ไส้ในสัมมนารับมือ ป.ป.ช.-สตง. สำนักวิชาการ ม.สารคามฯ-เปิดช่องท้องถิ่นซิกแซก?
“…ขณะเดียวกันก็ยังมีเกราะป้องกันให้หน่วยรับตรวจ หรือผู้ถูกไต่สวนอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะต้องศึกษาให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีภูมิคุ้มกันที่ดี ถูกต้อง และชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกลงโทษ ประกอบกับในกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดไว้ ทั้งคดีอาญาที่มีโทษจำคุกถึงประหารชีวิต ความรับผิดทางแพ่ง โทษทางวินัย และรวมไปถึงถูกถอดถอนจากตำแหน่ง…”
“วัตถุประสงค์หลักในการจัดโครงการสัมมนานี้คือ การเชิญอาจารย์ประวิทย์ (เปรื่องการ อดีต ผอ.ส่วนมาตรฐานวินัยบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักพัฒนาระบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น) มาบรรยายการปฏิบัติหน้าที่ของท้องถิ่นว่า ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการ อย่าทำผิดกฎหมาย สอนวิธีปฏิบัติว่า ต้องทำงานยังไงให้ไม่ผิดพลาด และรับมือกับการตรวจสอบที่ผิดพลาด”
“เพราะที่ผ่านมา ท้องถิ่น จ.มหาสารคาม ถูกตรวจสอบบ่อยครั้ง มีการทำงานซิกแซก ข้าราชการฝ่ายการเมือง กดดันข้าราชการประจำ จนเกิดการถูกตรวจสอบวินัยหลายอย่าง มีการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ดำเนินการกับข้าราชการ ดังนั้นต้องการให้ข้าราชการรู้จักกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันการทำผิดพลาด”
เป็นคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เกี่ยวกับกรณีการจัดโครงการสัมมนา ‘การรับมือหน่วยงานตรวจสอบสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างชอบธรรม’
อย่างไรก็ดี ภายหลังนำเสนอข้อมูลกรณีนี้ไปประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ติดต่อกลับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ภายหลังสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวนี้บนเว็บไซต์ ผศ.ธีรยุทธ ได้โทรกลับมาหาตน สั่งการให้ยกเลิกโครงการสัมมนาหัวข้อนี้แล้ว เนื่องจากทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย คนในจังหวัดมหาสารคามอาจเข้าใจผิดขึ้นได้ และยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาจัดให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารท้องถิ่นทราบช่องโหว่ของกฎหมาย ป.ป.ช. และ สตง. แต่ต้องการให้เข้าใจกฎหมายใหม่ของ 2 หน่วยงานนี้เท่านั้น เพื่อจะได้ไม่ทำผิดพลาด และปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและโปร่งใส(อ่านประกอบ : สำนักวิชาการ ม.สารคามฯสั่งเลิกงานรับมือ ป.ป.ช.-สตง.หลัง'อิศรา'ตีข่าว-หวั่นเข้าใจผิด)
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากบางฝ่ายว่า การจัดโครงการสัมมนานี้ เป็นไปเพื่อหา ‘ช่องโหว่’ ของข้อกฎหมายของ ป.ป.ช. และ สตง. หรือไม่ ?
เพราะที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.มหาสารคาม ถูกตรวจสอบบ่อยครั้ง และกรณีใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 32 แห่ง ทุจริตการบรรจุพนักงานส่วนตำบล จนนำไปสู่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 พักงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวนกราวรูดนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 32 แห่ง พ่วงด้วยข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีกหลายราย (อ่านประกอบ : จ่าย6แสนแก้คะแนน!ป.ป.ช.ฟัน2นายก อบต. สารคามฯ-อ.จุฬาฯปมจัดสอบฉาว, เบื้องหลัง! ม.44 เชือด‘ขรก.-นายก อบต.’ ยกสารคามฯปมจัดสอบ พนง.ฉาว?)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอ ดังนี้
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำหนังสือลงนามโดย ผศ.ธีรยุทธ ชาติชนะยืนยง รักษาการตำแหน่ง ผอ.สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง จ.มหาสารคาม และท้องถิ่น จ.มหาสารคาม เพื่อแจ้งกำหนดโครงการสัมมนา ‘การรับมือหน่วยงานตรวจสอบ ป.ป.ช.) สตง. อย่างชอบธรรม’
มีการเชิญ นายประวิทย์ เปรื่องการ อดีต ผอ.ส่วนมาตรฐานวินัยบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักพัฒนาระบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือที่เจ้าหน้าที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘อาจารย์’ มาเป็นวิทยากรหลัก พร้อมด้วย นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และนิติกรชำนาญการพิเศษ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมบรรยายด้วย
กำหนดการจัดคือ ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมตักศิลา อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม
หลักการและเหตุผลของโครงการนี้ ตามหนังสือสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า จากการที่มีการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2560 ในกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมากในทุกด้าน มีรายละเอียดมากมายซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงค่อนข้างสูง
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเกราะป้องกันให้หน่วยรับตรวจ หรือผู้ถูกไต่สวนอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะต้องศึกษาให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีภูมิคุ้มกันที่ดี ถูกต้อง และชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกลงโทษ ประกอบกับในกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดไว้ ทั้งคดีอาญาที่มีโทษจำคุกถึงประหารชีวิต ความรับผิดทางแพ่ง โทษทางวินัย และรวมไปถึงถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล็งเห็นความสำคัญ ความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน จึงจัดโครงการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
สำหรับวัตถุประสงค์โดยสรุปคือ เพื่อวิเคราะห์จำแนกแจกแจงเนื้อหาของ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับโดยละเอียด ศึกษาแนวทางการปฏิบัติในกฎหมายอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามหลักนิติธรรม และสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ปลอดภัยจากคดีความทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง ถูกลงโทษวินัย และการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะส่งผลดีต่อชาติบ้านเมืองโดยรวม
กลุ่มเป้าหมาย คือบรรดาข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น รองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าสำนักปลัด ผอ.กองทุกกอง นิติกร และตำแหน่งอื่น ๆ รวมถึงนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายบริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงานสำนักงานในท้องถิ่น โดยผู้ที่ผ่านการอบรมเกิน 80% จะได้รับใบรับรองจากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วย
สำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน คิดรายละ 3,900 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเอกสารการฝึกอบรม ค่าห้องประชุม ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าตอบแทนวิทยากร ค่ากระเป๋า (ไม่รวมค่าที่พัก ค่ายานพาหนะ และค่าเบี้ยเลี้ยง) โดยวิธีชำระเงินเป็นเงินสด ชำระค่าลงทะเบียนในวันอบรม หรือสั่งจ่ายเช็คในนาม ‘สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม’ นำเช็คมายื่นในวันสัมมนา (ดูเอกสารประกอบท้ายรายงาน)
ทั้งหมดคือรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสัมมนาดังกล่าวของสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด จนทำให้หน่วยงานตรวจสอบเข้ามาดำเนินการเหมือนที่ผ่านมาในอดีตอีก
ขณะเดียวกันอ้างว่า ได้เชิญเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อให้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แล้วหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงานอ้างว่า ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ?
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ร้อนแรงถึงการจัดสัมมนาดังกล่าวว่า อาจเป็นการเจาะ ‘ช่องโหว่’ ของกฎหมาย ป.ป.ช. และ สตง. ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นลงมือทำอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ?
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ต้องรอหน่วยงานจาก ป.ป.ช. และ สตง. ให้คำตอบอีกครั้ง !