ย้อนข้อมูล 10 หน่วยงานรัฐ โดนมรสุม 'ข้อครหา' ความไม่โปร่งใส รอบปี 2561
ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเรื่องการบริหารในหลากหลายประเด็นจนกระทบต่อภาพลักษณ์การดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสในการจัดทำโครงการต่างๆ ข้อครหาเรื่องการปฎืบัติหน้าที่ของผู้บริหารในองค์กร และบางหน่วยงานผู้บริหารก็ถูกคำพิพากษาทางอาญาในเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการทำงานของรัฐบาลตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในโอกาสที่ปี 2561 กำลังจะผ่านพ้นไป สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปรวบรวมข้อมูลมานำเสนอว่า มีหน่วยงานใดบ้างในรอบปี 2561 ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในการบริหารงานหรือการจัดทำโครงการต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ สารพัดปัญหากรมสอบสวนคดีพิเศษ
เริ่มต้นกันที่เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 เวลา 10.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ อท.469/2560 ระหว่าง สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด โดย นายสำรวย วงษ์สนอง ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. มนตรี บุณยโยธิน ที่ 1 , ร.ต.อ. กำพล สุจินันท์กุล ที่ 2, พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง ที่ 3 (อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ) กล่าวหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ กรณีสั่งอายัดบัญชีธนาคารของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการสืบสวนสอบสวนใช้ระยะเวลานานเกินสมควร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รวม 6 ข้อกล่าวหา ศาลมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ และให้นัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในวันที่ 5 มิ.ย.2561
โดยข้อกล่าวหาที่ศาลฯมีคำสั่งรับฟ้องคือข้อกล่าวหาที่ 6 ได้แก่ จำเลยทั้งสามได้ร่วมอายัดเงินในบัญชีของโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลากว่า 11 เดือนเศษ โจทก์ได้มีหนังสือสอบถามความคืบหน้าของคดีจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการตอบกลับ และมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ขอให้ปลดการอายัดเงินบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา แต่เพิกเฉย จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการสั่งอายัดเงินในบัญชีฯทุกบัญชี และมีเจตนาที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีล่าช้า โดยกลั่นแกล้งโจทก์ เพื่อให้ได้รับความเสียหาย ไม่มีเงินใช้จ่ายในการประกอบกิจการค้าตามวัตถุประสงค์โจทก์ได้
สำหรับความเป็นมาคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2560 สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกับพวก 3 คนเป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สืบเนื่องมาจากการจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขังจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยวิธีพิเศษ สหกรณ์วิเศษฯเป็นผู้ชนะในการเสนอราคาทั้ง 2 ครั้ง แต่ ถูกร้องเรียนว่าร่วมฮั้วประมูลกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย อ้างว่านายณัฏฐชัย จิตรถนอม เป็นรองประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด และ เป็นประธานสหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด ทั้งสองได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ขณะที่สหกรณ์วิเศษฯปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ต่อมามีการกล่าวโทษในเรื่องดังกล่าวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและสั่งอายัดเงินบัญชีธนาคารของสหกรณ์วิเศษฯทุกบัญชีฯและสั่งให้กรมราชทัณฑ์ระงับการเบิกจ่ายเงินที่สหกรณ์วิเศษฯเป็นคู่สัญญาอีก 4 เรือนจำ ขณะที่สหกรณ์วิเศษฯร้องเรียนว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษใช้อำนาจมิชอบ ไม่เป็นธรรม จงใจกลั่นแกล้ง ไม่แจ้งข้อหาหน่วยงาน ไม่สอบสวนการจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำแห่งอื่นที่หน่วยงานเป็นคู่สัญญาแล้วตั้งเอกชนรายใหญ่เป็นตัวแทนช่วง ขณะที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันถึงความจำเป็น และการสอบสวนกระทำตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย หลังจากมีผู้ร้องเรียน ต่อมาสหกรณ์วิเศษฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯเป็นคดีในขณะนี้ (อ่านประกอบ:ศาลอาญาทุจริตฯรับฟ้องคดีกล่าวหาบิ๊กดีเอสไอ-พวก สั่งอายัดบัญชีฯกว่า 11 เดือน)
ต่อมาก็มีประเด็นเกี่ยวกับดีเอสไออีก โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2561 น.ส.กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ จัดแถลงข่าวกรณียื่นฟ้องอธิบดี ดีเอาไอ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ รวม 18 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
น.ส.กัลยาณี กล่าวว่า การฟ้องดังกล่าวนั้นเนื่องมาจาก กลุ่มผู้เสียหายทั้ง 12 ราย ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ ได้รับคำร้องทุกข์ดังกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2559 จำนวน 6 คดี แต่ดีเอสไอไม่ดำเนินการ “สืบสวนสอบสวน” แต่ใช้วิธี “ตรวจสอบข้อเท็จจริง” แทน ซึ่งเป็นการบิดเบือนอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และเป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้ร้องทุกข์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (อ่านประกอบ: DSI ยันดำเนินการตามกม.! กรณีศูนย์ลูกหนี้ฯ ยื่นฟ้องอธิบดี-พวก18คน สั่งยุติไม่สอบคดีฟอกเงิน)
@ศาลปกครองสั่ง ขสมก.ชดใช้ บ.เบสรินทร์
วันที่ 10 เม.ย. 2561 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ 502, 955/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 662,663/2561 ระหว่าง บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี, บริษัทรถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-4) กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ขอให้ตรวจรับมอบรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) จำนวน 390 คัน ณ ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ
คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ขสมก.ผิดสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์เอ็นจีวี สัญญาเลขที่ ร.50/2559 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2559 กรณีไม่ตรวจสอบรับรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 390 คัน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบตามสัญญา โดยอ้างว่า สำนักงานอัยการมีความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีรอกรมศุลกากรตรวจสอบเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของสินค้าก่อน อันถือเป็นการอ้างเหตุนอกสัญญา โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจรับมอบรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวตามสัญญาจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังคงเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
โดยศาลพิพากษาให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการไม่ชำระราคารถยนต์โดยสาร พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2560 จนถึงวันฟ้อง (7 มิ.ย. 2560) รวมเป็นเงิน 1,048,499,346.44 บาท ค่าเสียหายจากการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง จำนวน 12,092,442 บาท ค่าจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสาร จำนวน 98,830,336.35 บาท และค่าเสียหายจากการคืนเงินค้ำประกันล่าช้า เป็นเงินจำนวน 547,427.71 บาท รวมเป็นเงินที่ ขสมก.ต้องชดใช้เป็นจำนวน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,147,831,350.06 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ (อ่านประกอบ:อีกคดี! ศาลปค. สั่ง ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหาย บ.เบสท์รินฯ 1 พันล. เลิกสัญญาเมล์เอ็นจีวีมิชอบ)
@ สำนักวิชาการ ม.สารคามฯยกเลิกกิจกรรมรับมือหน่วยตรวจสอบฯ หลังอิศราตีข่าว
เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค.ถึงช่วงต้นเดือน ก.ย. สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่ข่าวกรณี สำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม เตรียมจัดงานสัมมนา ‘การรับมือหน่วยงานตรวจสอบสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างชอบธรรม’ ในวันที่ 14-16 ก.ย. 2561 โดยเรียกเก็บค่าเข้างานรายละ 3,900 บาท แต่ต่อมาเมื่อเผยแพร่ข้อมูลได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ผอ.สำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม ระบุว่าได้ยกเลิกการจัดงานนี้ไปแล้ว เพราะเกรงว่าจะมีคนเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการสัมมนาเพื่อหาช่องโหว่ในกฎหมาย ป.ป.ช. หรือ สตง. แต่เพื่อวิเคราะห์กฎหมายไม่ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำผิด
อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่จากสำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม อ้างว่า เคยเชิญเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อขอให้มาบรรยายแล้ว แต่เจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 หน่วยงานเชิญยาก และไม่ยอมมา เพราะไม่ใช่หน้าที่นั้น (อ่านประกอบ : สำนักวิชาการ ม.สารคามฯสั่งเลิกงานรับมือ ป.ป.ช.-สตง.หลัง'อิศรา'ตีข่าว-หวั่นเข้าใจผิด, ไส้ในสัมมนารับมือ ป.ป.ช.-สตง. สำนักวิชาการ ม.สารคามฯ-เปิดช่องท้องถิ่นซิกแซก?)
ต่อมานายวิโรจน์ ฆ้องวงศ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.มหาสารคาม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่าจากการตรวจสอบเอกสารการเชิญของหน่วยงานต่าง ๆ ใน จ.มหาสารคาม ไม่ปรากฏว่า มีเอกสารการเชิญของสำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม เพื่อขอเจ้าหน้าที่ไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายของ ป.ป.ช. แต่อย่างใด (อ่านประกอบ:จนท.ท้องถิ่นถูกสอบอื้อ!ป.ป.ช.แปลกใจสำนักวิชาการ ม.สารคามฯจัดงานรับมือ-ยันไม่เคยเชิญ)
@เปิดปมซื้อขายดาวเทียม 7,000 ล้าน กับข้อครหาGISTDA
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องจากกรณีที่ คณะผู้สังเกตการณ์ ตามโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) จำนวน 6 ราย ที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ส่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้แจ้งขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่
โดยให้เห็นเหตุว่า คณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2560 ถึงปัจจุบัน พิจารณาแล้วเห็นว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้ให้ความสนใจต่อรายงานการแจ้งเตือน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2561 เป็นต้นมา (อ่านประกอบ : ปฏิบัติหน้าที่ต่อก็ไม่เกิดปย.! ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรมยกขบวนลาออกดาวเทียมTHEOS-2, โชว์หนังสือ ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรม ทำไมต้องยกขบวนลาออกโครงการดาวเทียมTHEOS-2?)
ผู้สังเกตการณ์ 1 ใน 6 ราย ยังได้ระบุกับสำนักข่าวอิศราถึงประเด็นที่มีความไม่ชอบมาพากลว่า "มีหลายกรณีด้วยกัน อย่างเช่นเรื่องขั้นตอนการเปิดซองเทคนิคและซองราคา ที่ตามระเบียบควรจะเปิดซองตามลำดับ แต่โครงการนี้เปิดพร้อมกันเลยทั้ง 2 ซอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีบุคคลจากบริษัทที่เข้ามาร่วมประกวดราคา ปรากฏชื่อเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับงานประกวดราคาในโครงการด้วย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก" (อ่านประกอบ : หวั่นตรายางรับรองเรื่องไม่ถูกต้อง! ผู้สังเกตการณ์ ชี้ปมTHEOS-2 บ.ร่วมประมูลโผล่ชื่อที่ปรึกษา)
ดังนั้นทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาโครงการจัดหาพิจารณกระบวนการจัดหาโครงการดาวเทียมธีออส 2 โดยมีนายหิรัญ รดีศรีทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ ก่อนที่เมื่อวันที่ 11 ต.ค.จะได้มีการแถลงสรุปประเด็นการพิจารณาว่าไม่พบข้อครหาว่ามีการทุจริตแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามทางด้านของนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)หรือ ACT ก็ได้กล่าวว่าในประเด็นการมีบุคคลจากบริษัทที่เข้ามาร่วมประกวดราคา ปรากฏชื่อเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับงานประกวดราคาในโครงการด้วยนั้น เรื่องนี้จะต้องให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.)เข้าไปตรวจสอบต่อไป (อ่านประกอบ: 'สุวิทย์' แถลงชัดซื้อดาวเทียม7พันล.ไม่พบทุจริต-รองปธ.ACTชี้เรื่องถึงป.ป.ช. ขึ้นอยู่กับ คปท.)
และจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกจาก คปท.แต่อย่างใด
@ เฮลิคอปเตอร์ ปภ. ยังไร้บทสรุป จะได้ซื้อหรือไม่
ประเด็นนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 กรมบัญชีกลางได้เผยแพร่ประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ. วันที่ 18 ธ.ค.2560 ยกเลิกประกาศประกวดราคาจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย จำนวน 2 ลำ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 18 ส.ค.2560 โดยให้เหตุผลว่า มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และเสนอราคาเกินวงเงินงบประมาณ
ก่อนหน้านี้ ปภ. ออกประกาศการประกวดราคาซื้อโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับกองทัพบก ในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย จำนวน 2 ลำ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินราคากลาง 1,732 ล้านบาท โดยประกวดราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 มีผู้รับเอกสาร 7 ราย และเสนอราคา 1 ราย โดยราคาที่เสนอคือ 1,862,500,956 บาท สูงกว่าราคากลาง 130,500,956 บาท (อ่านประกอบ:สั่งยกเลิกประกวดจัดซื้อ ฮ.ปีกหมุน ปภ.1.7 พันล. หลังอิศราตีแผ่สูงกว่าราคากลาง130 ล.)
ต่อมาตลอดทั้งปี 2561 ปภ.ก็ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ครั้งใหม่ด้วยราคากลาง 1,732 ล้านบาทมาโดยตลอด และก็มีบริษัทเดียวที่ยื่นเรื่องเสนอราคามาตลอดเช่นกัน ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบแล้วก็พบว่าบริษัทดังกล่าวชื่อว่าบริษัทดาต้าเกท จำกัด ซึ่งเสนอขายเฮลิคอปเตอร์รุ่น MI17 ให้กับทาง ปภ. โดยการเจรจาครั้งสุดท้ายระหว่าง ปภ.กับบริษัทก็พบว่า บริษัทฯ จึงได้ลดราคาลงมาอยู่ที่ 1,862,475,956 บาท (ลดจากราคาเดิม 6,519,700 บาท) แต่ราคาดังกล่าวยังคงสูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 162,475,956 บาท และสูงกว่าราคากลาง 130,475,956 บาท แต่ทาง ปภ.เห็นว่าราคาที่ ทางบริษัทฯที่เสนอมานั้นมีความเหมาะสมจึงได้ยื่นเรื่องขอให้สำนักงบประมาณได้พิจารณาเห็นชอบต่อไป
และล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ทางสำนักงบประมาณได้เห็นเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับไปให้ ปภ.แยกรายการจัดซื้ออยู่ โดยให้เปรียบเทียบว่าเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi17 กับเฮลิคอปเตอร์รุ่นอื่นนั้นราคาเป็นอย่างไร และต้องแยกรายการในส่วนเครื่องมือเสริมภารกิจกู้ภัยเข้าไปด้วย ซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว่าเฮลิคอปเตอร์ของ ปภ.นั้นจะแตกต่างจากเฮลิคอปเตอร์ของทางทหาร ในเรื่องอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ต่างกันไป (อ่านประกอบ:สั่งแยกรายการจัดซื้อให้ชัดทำไมแพง! สำนักงบฯ ตีกลับปภ.ขอซื้อฮ.1.8พันล.สูงกว่าราคากลาง)
@เปิดประเด็นจัดซื้อกุญแจเท้าความมั่นคงสูงกรมราชทัณฑ์
สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 กรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เป็นคู่สัญญาโครงการซื้อเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 5,000 ชุด วงเงิน 49,750,000 บาท จากราคากลาง 50,000,000 บาท เฉลี่ยชุดละ 9,950 บาท ก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ทำสัญญาจัดซื้อ เครื่องพันธนาการ จาก บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด มาแล้วจำนวน 2 สัญญา คือ 1. โครงการประกวดราคาซื้อเครื่องพันธนาการ จำนวน 2 รายการ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 23,115,110 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 และ 2. ประกวดราคาซื้อเครื่องพันธนาการ จำนวน 2 รายการ (กุญเเจมือ กุญเเจเท้า และกุญเเจเท้าความมั่นคงสูง) โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 10,990,304 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 59 นับรวมวงเงิน 3 สัญญา 83,855,414 บาท (อ่านประกอบ : เครื่องละ9.9พัน! กรมราชทัณฑ์ ทุ่ม 49.7 ล้าน ซื้อกุญแจเท้าความมั่นคงสูง 5 พันชุด)
ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ที่ผ่านมานั้นได้ รับสัญญาจากกรมราชทัณฑ์ไปจำนวน 5 สัญญา รวมวงเงินกว่า 86.25 ล้านบาท
และในเวลาต่อมาผู้บริหารของบริษัทก็ได้ชี้แจงเบื้องต้นว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทได้สัญญากับทางกรมราชทัณฑ์ส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทนั้นเป็นตัวแทนจำหน่ายแห่งเดียวในประเทศไทยที่นำเข้าเครื่องพันธนาการซึ่งผลิตโดยบริษัท BOA ซึ่งได้รับมาตรฐาน NIJ หรือมาตรฐานว่าด้วยสถาบันการยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ตรงตามความต้องการของทางกรมราชทัณฑ์
อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวของกรมราชทัณฑ์ ณ ขณะนี้ นายปราโมทย์ ทองศรี นักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษ กรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องพันธนาการ ปี 2558 ว่า กำลังค้นหาข้อมูเกี่ยวกับสัญญการจัดซื้อดังกล่าวอยู่ แต่เบื้องต้นยังไม่พบเอกสาร ต้องขอเวลาในการสืบค้น เมื่อพบข้อมูลแล้วจะติดต่อสำนักข่าวอิศราเพื่อให้ข้อมูลอีกครั้ง (อ่านประกอบ: อิศรา'ถาม'-บ.คาร์โก้เคมี 'ตอบ' ว่าด้วยปมผูกขายกุญแจมือ-เท้า กรมราชทัณฑ์ 85ล., เคยใช้ของจีนแดง 3 ด.พัง! ข้อมูลใหม่จัดซื้อกุญแจนักโทษความมั่นคงสูง-สินค้ามีหลายยี่ห้อ,กรมราชทัณฑ์ ขอเวลาหาเอกสารแข่งงานปี58 หลังอิศราพบ2 บ.ขายกุญแจเท้านักโทษส่อกลุ่มเดียวกัน)
@จ่าร้องนายพลใช้รถส่วนตัวเบิกน้ำมันหลวงโดนปลดราชการ ส่วนกองทัพบกยังเงียบ
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวกรณีที่จ.ส.อ.ชนกานต์ คุ้มชนม์ ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายทหารยศพลตรีมีตำแหน่งระดับเจ้ากรมหนึ่งกับผู้เกี่ยวข้อง อ้างว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเรื่องเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ถูกต้อง โดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งหนังสือตอบกลับ ผู้ร้อง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2561 ว่าได้ประสานส่งเรื่องให้กองทัพบกพิจารณาเรื่องร้องเรียนแล้ว
เบื้องต้น จ.ส.อ.ชนกานต์ ถูกคำสั่งให้พักราชการและระงับการจ่ายเงินเดือน เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2561 ต่อมามีคำสั่งปลดจากราชการ ในวันที่ 7 มี.ค.2561 นับตั้งแต่ขาดราชการวันที่ 30 ต.ค.2560 ตามรายงานเสนอของ รอง ผบ.กรม เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2561 ที่เห็นว่ามีมูลกระทำความผิดฐานขาดหนีราชการจริง และให้ดำเนินคดีอาญาฐานหนีราชการทหาร และ ถูกถอดยศทหารเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2561
เมื่อถูกปลดออกระหว่าง 7 พ.ค.- 3 ก.ค.2561 จ.ส.อ.ชนกานต์ ทูลเกล้าฯถวายฎีกา, ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี อ้างมีการทุจริตกรณีเบิกจ่ายน้ำมันในหน่วยงาน ,การใช้รถยนต์โดยสารของหน่วยงานไปบริการแก่หน่วยงานภายนอก , การเปลี่ยนวิธีให้ผู้ปกครองจ่ายเงินค่าเทอมของโรงเรียนในสังกัด ,กรณีใช้พื้นที่ของราชการเปิดร้านกาแฟ ,การเบิกเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงของพลทหาร , อบายมุข บ่อนพนันในอาคารที่พัก ,ร้องเรียนต่อการตรวจเงินแผ่นดิน และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) กระทั่งถูกจับกุมตัวในเวลาประมาณ 07.00 น. วันที่ 4 ก.ค.2561 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.เตาปูน และ นายทหารพระธรรมนูญ ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 20 มี.ค.2561 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2561 ให้ครอบครัวส่งคืนบ้านพักอาศัยของทางราชการ ภายใน 7 วัน
ต่อมาก็มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2561 จ.ส.อ.ชนกานต์ ถูกศาลทหารกรุงเทพสั่งจำคุก 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ลงให้จำคุก 2 เดือน ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ:ออกจากคุกทหารแล้ว! จ่าสิบเอกคนร้องนายกฯสอบนายพลเบิกจ่ายน้ำมันหลวง)
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินการกับนายทหารยศพลตรีคนดังกล่าวนั้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก กองทัพบกได้ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค.แค่ว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และยังอยู่ในระหว่างดำเนินการเท่านั้น (อ่านประกอบ: 'วินธัย' เผยทบ. สั่งตั้งกก.สอบปมเบิกจ่ายน้ำมันแล้ว - แจงเหตุปลด 'จ.ส.อ.' ขาดราชการจริง)
และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรในประเด็นนี้เพิ่มเติมอีกเลย
@เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ สวนคำสั่ง คตง. สกอ. ไม่ดำเนินการสอบวินัย ผู้บริหารไปต่างประเทศ ผลาญงบ 6 ล้าน
เป็นประเด็นต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเช่นกัน จากกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีการพิจารณาผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการโครงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จำนวน 40 คน ในช่วงวันที่ 17-29 มี.ค. 2557 กำหนดเดินทางไปดูงานที่ จีน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส 4 ประเทศ รวมระยะเวลา 13 วัน ใช้เงินจำนวนทั้งสิ้น 6,040,487.13 บาท โดย สตง.ตรวจสอบพบว่า การศึกษาดูงานในส่วนของจีน จำนวน 4 วัน มีการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเสฉวนครึ่งวัน ส่วนการศึกษาดูงานอีก 3 ประเทศ ที่เหลือรวม 9 วัน เป็นการเยี่ยมชมและท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญภายใต้หัวข้อ "ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในโครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้แต่อย่างใด
เบื้องต้น ที่ประชุม คตง. มีมติเห็นว่า การเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ในส่วนของประเทศจีน เป็นการศึกษาดูงานที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ แต่ในส่วนการเดินทางไปศึกษาดูงานที่เยอรมนี สวิตเชอร์แลนด์ และฝรั่งเศส จำนวน 9 วัน เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาตามที่ระบุไว้โครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้ เป็นเพียงการเยี่ยมชม และท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญเท่านั้น ขณะที่อธิการบดี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการและรองอธิการบดีซึ่งเป็นผู้ขออนุมัติโครงการและร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งสองคน จึงมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและต้องรับผิดทางละเมิดคืนเงินแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วย
และต่อมาในช่วงสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ได้มีหนังสือจี้ไปยังสภามหาวิทยาลัย โดยให้โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสั่งการและต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า
ส่วนนายกสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางวินัยแก่อธิการบดี ตามความในข้อ 41 วรรคสาม แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ความว่า ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยสายบริหารวิชาการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้โดยอนุโลม
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยได้เคยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้วแต่ผลของการสอบข้อเท็จจริงกลับสวนทางกับการชี้มูลของ สตง.
อย่างไรก็ตามไม่มีความคืบหน้าในประเด็นเหล่านี้ออกมาเลยจนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ได้ทำหนังสือมายังสำนักข่าวอิศรา เพื่อขอทราบในประเด็นว่าสำนักข่าว อิศรา ตรวจพบหนังสือสั่งการจาก สกอ.ตามที่เป็นข่าวได้อย่างไร และใครเป็นผู้ส่งหนังสือสั่งการ (ลับมาก) จาก สกอ.มาที่สำนักข่าวอิศรา
และ จากกรณีที่สำนักข่าวอิศราได้เขียนข้อมูลว่าได้รับมาจากแหล่งข่าวใน สกอ. และได้รับรายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่จึงอยากจะสอบถามว่าสำนักข่าวอิศราได้รับแหล่งข่าวมาจากบุคคลใดและได้รับมาด้วยวิธีการใด
แต่อย่างไรก็ตามกลับไม่มีประเด็นในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัย เข้าไปสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยเลย ส่วนทางอธิการบดีมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเป็นรักษาการอยู่นั้น ปัจจุบันสำนักข่าวอิศรายังไม่สามารถติดต่อได้ (อ่านประกอบ : สกอ. จี้ มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป6ล. หลังสรุปผลสอบไม่พบผิดสวนทาง สตง.,เมื่อมรภ.เชียงใหม่ ตั้งกก.สอบหาคนปล่อย นส.ลับ 'สกอ.' จี้ลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป 6 ล.)
@อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ ติดคุก ปมหักเงินทอนงบประมาณสนับสนุนวัด
ข้ามมาที่ประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ซึ่งมีข้อครหาในเรื่องของการทุจริตเช่นกัน โดยเมื่อวันที่เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการทุจริตเงินงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปี 2556 และปี 2558 จำนวน 2 สำนวน ได้แก่ คดีโอนเงินให้วัดต่างประเทศ 5.7 ล้านบาท และคดีเงินทอนวัดใน จ.ลำปาง 5 แห่ง และ จ.แพร่ 6 แห่ง โอนเงินไป 24 ล้าน แต่ทอนเข้ากระเป๋าตัวเอง 17.8 ล้านบาท
การชี้มูลครั้งนี้มีอดีตข้าราชการระดับสูงใน พศ. โดนด้วย 3 ราย ได้แก่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. และนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. และ น.ส.ประนอม คงพิกุล อดีต รอง ผอ.พศ. นอกจากนี้ยังมีข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และอดีตพระระดับเจ้าอาวาสถูกชี้มูลความผิดด้วย
โดยจากการไต่สวนข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า ในช่วงประมาณปลายปี 2557 พระศิวโรจน์ ปิยรัตน์เสรี เจ้าอาวาสวัดบ้านอ้อในขณะนั้น ได้ติดต่อไปยังนางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสาสุทธิ นักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอความช่วยเหลือในการขอเงินงบประมาณอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัดประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งต่อมานางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ ได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งยังนางสาวประนอม คงพิกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน
โดยนางสาวประนอม คงพิกุล ได้แจ้งนางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ ว่าให้ไปแจ้งแก่วัดที่ต้องการเงินงบประมาณ ว่าหากวัดต้องการที่จะได้รับเงินงบประมาณจะต้องโอนเงินคืนมาประมาณ 70 – 80 % จากนั้นนางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ จึงได้ติดต่อไปยังพระศิวโรจน์ เกี่ยวกับเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเมื่อพระศิวโรจน์ ได้ยอมรับเงื่อนไขแล้ว ก็ไปติดต่อวัดต่างๆ ที่ตนรู้จัก โดยอ้างว่าตนสามารถช่วยเหลือให้ได้รับงบประมาณได้ และได้แจ้งชื่อวัดทั้ง 6 วัด ประกอบด้วย วัดบ้านอ้อ ซึ่งเป็นวัดที่พระศิวโรจน์ เป็นเจ้าอาวาสเอง วัดวัฒนาราม วัดอุมลอง วัดทุ่งต๋ำ วัดหาดปู่ด้าย และวัดศรีบุญนำ ให้แก่นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ
ต่อมานายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และนางสาวประนอม คงพิกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้สั่งการให้นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน ดำเนินการจัดทำเอกสารบันทึกขออนุมัติการ เพื่อเสนอชื่อวัดที่นางสาวประนอม คงพิกุล ได้ติดต่อไว้แล้ว เพื่อเสนอต่อนายพนม ศรศิลป์ ให้อนุมัติงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด และนายพนม ศรศิลป์ ได้อนุมัติเงินงบประมาณวัดละ 4,000,000 บาท
เมื่อได้มีการอนุมัติเงินงบประมาณแล้วนางสาวประนอม คงพิกุล จึงให้นางณัฐฐาวดี ไปแจ้งพระศิวโรจน์ ว่าวัดต่างๆ จะต้องโอนเงินกลับคืนมาจำนวนเท่าใด และพระศิวโรจน์ เมื่อได้รับเงินโอนกลับคืนมาแล้วจะต้องโอนเงินต่อไปยังบัญชีของบุคคลดังนี้ 1. นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ 2. พระครูวิสุทธิวัฒนกิจ และ 3. นางสาวอุบล ดิษฐ์ด้วง ซึ่งในรายของพระครูวิสุทธิวัฒนกิจ และนางสาวอุบล ดิษฐ์ด้วงนั้น นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ ไปขอใช้บัญชีดังกล่าวตามคำสั่งของนางสาวประนอม คงพิกุล
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติชี้มูลความผิด นายพนม น.ส.ประนอม นายวสวัตติ์ นางณัฐฐาวดี และนายศิวโรจน์ (สึกจากการเป็นพระแล้ว) ทั้งความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง พร้อมกับส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา และส่งให้ อสส. ดำเนินการฟ้องต่อศาลในเขตรับผิดชอบแล้ว
และนอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้มีมติชี้มูลนายพนมและพวกว่าเกี่ยวข้องกับการโอนเงินให้วัดไทยเดนมาร์กฯ 5.7 ล้านบาท เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โอนเงินให้วัดพระพุทธบาทตากผ้า ในวันที่ 8 มกราคม 2556 จำนวน 3,000,000 บาท และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวน 3,000,000 บาท เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้โอนเงินดังกล่าวให้พระสุทธิพงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยในประเทศเดนมาร์ก ตามเลขที่บัญชีเงินฝากที่ได้รับแจ้งจากพระสุทธิพงศ์ ในวันที่ 9 มกราคม 2556 จำนวน 2,899,970 บาท และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวน 2,899,970 บาท รวมทั้งสิ้น 5,799,940 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าการดำเนินการจัดสรรเงินดังกล่าวทั้ง 2 ครั้ง ได้มีการพิจารณาจัดสรรไปโดยไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยการขอและการจัดสรรเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด กล่าวคือไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปี 2556 ของวัดพระพุทธบาทตากผ้า จึงมีมติชี้มูลความผิด นายนพรัตน์ นายพนม นายเฉลิมพล นายวสวัตติ์ และพระสุทธิพงศ์ ทั้งความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัย
ซึ่งปัจจุบันนายพนมและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ก็ได้ถูก ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตัดสินให้จำคุกไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค. หลังจากที่ศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงเห็นว่า กลุ่มผู้ต้องหาร่วมกับวัดสมคบกันวางแผนโดยอาศัยฐานะความเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัด การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ ให้กับวัดที่ไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาสังกัดหรือตั้งอยู่
(อ่านประกอบ:พฤติการณ์‘บิ๊ก พศ.’ถูก ป.ป.ช. ฟันคดีโอนให้วัด ตปท.5 ล.-เงินทอน 6 วัด 17 ล.)
@เปิดปมทุจริต กกท. จาก Air Race 1 สู่สนามกีฬา ท้าทายความสามารถผู้ว่าคนใหม่
สุดท้ายนี้เป็นประเด็นความไม่โปร่งใสที่เกี่ยวข้องกับการบริหารของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งท้าทายการทำหน้าที่ของการทำหน้าที่ของ ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ฯคนใหม่เป็นอย่างมาก โดยเริ่มกันตั้งแต่เกี่ยวกับการจัดแข่งขันเครื่องบินใบพัดหรือ Air Race 1 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 17-19 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งพบข้อพิรุธว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณให้จัด Air Race 1 World Series แล้ว กลับมีการเปลี่ยนแปลงชื่อและรูปแบบการจัดงานเป็น Air Race 1 World Cup ซึ่งมีสถานะและความสำคัญน้อยกว่า โดยที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้สั่งการให้กกท. ไปติดตามประเด็นดังกล่าว และนำเรื่องเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
ล่าสุด นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่า กกท.คนปัจจุบัน กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนชื่อจัดงานจาก World Series เป็น World Cup ที่มีการพูดถึงในที่ประชุม กกท. มีการรายงานข้อเท็จจริงเข้ามาให้ทราบแล้ว ประเด็นคือ การแข่งรายการนี้ไม่ได้มีการแข่งขันเป็น World Series จริง เพราะตามข่าวก็คือไม่ปรากฏในฐานข้อมูลต่างๆทั้งในเว็บไซต์และฐานข้อมูลการแข่งเป็น World Series แบบนั้น และการที่เสนอเรื่องและผ่านคณะรัฐมนตรีไปว่าเป็น World Series ดังนั้นก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ดังนั้นก็ต้องไปสืบหาต้นตอว่าชื่อการแข่งขัน World Series นั้นมันมีที่มาอย่างไร และทำไมตอนแรกถึงมีการเสนอชื่อ World Series ขึ้นมาในการเสนอเรื่องและปล่อยให้ผ่าน คณะรัฐมนตรีได้ ทั้งๆที่ไม่มีอยู่จริง (อ่านประกอบ:ชัดแล้ว World Seriesไม่มีจริง! ผู้ว่าฯ กกท.ลุยสืบต้นต่อชงครม.เปลี่ยนชื่อจัดแข่ง Air Race1)
ประเด็นนั้นถือเป็นประเด็นสืบเนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราเคยติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาใน 7 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ จังหวัดสระบุรี วงเงินรวมกว่า 1,200 ล้านบาท ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินงานพบปัญหาการก่อสร้างล่าช้า (มีเฉพาะศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ จังหวัดสระบุรีที่ส่งมอบงานเรียบร้อย) และการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องตามระเบียบ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่แต่งตั้งโดย นายสกล วรรณพงษ์ อดีตผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มีการสรุปผลชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องไป แต่หลังจากนั้นเรื่องราวก็เงียบหายไป พร้อมกระแสข่าว ผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวฯ สั่งการให้มีการพิจารณาผลสอบใหม่เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มีโอกาสลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงความคืบหน้าการก่อสร้างงานสนามกีฬา ในจังหวัดนราธิวาส ที่กกท.ทำเอ็มโอยูว่าจ้างกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีศูนย์สร้างทางลำปาง เป็นผู้รับผิดชอบ พบว่า สภาพสนามกีฬาในปัจจุบัน ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ งานหลายส่วนอยู่ในสภาพทรุดโทรม
ซึ่งในประเด็นนี้นายก้องศักดิ์ก็ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า "ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าผลการตรวจสอบให้บอร์ด กกท.รับทราบตลอดว่า มีความคืบหน้าอะไรอย่างไรบ้าง และมีประเด็นไหนที่ยังติดขัด เพราะตอนนี้ทางคณะกรรมการตรวจสอบที่รัฐมนตรีรับผิดชอบ และมีตัวแทนจากทั้ง สตง. กรมบัญชีกลาง มาร่วมตรวจสอบการก่อสร้างสนามกีฬากำลังดูรายละเอียดอยู่ โดยพิจารณาในประเด็นว่าสมควรจะให้รับมอบงานหรือไม่ ก่อนจะส่งความเห็นไปยังบอร์ด กกท.ให้พิจารณาดำเนินการต่อไป"(อ่านประกอบ: 'ประสงค์' พาไปดูสนามกีฬานราธิวาส 'กกท.' จ้างกรมทางหลวงสร้าง-งานไม่เสร็จทรุดโทรมหนัก)
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับ 10 หน่วยงานราชการ ที่มีปัญหาโดนมรสุมข้อครหา ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายเรื่องที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และต้องติดตามดูกันต่อไปว่าในปี 2562 ที่จะมาถึงนี้ ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/