอโครงการ มิแจ้งผลการประชุมของคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอที่มีมติให้นำราคากลางของสำนักงานประมงอำเภอเมืองมหาสารคาม และสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม ให้สมาชิกรับทราบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการจัดซื้อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์ ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด สตง.เห็นว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ควรพิจารณาดำเนินการในโอกาสต่อไป ดังนี้
1. ก่อนดำเนินโครงการ ควรซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวกับการให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงานจัดซื้อจัดหาปัจจัย การผลิต เช่นการสืบราคา การจัดทำราคากลางหรือราคาอ้างอิง โดยนำราคาเฉลี่ยหรือราคาอ้างอิงของหน่วยงานราชการมาประกอบการพิจารณาจัดซื้อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกอำเภอ
2. ให้กำชับคณะกรรมการระดับชุมชน หากมีการดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าวควรติดตามตรวจสอบการด าเนินงานจัดซื้อของกลุ่มสมาชิกว่าดำเนินงานถูกต้องหรือไม่
3. ประธานกลุ่มควรนำมติการประชุม หรือคำแนะนำ ของคณะกรรมการระดับอำเภอ แจ้งให้สมาชิกกลุ่มและคณะทำงานรับทราบก่อนดำเนินงานโครงการ เพื่อให้สมาชิกและคณะทำงานถือปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวทางการดำเนินงานโครงการและความเห็นของคณะกรรมการระดับอำเภอที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ปัญหาโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรที่ประสบอุทกภัย ปี 2560 ของ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 187,630,000 บาท ยังไม่จบ
ยังมีประเด็นเรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานไม่เป็นไปตามคู่มือการดำเนินงานโครงการด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในตอนต่อไป
อ่านประกอบ :
ชาวบ้านโวยโครงการ‘9101’อยุธยา ซื้อเครื่องพ่นยาหลักหมื่น-ได้ของราคาหลักพัน ยื่นบิ๊กตู่สอบ
ย้อนที่มา 'โครงการ9101’ สารพัดข้อร้องเรียนชาวบ้าน 'สุรินทร์-อยุธยา-อุบล' ก่อนบิ๊กตู่สั่งสอบ!
พลิก 22 โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ 52.5 ล ผลิตปุ๋ยอื้อ-กำหนดค่าวัสดุ แรงงานเท่ากันเป๊ะ 18 แห่ง
ผู้รับเหมาโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ เพิ่งก่อตั้ง ต.ค.59-กก.แจงวิ่งหางานเอง ได้อีก 3 จังหวัด
เจาะปมโครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ขี้ไก่ กก.ละ 4 บาท ชาวบ้านซื้อขายแค่ 2 บาท
โครงการ 9101 จ.สุรินทร์ ถูกร้อง! จนท.จัดการเอง ซื้อปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้าน-ผู้ว่าฯ ตั้ง กก.สอบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/