มติทางการ!ป.ป.ช.ฟัน‘สุเทพ-ปทีป’คดีโรงพัก-แฟลต เสียหาย 5.7 พันล.-ดาบ ตร.เรียกเงิน 91 ล.
ป.ป.ช.เผยแพร่รายละเอียดชี้มูลความผิด ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ-พวก’ คดีโรงพักทดแทน 396 หลัง-สร้างแฟลตตำรวจ 163 หลัง รวมมูลค่าเสียหาย 5,722 ล้านบาท ชี้อนุมัติโดยไม่ผ่านมติ ครม. ‘พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ’ คนชงเสนอให้รวมสัญญาส่วนกลาง กก.จัดจ้างเอื้อประโยชน์ บ.พีซีซีฯ มีดาบตำรวจเรียกรับเงินกว่า 91 ล้านด้วย
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ใน 2 คดี คือกรณีการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลังเสียหาย 1,728 ล้านบาทเศษ และคดีก่อสร้างอาคารที่พักตำรวจ (แฟลต) 163 หลัง เสียหาย 3,994 ล้านบาท รวมความเสียหาย 5,722 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
1.คดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลัง เสียหาย 1,728 ล้านบาทเศษ
คดีนี้นี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างโรงพักทดแทน จำนวน 396 แห่ง โดยนายสุเทพอนุมัติเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างจากเดิมที่แบ่งเป็นรายภาค มารวมเป็นส่วนกลางในครั้งเดียว และสัญญาเดียว โดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ โดยมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นผู้เสนอเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้เป็นสัญญาตำรวจภูธรรายภาค หรือตำรวจภูธรรายจังหวัด ให้รวมเป็นสัญญาเดียวโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง โดยนอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมการประกวดราคายังเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา เนื่องจากช่วงเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง เคยพิจารณากรณีดังกล่าว จึงถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย) ดังนี้
1.) การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.) การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา
2.1) การกระทำของพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโท สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.2) การกระทำของพันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอก สุทธี โสตถิทัต พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอก ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอก ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)
3.) บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว
4.) สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโท สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
2.โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลต) ตำรวจ 163 หลัง เสียหาย 3,994 ล้านบาทเศษ
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) ตำรวจ จำนวน 163 หลัง โดยนายสุเทพได้อนุมัติให้ สตช. เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างจากเดิม ที่แบ่งเป็นรายภาค มารวมเป็นส่วนกางในครั้งเดียว และสัญญาเดียว โดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ โดยมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นผู้เสนอเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้เป็นสัญญาตำรวจภูธรรายภาค หรือตำรวจภูธรรายจังหวัด ให้รวมเป็นสัญญาเดียวโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง โดยนอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมการประกวดราคายังเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ด้วย
นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการก่อสร้างพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตำรวจภูธรภาค 6 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการตรวจการจ้างเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท และดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้างเป็นเงิน จำนวน 91,618,000 บาท อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติ เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้
1. ) การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกรรมเดียวกันกับกรณีอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2.) การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ พลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ พันตำรวจเอก ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ พันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจตรี สิทธิไพบูลย์ คำนิล พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ และพันตำรวจตรี สมาน สุดใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
3.) การกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
4.) การกระทำของพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ต่อ 3 เสียง ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
5.) การกระทำของ บริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
เมื่อถามว่า จะมีการขยายผลสอบเส้นทางการเงินดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ที่เรียกรับเงินกว่า 91 ล้านบาทว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่นั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ป.ป.ช. พบว่า มีการเรียกรับเงินจำนวนมาก ตัวเลขที่พบจริง ๆ มีมากกว่านี้ แต่พยานหลักฐานที่ตรวจสอบได้มั่นคงคือประมาณ 91 ล้านบาท โดยขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า จำนวนเงินทั้งหมดไปอยู่ที่ไหนอย่างไร ถ้าผลการดำเนินการตรวจสอบพบว่า ไปเกี่ยวข้องกับใคร จะดำเนินการไต่สวนต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. อย่างน้อย 3 ครั้ง โดยยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเอง ทั้งนี้ในการชี้แจงครั้งที่ 3 ระบุว่า กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา และบริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถสร้างสถานีตำรวจทั้ง 396 แห่งได้ทันตามกำหนดเวลานั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญา หรือการอนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการประมูล เพราะการทำสัญญาว่าจ้างดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบงบประมาณแผ่นดินของสำนักนายกรัฐมนตรีทุกขั้นตอน แต่เรื่องการก่อสร้างล่าช้าเสร็จไม่ทันกำหนด เป็นเรื่องของผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้
ส่วนกรณีการเปลี่ยนวิธีประมูลแบบรายภาคมาเป็นแบบรวมศูนย์ นายสุเทพ กล่าวว่า ชี้แจงไปหลายรอบแล้วว่า ตอนอนุมัติโครงการครั้งแรก พิจารณาตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ขณะนั้น เสนอมา เห็นว่ามีเหตุผลเรื่องการแยกสัญญาออกเป็น 9 ภาค จึงอนุมัติให้ดำเนินการ แต่ต่อมาสมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เป็น ผบ.ตร. ได้เสนอแก้ไขสัญญาว่าจ้างใหม่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายงบประมาณปี 2553 ที่ออกมาจากหลังการอนุมัติโครงการครั้งแรกแล้ว โดยระบุว่า หากเป็นโครงการเดียวกันไม่สามารถแยกเป็นหลายสัญญาได้ จึงเป็นที่มาของการแก้ไขสัญญาใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบงบประมาณปี 2553 ทุกโครงการก็ทำตามระเบียบดังกล่าว (อ่านประกอบ : พลิกคำชี้แจง‘สุเทพ’อนุมัติสร้างโรงพัก 5.8 พันล. ผ่าน ผบ.ตร.3 ยุค ทำตาม กม.)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดคำสั่งตั้ง กก.ไต่สวนคดีโรงพัก 396 แห่ง ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหา 16 ราย-นายพล ตร. 6
พลิกคดีโรงพักฉาวในมือ ป.ป.ช. สูญเสียพันล. 5ปียังไร้บทสรุป-‘สุเทพ’ แจงหน 3
เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’
หลักฐานสำคัญ! หนังสือ ‘สุภา’ ติง 4 ข้อปมก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง
ปมโรงพัก 396 แห่ง ผู้ชนะต่ำกว่าราคากลาง 450 ล.-ทำสัญญาหลังประกวด 8 เดือน
เผยโฉมสัญญารับเหมาโรงพัก 396 แห่ง จ่ายเงินล่วงหน้า 877.2 ล.
เปิดคำชี้แจงผู้แทน สตช. เปลี่ยนวิธีจ้างโรงพัก 396 แห่ง ยุคปทีป - สุเทพ เห็นชอบ
เปิดสถานะ ผู้รับเหมาโรงพัก 396 หลัง คู่สัญญารัฐหมื่นล. ล่าสุดเหลือรายได้ 14.2 ล.