ล้วงคำทำนาย‘สุวัจน์’! วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียเลิกสร้างโฮปเวลล์-จะมีข้อพิพาทนาน 10 ปี?
“…เนื่องจากโครงการนี้เป็นระบบการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งประชาชนต่างหวังจะให้เกิดผลสำเร็จ เพราะเวลาได้ล่วงเลยมาประมาณ 6 ปีแล้ว หากมีการบอกเลิกสัญญา และสามารถดำเนินการตามแนวทางเลือกที่เหมาะสม เร่งรัดการก่อสร้างโครงการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในเวลาที่สมควร จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ…”
“กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาสัมปทานโครงการนี้ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ลงนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 สัญญามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2534 เป็นต้นมา เป็นเวลาล่วงเข้าปีที่ 6 นับตั้งแต่สัญญามีผลบังคับใช้ โดยที่สัญญายังไม่มีแบบของระบบสมบูรณ์เพียงพอที่จะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ทันที คงมีแต่เพียงแนวความคิดในการออกแบบก่อสร้างระบบเท่านั้น เบื้องต้นของการดำเนินการออกแบบก่อสร้างจึงมีข้อขัดแย้งโต้เถียงกันถึงมาตรฐานอ้างอิงในการออกแบบ ในความล่าช้าในการอนุมัติการออกแบบ และการส่งมอบพื้นที่เส้นทางสัมปทานเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในความดูแลของ รฟท. อยู่บ้าง”
“แต่ต่อมาพิสูจน์ได้ว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ เอง ก็ไม่พร้อมในการออกแบบก่อสร้างในส่วนเกี่ยวข้อง โดยสามารถเริ่มงานเจาะเสาเข็มต้นแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2536 บริเวณวัดเสมียนนารี และภายหลังเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเป็นลำดับมา การก่อสร้างโครงการก็ยังดำเนินอย่างเชื่องช้า แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายรัฐจะได้กำหนดมาตรการเร่งรัดแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาบริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับอ้างถึงอุปสรรคของพื้นที่ก่อสร้าง และอ้างปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลสมควรมาโดยตลอด”
คือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่กระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม นำมาเป็นเหตุผลในการชงคณะรัฐมนตรีขอ ‘บอกเลิก’ สัญญาสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟยกระดับกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (อ่านประกอบ : คุ้ยเหตุผลคมนาคมยุค‘สุวัจน์’ เบื้องหลัง! ชนวนเลิกสัญญาก่อสร้าง‘โฮปเวลล์ฯ’?)
นับเป็น ‘ก้าวแรก’ ในการยุติบทบาทการก่อสร้างโครงการดังกล่าว กระทั่งรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมว.คมนาคม ใช้เป็นเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาเมื่อปี 2541
เหตุผลในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานก่อสร้างโครงการ ‘โฮปเวลล์ฯ’ ยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั้น กระทรวงคมนาคม โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้วิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสียของการบอกเลิกสัญญา รวมถึงแผนรับรองหากมีการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวด้วย
มีอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นจากหนังสือกระทรวงคมนาคมที่นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาเรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้
ข้อดี เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐได้พิจารณาทบทวน เพื่อที่จะเข้าแก้ไขปัญหาในการดำเนินการตามโครงการของสัญญาสัมปทานนี้ได้อย่างเต็มที่ และเป็นการยุติปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานแล้วอีกด้วย นอกจากนี้แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาฝ่ายรัฐได้พยายามให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท ภายใต้กรอบของสัญญาสัมปทานด้วยดีตลอดมา แม้แต่การบอกเลิกสัญญาจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ
ข้อเสีย เนื่องจากกระบวนการตามขั้นตอนของการบอกเลิกสัญญาจะต้องใช้ระยะเวลาระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเองระยะหนึ่ง และการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ อาจเกิดกรณีพิพาทในชั้นศาล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งด้วย คาดว่าขบวนการทั้งหมดนี้ อาจใช้ระยะเวลารวม 10 ปี จึงมีผลทำให้สัญญาสิ้นสุดลง อันจะเป็นผลทำให้ระยะเวลาก่อสร้างโครงการต้องยืดเยื้อออกไป ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้
แผนรองรับเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา มี 5 ทางเลือก ได้แก่
หนึ่ง รัฐเป็นผู้ประสานให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วมทุนในลักษณะ Consortium ใหม่ กรณีนี้รัฐเป็นผู้ประสานงานกับสถาบันการเงิน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ผลิตจำหน่ายอุปกรณ์ล้อเลื่อน (รถไฟชุมชน) และบริษัทผู้รับเหมา เพื่อให้เข้าร่วมทุนกัน โดยรัฐอาจต้องเข้าร่วมทุนด้วย ซึ่งอาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทาน เช่น ขยายอายุสัมปทาน การพิจารณาผลประโยชน์ตอบแทน ประการสำคัญโครงการต้องคุ้มค่าการลงทุน (Project Feasible) ด้วย การดำเนินการดังกล่าวนี้ เข้าข่ายต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าโครงการจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ด้วย
สอง ให้เอกชนรายใหม่เข้าดำเนินการแทนบริษัท โฮปเวลล์ฯ โดยประเมินค่าก่อสร้างของบริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นมูลค่าหุ้น กรณ๊นี้ให้เชิญชวนเอกชนรายใหม่เข้าทำการแทนบริษัท โฮปเวลล์ฯ ทั้งนี้ขึ้นกับผลการเจรจาและยินยอมของบริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นสำคัญ โดยอาจต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงขอบเขตของงาน และระยะเวลาสัมปทาน เพื่อให้โครงการคุ้มค่าการลงทุน และเข้าข่ายต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
สาม รัฐและบริษัท โฮปเวลล์ฯ ร่วมทุนก่อสร้าง หรือร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายในประเทศ หรือบริษัทมหาชน เข้ารับดำเนินการสัมปทานโครงการ กรณีดังกล่าวนี้มีความเป็นไปได้สูง สร้างความเชื่อถือต่อสถาบันการเงิน แต่การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน หรือบริษัทมหาชน มีรายละเอียดซับซ้อนที่จะต้องศึกษากำหนดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม โดยต้องว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการเงิน และวิศวกรรมให้คำปรึกษากำหนดรูปแบบการลงทุนและประโยชน์ตอบแทนที่จูงใจให้เข้าร่วมทุน และขึ้นกับผลตอบแทนการลงทุนก่อสร้างโครงการคุ้มค่าการลงทุนอย่างไร หรือไม่ เป็นสำคัญด้วย อีกทั้งเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
สี่ รัฐดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบ Tunkey โดยให้บริษัทผู้รับจ้างจ่ายเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ ตามผลการเจรจาไปก่อน โดยกำหนดว่ารัฐจะจ่ายคืนภายใน 10 ปี หรือนานกว่าตามความเหมาะสม กรณีนี้สมควรต้องศึกษาขอบเขตงานก่อสร้างโครงการที่เหมาะสมจำเป็น กำหนดเงื่อนไขรูปแบบการลงทุนก่อสร้าง และการชำระเงินคืนที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยรัฐอาจต้องรับภาระให้การรับรองโครงการกับสถาบันการเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งเงินสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโครงการในเบื้องต้น
ห้า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่าก่อสร้างสนับสนุน
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมประเมินผลกระทบของการมีมติคณะรัฐมนตรี หากบอกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวรวม 4 ข้อ ดังนี้
1.ด้านเศรษฐกิจ ถ้าโครงการนี้มีความล่าช้าออกไปอีก และไม่สามารถคาดได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด จะมีผลกระทบต่อแผนงานการแก้ไขปัญหาทางจราจรของ กทม. และปริมณฑล อันจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
2.ด้านงบประมาณของรัฐ รัฐจะต้องมีภาระจัดงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการต่อไป
3.ด้านสังคม เนื่องจากโครงการนี้เป็นระบบการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งประชาชนต่างหวังจะให้เกิดผลสำเร็จ เพราะเวลาได้ล่วงเลยมาประมาณ 6 ปีแล้ว หากมีการบอกเลิกสัญญา และสามารถดำเนินการตามแนวทางเลือกที่เหมาะสม เร่งรัดการก่อสร้างโครงการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในเวลาที่สมควร จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ
4.ด้านปัญหาการจราจร ในช่วงการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ กระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบแล้ว ขณะนี้มีโรงการก่อสร้างระบบคมนาคมอื่น จะแล้วเสร็จก่อนเดือน ธ.ค. 2541 หลายโครงการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการจราจรในช่วงเวลาดังกล่าวเพียงเล็กน้อย แต่ในระยะยาว หากสามารถดำเนินการตามแนวทางเลือกที่เหมาะสม จะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรให้สำเร็จตามเป้าหมายของระบบการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งหมดได้
ทั้งหมดคือบทวิเคราะห์-การประเมินข้อดีข้อเสียของกระทวงคมนาคม ที่ลงนามโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หากคณะรัฐมนตรีมีมติบอกเลิกสัญญาสัมปทานก่อสร้าง ‘โฮปเวลล์ฯ’ กระทั่งมีการบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดีก่อนบอกเลิกสัญญา คณะรัฐมนตรีมีหนังสือถามความเห็นด้านกฎหมาย และผลกระทบหากบอกเลิกสัญญาโครงการนี้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ด้วย สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
คุ้ยเหตุผลคมนาคมยุค‘สุวัจน์’ เบื้องหลัง! ชนวนเลิกสัญญาก่อสร้าง‘โฮปเวลล์ฯ’?
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ล้วงแผนการเงิน‘โฮปเวลล์’-ไทม์ไลน์สร้างทางรถไฟยกระดับ 5 ปีคืบ 12% ชนวนถูกเลิกสัญญา?
คมนาคมตั้ง กก.รับผิดทางละเมิดหาตัวคนชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล.
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ไฟเขียวเว้นเก็บภาษียุค‘อานันท์’-เปิด 4 ข้อสังเกต รมต.สำนักนายกฯปมสร้างโฮปเวลล์?
ความพยายาม‘มนตรี’ขอเว้นเก็บภาษี บ.โฮปเวลล์ฯ ‘คลัง’เบรก-‘ชาติชาย’ถอยหวั่นรัฐสูญ 364 ล.
โชว์เอกสารประวัติศาสตร์! ‘มนตรี’ ชง ‘ชาติชาย’ สร้างทางรถไฟยกระดับ-‘โฮปเวลล์’ยื่นซองรายเดียว
ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์
9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสุวัจน์จาก แนวหน้าออนไลน์