- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกคำชี้แจง‘สุเทพ’อนุมัติสร้างโรงพัก 5.8 พันล. ผ่าน ผบ.ตร.3 ยุค ทำตาม กม.
พลิกคำชี้แจง‘สุเทพ’อนุมัติสร้างโรงพัก 5.8 พันล. ผ่าน ผบ.ตร.3 ยุค ทำตาม กม.
พลิกคำชี้แจง ‘สุเทพ’ ปมเซ็นอนุมัติเปลี่ยนแปลงสัญญาสร้างโรงพักทดแทน 396 หลัง 5.8 พันล้าน ผ่าน ผบ.ตร. 3 ยุค ‘พัชรวาท’ คนเสนอให้จ้างเป็นรายภาค ‘ปทีป’ ขอเปลี่ยนให้เหลือสัญญาเดียว ‘วิเชียร’ เสนอขออนุมัติราคา ‘พงศพัศ’ ปธ.กก.จัดจ้าง คนเห็นชอบ ‘พีซีซี’ ชนะต่ำกว่าราคากลาง 540 ล. ก่อน ป.ป.ช. ขีดเส้นตายสรุปคดีในปีนี้
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ‘กำนันสุเทพ’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนักการเมืองผู้มากบารมี อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ปัจจุบันเป็นแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ต้องออกมา ‘ไลฟ์สด’ ชี้แจงข้อเท็จจริงอยู่เกือบทุกวี่วัน
เนื่องจากช่วงกลางเดือน ส.ค. 2561 มีสื่อยื่นไมค์ถาม ‘บิ๊กกุ้ย’ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงความคืบหน้าคดีการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน (โรงพักทดแทน) จำนวน 396 หลัง วงเงินประมาณ 5.8 พันล้านบาท ที่รับเรื่องไต่สวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาตั้งแต่ปี 2556 แต่ปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า คดีดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และขีดเส้นตายให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในเดือน ส.ค. 2561 และอาจสรุปคดีดังกล่าวภายในเดือน ก.ย. 2561 นี้ด้วย
กล่าวโดยสังเขปสำหรับคดีก่อสร้างโรงพักทดแทนดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2553 ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยข้อเท็จจริงพบว่า จากเดิมที่ทำสัญญารายภาคให้เอกชนก่อสร้าง มีการปรับเปลี่ยนให้เหลือสัญญากับเอกชนรายเดียวเพื่อดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้นการก่อสร้างโรงพักทดแทนหลายแห่งไม่เสร็จตามกำหนด ทำให้ดีเอสไอเข้าไปสอบสวน เชื่อว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ก่อนสรุปสำนวนสอบสวนส่งให้ ป.ป.ช. ไต่สวนต่อในปี 2556
โดย ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง แบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ โดยแยกออกเป็น 2 สำนวน คือกล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และกล่าวหานายตำรวจระดับสูงหลายราย ต่อมา ป.ป.ช. มีการปรับเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน พร้อมนำ 2 สำนวนดังกล่าวมารวมกัน และเมื่อปี 2558 ได้ตีตกข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายสุเทพ และนายตำรวจระดับสูงหลายรายไปแล้ว หลังจากนั้นในช่วงปี 2558 นายสุเทพ ที่ขณะนั้นบวชเป็นพระภิกษุ ได้เข้าให้ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง จนเรื่องเงียบหายไปหลายปี กระทั่งเมื่อกลางเดือน ส.ค. 2561 เรื่องนี้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง จากคำให้สัมภาษณ์ของประธานกรรมการ ป.ป.ช. นั่นเอง (อ่านประกอบ : พลิกคดีโรงพักฉาวในมือ ป.ป.ช. สูญเสียพันล. 5ปียังไร้บทสรุป-‘สุเทพ’ แจงหน 3)
เรื่องนี้ทำให้นายสุเทพต้องออกโรงชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์หลายครั้ง งัดเอกสารหลักฐานในการทำสัญญาก่อสร้างโรงพักทดแทนดังกล่าว ไล่มาตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.-31 ส.ค. 2561 โดยเบื้องต้นนายสุเทพ ยืนยันว่า ข้อกล่าวหานี้ร้ายแรงมาก ความจริงกระบวนการนี้ตั้งข้อกล่าวหามาถึง 7 ปี และอดทนมาโดยตลอด เชื่อว่า ป.ป.ช. มีอคติ และเป็นขบวนการขัดขาทางการเมือง ภายหลังตั้งพรรค รปช. พร้อมท้าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วส่งสำนวนไปสู้กันในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และได้เข้ายื่นเอกสารหลักฐานชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เป็นหนที่ 3 เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา
“ถ้าผมผิด เอาชีวิตผมไปเลย” เป็นคำยืนยันอย่างหนักแน่นของนายสุเทพเกี่ยวกับกรณีนี้
ต่อมานายสุเทพ ได้โชว์เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างโรงพักทดแทนดังกล่าว โดยนายสุเทพอนุมัติไปตามหลักฐานและข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ลงนามในหนังสือสำคัญ 3 ฉบับ ฉบับแรกสมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. ที่สำนักงบประมาณมีความเห็นให้ สตช. ดำเนินการสร้างโรงพักทดแทนจำนวน 396 หลังเร่งด่วน และให้ตั้งงบประมาณปี 2552 จาก สตช. มาใช้ก่อนปีแรก 333 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณผูกพันรายจ่ายของรัฐบาลในปี 2553-2554 จากนั้นให้ สตช. ตกลงรายละเอียดรายจ่ายกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท ทำหนังสือสรุปแนวทางการจัดจ้าง 4 วิธี คือ 1.จัดจ้างโดยส่วนกลางแบบรวมการครั้งเดียว สัญญาเดียว 396 หลัง 2.จ้างโดยส่วนกลางแบบรวมการในครั้งเดียว แต่แยกการเสนอราคาเป็นรายภาค ภาค 1-9 ทำ 9 สัญญา 3.จัดจ้างโดยตำรวจภูธรภาค และ 4.จัดจ้างโดยตำรวจภูธรจังหวัด
ต่อมาคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดจ้างมี พล.ต.ท.พงศพัศ พงศ์เจริญ (ยศขณะนั้น) เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาเห็นว่า สมควรที่จะจัดจ้างในวิธีที่ 2 เพราะสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว สตช. ได้รับอาคารไว้ใช้ในราชการเวลาใกล้เคียงกันทุกจังหวัด เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ชอบด้วยเหตุผล จึงลงนามให้ความเห็นชอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2552
หลังจากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท พ้นจากตำแหน่ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เป็นรักษาการ ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 18 พ.ย. 2552 เสนอขอยกเลิกวิธีจัดจ้างที่เคยอนุมัติไปแล้ว และขออนุมัติหลักการประกวดราคาจัดจ้างโครงการนี้ รวมกับโครงการที่พักอาศัย (แฟลตตำรวจ) ด้วย โดย พล.ต.อ.ปทีป ให้เหตุผลว่า โครงการนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในลักษณะเป็นโครงการเดียว แล้วต้องผูกพันงบประมาณ 3 ปี ดังนั้นจำเป็นต้องประกวดราคาจ้าง โดยทำสัญญาจ้างเพียงสัญญาเดียว จึงถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ โดยปีแรกเอางบของ สตช. มาใช้ก่อน 311 ล้านบาท ปี 2552-2553 ผูกพันงบประมาณ 1,774 ล้านบาท และปี 2554 อีก 4,812 ล้านบาท เห็นว่าข้อเสนอของ พล.ต.อ.ปทีป ชอบด้วยเหตุผลและหลักการ จึงอนุมัติตตามที่ สตช. เสนอ
ต่อมา เมื่อ พล.ต.อ.ปทีป พ้นจากตำแหน่ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553 ขอรับความเห็นชอบราคา และขออนุมัติจัดจ้างก่อสร้าง โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2553 เคาะราคาแข่งกัน 73 ครั้ง ผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 5,848 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท และหนังสือของ พล.ต.อ.วิเชียร อ้างถึงหนังสือกรมบัญชีกลาง และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ บอกว่า เป็นอำนาจของตนที่จะให้ความเห็นชอบ จึงให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2553 หลังจากนั้นเริ่มก่อสร้าง และปรากฏว่าทำไม่เสร็จตามสัญญาในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการอนุมัติขยายเวลาออกไปอีก 3 ครั้ง ท้ายที่สุดถูกบอกเลิกสัญญา ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำประเด็นนี้มากล่าวหาว่า ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ เป็นเพราะตนไปเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง
“การกล่าวหาว่าลงนามจัดจ้างโครงการดังกล่าว เจตนาพิเศษหวังช่วยผู้รับเหมาคนใดคนหนึ่งให้ได้รับงานไป เป็นเหตุให้ก่อสร้างไม่สำเร็จ เป็นข้อหาที่มีอคติ เพราะวันอนุมัติไม่มีโอกาสทำนายได้ล่วงหน้าว่า ผู้ประกอบการรายใดจะเป็นผู้ชนะการประกวดราคา” นายสุเทพ ยืนยัน
นายสุเทพ ยังพาดพิงถึง พล.ต.ท.พงศพัศ พงศ์เจริญ (ยศขณะนั้น) ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดจ้างโครงการนี้ ที่รายงานว่า พอมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง กำหนดทีโออาร์ มีการประกวดราคา โดยยื่นซองวันที่ 20 ก.ค. 2553 และประกวดราคาวิธี E-Auction เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2553 มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเป็นผู้สรุปผลการประมูลถึง พล.ต.ท.พงศพัศ พบว่า มีผู้มีสิทธิ์เข้าประมูล 5 ราย โดยทั้ง 5 รายได้เคาะราคาแข่งกันในเวลา 30 นาที 73 ครั้ง จากราคาเต็มกว่า 6.2 พันล้านบาท ในที่สุดมีผู้เสนอราคาเหลือ 5.8 พันล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบนาท คือบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และมีการเสนอมายัง สตช. โดย พล.ต.ท.พงศพัศ ในฐานะผู้ช่วย ผบ.ตร. (ขณะนั้น) ลงนามวันที่ 11 ส.ค. 2553 หลังจากนั้นจึงเริ่มก่อสร้าง
เป็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งของคดีดังกล่าว จากปากคำชี้แจงของนายสุเทพ ที่ยืนยันว่า แม้จะเป็นผู้เซ็นอนุมัติเปลี่ยนแปลงสัญญาจากรายภาค มาเป็นสัญญารายเดียว แต่ทุกอย่างที่ลงนามไปนั้นดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงตามเอกสารของกรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เสนอไปแล้ว สรุปได้ว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองปัญหาการพัสดุและการพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องเรียนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 (อก.พอ.) ต่อโครงการนี้ พบว่า วิธีการคำนวณราคากลางไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี และรูปแบบการทำสัญญาเป็นสัญญาฉบับเดียว เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระเบียบ ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวมีที่มาจากกรณีการร้องเรียนของบริษัท ซินเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอความเป็นธรรมในการประมูลงานโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน ที่อ้างว่ากระบวนการประกวดราคาเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ร่วมเสนอราคาบางราย (อ่านประกอบ : เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’)
ขณะเดียวกันความเห็นของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ กวพ.อ. ส่งถึงเรียน ผบ.ตร. เมื่อเดือน ธ.ค.2554 กรณี บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ร้องเรียนขอความเป็นธรรมในการประมูลงานโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน โดยมีข้อสังเกตสำคัญ ๆ เช่น คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้มีการกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานตามพื้นที่ที่จะดําเนินการก็จะทําให้โครงการสําเร็จ ได้เร็วยิ่งขึ้น แต่กรณีไม่ปรากฏว่า สตช. ได้ดําเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนดไว้ จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ รูปแบบการทําสัญญาเป็นสัญญาฉบับเดียว จึงเป็นการดําเนินการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 เนื่องจาก การก่อสร้างสถานีตํารวจทั้ง 396 แห่ง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารสัญญา หากผู้ว่าจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างได้พร้อมกันทั้ง 396 แห่ง จึงเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถ ส่งมอบงานภายในกําหนดของสัญญา (อ่านประกอบ : หลักฐานสำคัญ! หนังสือ ‘สุภา’ ติง 4 ข้อปมก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง)
ปัจจุบัน น.ส.สุภา ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.
ท้ายที่สุดข้อเท็จจริงนี้จะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเร็ว ๆ นี้!
อ่านประกอบ :
ปมโรงพัก 396 แห่ง ผู้ชนะต่ำกว่าราคากลาง 450 ล.-ทำสัญญาหลังประกวด 8 เดือน
เผยโฉมสัญญารับเหมาโรงพัก 396 แห่ง จ่ายเงินล่วงหน้า 877.2 ล.
เปิดคำชี้แจงผู้แทน สตช. เปลี่ยนวิธีจ้างโรงพัก 396 แห่ง ยุคปทีป - สุเทพ เห็นชอบ
เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’
เปิดสถานะ ผู้รับเหมาโรงพัก 396 หลัง คู่สัญญารัฐหมื่นล. ล่าสุดเหลือรายได้ 14.2 ล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสุเทพจาก ไทยรัฐออนไลน์