- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกคดีโรงพักฉาวในมือ ป.ป.ช. สูญเสียพันล. 5ปียังไร้บทสรุป-‘สุเทพ’ แจงหน 3
พลิกคดีโรงพักฉาวในมือ ป.ป.ช. สูญเสียพันล. 5ปียังไร้บทสรุป-‘สุเทพ’ แจงหน 3
“…ไม่ว่าการขุดคดีดังกล่าวที่เป็นชนักติดหลังนายสุเทพขึ้นมาอีกครั้ง จะเป็นเหตุผลทางการเมือง หรือเพื่อ ‘เตะตัดขา’ ดิสเครดิตความน่าเชื่อถือภายหลังการกระโดดลงสนามการเมืองอีกครั้งของนายสุเทพหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงคือคดีการก่อสร้างโรงพักทดแทนในมือ ป.ป.ช. ที่รับมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านมาเป็นเวลากว่า 5 ปีเศษ ยังคงไม่มีบทสรุปใด ๆ นอกจากตีตกข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ ปัจจุบันโรงพักหลายร้อยแห่งถูกปล่อยทิ้งร้าง สูญเสียงบประมาณไปหลายพันล้านบาทเหมือน ‘ละลายแม่น้ำ’…”
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาในทันที!
ภายหลัง ‘กำนันสุเทพ’ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกลุ่ม กปปส. ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ยังคงตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ สมัยนายสุเทพ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง
ตามรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนัก ระบุตรงกันว่า ในวันที่ 20 ส.ค. 2561 นายสุเทพ จะเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงคดีนี้กับ ป.ป.ช. เป็นครั้งที่ 3 หลังจากเคยเข้าชี้แจงมาแล้ว 2 ครั้ง สมัยเป็นพระสุเทพ เมื่อปี 2558
เบื้องต้นต้องเข้าใจข้อเท็จจริงก่อนว่า คดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้น ‘ไต่สวนข้อเท็จจริง’ เท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับคดีนี้มาไต่สวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อปี 2556 และตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ต่อมาเมื่อปี 2558 จึงแจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพ กับพวก โดยตัดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ออกจากสำนวน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าเกี่ยวข้อง
นั่นหมายความว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ยังอยู่แค่ในช่วงการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังไม่มีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงยังไม่ใช่การ ‘ชี้มูลความผิด’ เหมือนที่สื่อหลายสำนักรายงานกันครึกโครมเมื่อหลายวันก่อน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบสำนวนการไต่สวนคดีเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงพักทดแทนนั้น ปรากฏในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 สำนวน (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่
1.กรณีการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ (ตีตกไปแล้ว) และนายสุเทพ กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ในการก่อสร้างจำนวน 396 แห่ง วงเงิน 5,848 ล้านบาท เนื่องจากมีเอกชนรายหนึ่งเป็นผู้รับจ้างในปี 2554 โดยยกเลิกแนวทางการจัดจ้างแบบแยกการเสนอราคา เป็นรายภาค และอนุมัติให้รวมสัญญาก่อสร้างเป็นสัญญาเดียว อันเป็นการกีดกัน และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง
2.กรณีการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน มีการกล่าวหา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. พล.ต.m.สุพร พันธุ์เสือ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง รวมถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง ของตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ด้วย
หากโฟกัสเฉพาะคดีที่นายสุเทพถูกกล่าวหา เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2556 ดีเอสไอที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี (ขณะนั้น) สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง จนพบว่า อาจมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวพันกับนักการเมือง จึงต้องส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อ ป.ป.ช. รับคดีดังกล่าวมา เห็นว่ามีมูล จึงตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีนายวิชา มหาคุณ ‘กระบี่มือหนึ่ง’ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ และเคยให้สัมภาษณ์ยืนยันผ่านสื่อว่า คดีก่อสร้างโรงพักทดแทนนี้ ไม่ใช่แค่ประเด็นการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น แต่ยังสาวลึกไปถึงเส้นทางการเงิน หรืออาจมีการ ‘ให้สินบน’ แก่เจ้าหน้าที่รัฐด้วย ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาลงลึกในรายละเอียด (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สาวเส้นทางเงินคดีก่อสร้างแฟลต ตร.ขยายผลสอบลึกเรื่องรับสินบนด้วย)
สำหรับรายละเอียดตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ระบุว่า ข้อเท็จจริงจากคณะอนุกรรมการไต่สวน พบว่า นายสุเทพ สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มีหน้าที่กำกับการปฏิบัติราชการของ สตช. อยู่ในขณะที่ สตช. เสนอเรื่องดังกล่าวให้พิจารณา นายสุเทพทราบอยู่แล้วว่า สตช. ต้องไปดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างเป็นรายภาค ตามที่ สตช. ได้เสนอ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้แล้ว หรือหาก สตช. ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้างก็ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน เช่นที่ สตช. เคยปฏิบัติมาแล้ว
เมื่อคราวที่ สตช. มีบันทึกข้อความฉบับที่ 0009.6/8096 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ขอเปลี่ยแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างจากรูปแบบการลงทุนภาครัฐ โดยวิธีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยให้บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ เป็นดำเนินการในรูปแบบการลงทุนภาครัฐ วิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยให้ สตช. ดำเนินโครงการผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2554
แต่นายสุเทพ กลับอนุมัติในวันที่ 20 พ.ย. 2552 ให้ สตช. เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการก่อสร้างโดยห้ามรื้อถอนอาคารเดิม เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยไม่เสนอเรื่องดังกล่าวแก่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้าง กระทั่ง สตช. ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลาง โดยมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียวก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ สตช. และราชการอย่างร้ายแรง (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.แจ้งข้อหา“ปู-ยกครม.”คดีจ่ายเงินเยียวยาเสื้อแดง-สุเทพด้วยสร้างโรงพัก)
นอกจากนี้ข้อมูลเมื่อปี 2558 ยังระบุด้วยว่า บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ สตช. ในการก่อสร้างโรงพักทดแทนทั่วประเทศนั้น มีการกู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ป.ป.ช. มองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแล้ว แต่ประเด็นนี้ค่อย ๆ เงียบหายไปจนถึงปัจจุบัน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สาวข้อมูลบ.รับเหมาสร้างโรงพัก ตร.ดอดกู้เงินที่เชียงใหม่)
ที่ผ่านมานายสุเทพพยายามแก้ต่างข้อกล่าวหานี้มาตลอด ตั้งแต่สมัยช่วงเป็น ‘พระสุเทพ’ ตอนปี 2558 หลังรับทราบข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช. สด ๆ ร้อน ๆ ได้เดินทางมาที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งผ้าเหลือง เพื่อแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ว โดยนำหนังสือคำให้การ และข้อมูลโครงการดังกล่าวแบบละเอียดยิบหลายร้อยหน้ามายื่นให้ ป.ป.ช. ด้วย
“ยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนที่สร้างไม่เสร็จเป็นเรื่องการบริหารสัญญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับกลุ่มผู้รับเหมา คิดว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้กับ ป.ป.ช. ครบถ้วนแล้ว และคงไม่ต้องมาอีก” เป็นคำยืนยันจาก พระสุเทพ ขณะนั้น (อ่านประกอบ : “พระสุเทพ”เข้าแจงปมโรงพักร้างรอบสอง-ป.ป.ช.ขีดเส้นลงมติ ก.ค.นี้)
ต่อมาเมื่อปี 2560 นายสุเทพ ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ถอดนายวิชา มหาคุณ ที่ปัจจุบันเกษียณจากกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่ยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีโรงพักทดแทนอยู่ ให้ถอดออกจากการเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เนื่องจากนายวิชา เป็นคู่ขัดแย้งในตอนที่ นายสุเทพมีมติ ก.ตร. กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ไม่สอดคล้องกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดร้ายแรงคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551
ใครจะไปเชื่อว่า ในเวลาต่อมา พระสุเทพ ที่ปัจจุบันคือนายสุเทพ ผู้ยอม ‘ตระบัดสัตย์’ หวนลงสนามการเมือง จะต้องถูกคดีนี้ตามมาหลอกหลอนกันอีกครั้ง ?
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุเทพ ไลฟ์สดผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงคดีนี้หลายครั้ง โดยยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ และนายวิชา ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯมี ‘อคติ’ กับตน และในวันที่ 20 ส.ค. 2561 จะนำข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดไปชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้ง ยืนยันว่า ตัวเอง ‘บริสุทธิ์’ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ไม่ว่าการขุดคดีดังกล่าวที่เป็นชนักติดหลังนายสุเทพขึ้นมาอีกครั้ง จะเป็นเหตุผลทางการเมือง หรือเพื่อ ‘เตะตัดขา’ ดิสเครดิตความน่าเชื่อถือภายหลังการกระโดดลงสนามการเมืองอีกครั้งของนายสุเทพหรือไม่ก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงคือคดีการก่อสร้างโรงพักทดแทนในมือ ป.ป.ช. ที่รับมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านมาเป็นเวลากว่า 5 ปีเศษ ยังคงไม่มีบทสรุปใด ๆ นอกจากตีตกข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ ปัจจุบันโรงพักหลายร้อยแห่งถูกปล่อยทิ้งร้าง สูญเสียงบประมาณไปหลายพันล้านบาทเหมือน ‘ละลายแม่น้ำ’
ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้เลย ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสุเทพ จาก www.straitstimes.com