สำนักวิชาการ ม.สารคามฯสั่งเลิกงานรับมือ ป.ป.ช.-สตง.หลัง'อิศรา'ตีข่าว-หวั่นเข้าใจผิด
สำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม สั่งยกเลิกด่วน! งานสัมมนารับมือหน่วยงานตรวจสอบ ป.ป.ช.-สตง. คิดเงินหัวละ 3,900 บาท หลัง 'อิศรา' เปิดประเด็นได้ 3 ชั่วโมงเศษ รักษาการ ผอ.สำนักฯยัน ไม่มีเจตนาทำให้เข้าใจผิด แค่ต้องการให้ท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง ไม่ทำผิดพลาดอีก อ้างเชิญ จนท.ป.ป.ช.-สตง. มาบรรยายแล้ว แต่ไม่ยอมมา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อกลางเดือน ส.ค. 2561 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีหนังสือลงนามโดย ผศ.ธีรยุทธ ชาติชนะยืนยง รักษาการตำแหน่ง ผอ.สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำหนดจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร ‘การรับมือหน่วยงานตรวจสอบสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างชอบธรรม’ ที่ จ.มหาสารคาม ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมตักศิลา อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม โดยกำหนดค่าลงทะเบียนรายละ 3,900 บาท
หนังสือดังกล่าวระบุสาระสำคัญว่า เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ ศึกษาแนวทางการปฏิบัติในกฎหมายอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่น บริหารงานองค์กรได้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม โดยเชิญนายประวิทย์ เปรื่องการ อดีต ผอ.ส่วนมาตรฐานวินัยบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักพัฒนาระบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พร้อมทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร
สำหรับผู้เข้ารับการสัมมนาสามารถเบิกค่าลงทะเบียนได้เต็มจำนวนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2557 หมวด 2 ข้อ 28 (1) และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ดูเอกสารประกอบ)
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุไว้ในหนังสือฉบับดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานนบริการวิชาการรายหนึ่งรับสาย ยืนยันว่า งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นจริง มีการเชิญนายประวิทย์ เปรื่องการ มาจริง
เจ้าหน้าที่รายนี้แจ้งว่า จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดสำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม ที่อยากจัดสัมมนาลักษณะนี้ เลยแจ้งไปยังนายประวิทย์ว่า จะจัดกันอย่างไร นายประวิทย์เลยบอกว่า ให้จัดในลักษณะอย่างนี้ และกำหนดหัวข้อการสัมมมนา และบรรยายมาให้ ส่วนทำไมต้องเป็นนายประวิทย์นั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้สำนักบริการวิชาการ เชิญนายประวิทย์มาเป็นวิทยากรบ่อยครั้งแล้ว
“วัตถุประสงค์หลักในการจัดโครงการสัมมนานี้คือ การเชิญอาจารย์ประวิทย์มาบรรยายการปฏิบัติหน้าที่ของท้องถิ่นว่า ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการ อย่าทำผิดกฎหมาย สอนวิธีปฏิบัติว่า ต้องทำงานยังไงให้ไม่ผิดพลาด และรับมือกับการตรวจสอบที่ผิดพลาด เพราะที่ผ่านมา ท้องถิ่น จ.มหาสารคาม ถูกตรวจสอบบ่อยครั้ง มีการทำงานซิกแซก ข้าราชการฝ่ายการเมือง กดดันข้าราชการประจำ จนเกิดการถูกตรวจสอบวินัยหลายอย่าง มีการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ดำเนินการกับข้าราชการ ดังนั้นต้องการให้ข้าราชการรู้จักกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันการทำผิดพลาด” เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุ
เมื่อถามว่า ถ้าอยากรู้รายละเอียดกฎหมาย ป.ป.ช. และ สตง. ทำไมถึงไม่เชิญวิทยากรจาก ป.ป.ช. และ สตง. มาบรรยาย เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุว่า ต้องเรียนตามความจริงว่า การเชิญเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. และ สตง. มาบรรยายนั้นยากมาก เพราะต้องเป็นการประสานระดับจังหวัด การประสานระดับมหาวิทยาลัยแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผ่านมาเคยเชิญหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ สตง. อ้างว่า ไม่ใช่หน้าที่ เพราะหน้าที่เขาคือการตรวจสอบ ทำให้การจัดสัมมนาครั้งนี้ต้องเชิญบุคคลภายนอกมาบรรยาย
ผู้สื่อข่าวพยายามขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ผศ.ธีรยุทธ ชาติชนะยืนยง รักษาการตำแหน่ง ผอ.สำนักบริการวิชาการ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุว่า ไม่สะดวกที่จะให้เบอร์โทรศัพท์
เมื่อติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์สำนักบริการวิชาการ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งรับสาย ระบุว่า ผศ.ธีรยุทธ ไปราชการที่ กทม. แต่ไม่สามารถให้เบอร์ส่วนตัวได้ ขอให้ทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ แล้วจะติดต่อกลับไป
ภายหลังนำเสนอข้อมูลกรณีนี้ไปประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ติดต่อกลับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ภายหลังสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวนี้บนเว็บไซต์ ผศ.ธีรยุทธ ได้โทรกลับมาหาตน สั่งการให้ยกเลิกโครงการสัมมนาหัวข้อนี้แล้ว เนื่องจากทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย คนในจังหวัดมหาสารคามอาจเข้าใจผิดขึ้นได้ และยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาจัดให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารท้องถิ่นทราบช่องโหว่ของกฎหมาย ป.ป.ช. และ สตง. แต่ต้องการให้เข้าใจกฎหมายใหม่ของ 2 หน่วยงานนี้เท่านั้น เพื่อจะได้ไม่ทำผิดพลาด และปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและโปร่งใส