ปิดม่านมหากาพย์นาฬิกาเพื่อน‘บิ๊กป้อม’ ป.ป.ช.ตีตก-เหลือปมรับทรัพย์สินเกิน 3 พัน?
“…เดือน ธ.ค. 2561 บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาที่ต่างประเทศ ได้ตอบกลับมา ป.ป.ช. แต่บอกมาแค่ 10 เรือน จากทั้งหมด 22 เรือน รวมถึงไม่ระบุด้วยว่านาฬิกายี่ห้อดังกล่าวมีใครเป็นผู้ซื้อ หรือเป็นเจ้าของบ้าง ก่อนจะนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเสนอ 2 แนวทางคือ 1.ให้ขยายเวลาคณะทำงานฯไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อ หรือ 2.เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอให้ข้อกล่าวหาตกไป ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าวไป เบ็ดเสร็จใช้ระยะเวลาราวเกือบ 1 ปีถึงมีข้อยุติ…”
ในที่สุดก็มีบทสรุปแล้ว!
สำหรับประเด็นการครอบครองนาฬิกาหรู-แหวนมารดา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ ‘บิ๊กป้อม’ พี่ใหญ่แห่งกลุ่มบูรพยาพยัคฆ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่าเอามาจากไหน ได้มาอย่างไร ทำไมถึงไม่แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 ให้ ‘ตีตก’ ข้อกล่าวหาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอ (อ่านประกอบ : ยืมเพื่อนไม่ผิด! ป.ป.ช.มติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม')
กรณีนี้ใช้ระยะเวลาแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นยาวนานเกือบ 1 ปี
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปที่มาที่ไปให้ทราบ ดังนี้
ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2560 ปรากฏภาพถ่าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มานั่งถ่ายรูปภายหลังมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย พล.อ.ประวิตร ได้หยิบมือขวาขึ้นมาบังแดดที่ส่องหน้า สวมใส่นาฬิกาหรู และแหวนอยู่
หลังจากนั้นเพจเฟซบุ๊กชื่อ CSI LA ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความให้สังคมโซเชียลมีเดีย ช่วยกันตามหาว่า นาฬิกาหรูเรือนที่ พล.อ.ประวิตรใส่ คือยี่ห้ออะไร กระทั่งมีคนไปขุดคุ้ยเจอว่า เป็นนาฬิกาหรูยี่ห้อ ริชาร์ด มิลล์ สนนราคาปกติเรือนละหลักล้านบาท
ทำให้เกิดเป็นกระแสดราม่าภายในสื่อสังคมออนไลน์ เกิดการตั้งคำถามว่า พล.อ.ประวิตร มีนาฬิกาหรูเรือนดังกล่าวได้อย่างไร ?
หลังจากนั้นในช่วงเวลาระหว่างปลายเดือน ธ.ค. 2560-ต้นปี 2561 เพจเฟซบุ๊ก CSI LA รวมถึงเพจอื่น ๆ ได้ขุดคุ้ยภาพของ ‘บิ๊กป้อม’ ที่สวมใส่นาฬิกาหรู (เท่าที่ตรวจสอบพบ) อย่างน้อย 22 เรือน รวมมูลค่าราคาตลาดปกติหลายสิบล้านบาท
ประเด็นสำคัญ ณ ขณะนั้นคือ พล.อ.ประวิตร ได้นาฬิกาหรูมาได้อย่างไร นาฬิกาแต่ละเรือน ได้มาเมื่อไหร่ มูลค่าเรือนละเท่าไหร่ เพราะหากมีทรัพย์สินเกิน 2 แสนบาท ต้องแจ้งและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่แจ้งตอนเป็น รมว.กลาโหม เมื่อปี 2551 (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) พ้นตำแหน่ง รมว.กลาโหม เมื่อปี 2554 และพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี เมื่อปี 2555 รวมถึงช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่า นับตั้งแต่ปี 2551 ถึงช่วงปี 2557 พล.อ.ประวิตร มีทรัพย์สินรวม 30.5 ล้านบาทเศษ เป็นเงินฝากเพิ่มขึ้น 27 ล้านบาทเศษ เงินลงทุนลดลง 1.4 ล้านบาทเศษ แต่ที่ดินเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท
และไม่ระบุว่า มีการครอบครองนาฬิกาหรู หรือทรัพย์สินอื่นมูลค่าเกิน 2 แสนบาทแต่อย่างใด ?
ประเด็นนี้ ‘บิ๊กป้อม’ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้ง ยืนยันว่า นาฬิกาหรูดังกล่าว ยืม ‘เพื่อน’ มาใส่ โดยเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ หรือ ‘เสี่ยคราม’ เพื่อนร่วมรุ่น ‘เซนต์คราเบรียล’ คอนเนคชั่น รวมถึงเป็นกรรมการในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ และยืมมาใส่หลายครั้ง หลายเรือน แต่เป็นการยืมแล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคืนตลอด ไม่ใช่นาฬิกาของตัวเองแต่อย่างใด ?
ช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ให้เข้าไปไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เบื้องต้นสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติในการรับเรื่องร้องเรียน จะต้องมีการตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงว่า มีมูลหรือไม่ ก่อนรายงานเสนอแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า มีมูล จึงตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนมาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อ แต่หากไม่มีมูล คือให้ข้อกล่าวหาตกไปนั่นเอง
ท่ามกลางกระแสข่าวกดดันไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากมีชื่อของ ‘บิ๊กกุ้ย’ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เคยเป็นอดีตคณะทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาก่อน ทำให้หลายคนแคลงใจว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. จะดำเนินการอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ ?
ร้อนถึง พล.ต.อ.วัชรพล ออกตัวว่า ได้ขอมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอถอนตัว ไม่พิจารณาคดีดังกล่าว แต่ยังเอ่ยวลีทองยอมรับผ่านสื่อว่า ความสัมพันธ์กับสกุลวงษ์สุวรรณ ถือเป็นจุดอ่อนในชีวิต (อ่านประกอบ : ‘วัชรพล’รับสัมพันธ์‘วงษ์สุวรรณ’คือจุดอ่อนชีวิต! ยันตอบสังคมได้ปมอุทธรณ์คดีสลาย พธม.)
กระทั่งช่วงปลายปี 2561 มีกระแสข่าวว่า คดีดังกล่าวงวดเข้าไปทุกขณะ คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงได้ทำหนังสือไปถึงบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาหรูที่ต่างประเทศ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้ซื้อนาฬิการุ่นนี้บ้าง และมีลักษณะรายละเอียดอื่น ๆ อย่างไร
กระทั่งช่วงเดือน ธ.ค. 2561 บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาที่ต่างประเทศ ได้ตอบกลับมา ป.ป.ช. แต่บอกมาแค่ 10 เรือน จากทั้งหมด 22 เรือน รวมถึงไม่ระบุด้วยว่านาฬิกายี่ห้อดังกล่าวมีใครเป็นผู้ซื้อ หรือเป็นเจ้าของบ้าง ก่อนจะนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเสนอ 2 แนวทางคือ 1.ให้ขยายเวลาคณะทำงานฯไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อ หรือ 2.เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอให้ข้อกล่าวหาตกไป
ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าวไป
เบ็ดเสร็จใช้ระยะเวลาราวเกือบ 1 ปีถึงมีข้อยุติ
อย่างไรก็ดียังเหลืออีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยใช้คณะทำงานอีกชุดหนึ่ง ได้แก่ กรณีเข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทตามกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ ?
ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ข้อ 5 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ (ตามนิยามของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. หมายรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย) จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ โดยรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากญาติซึ่งให้โดยเสน่หาตามจำนวนที่เหมาะสมตามฐานานุรูป หรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3 พันบาท หรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
ขณะที่ข้อ 7 การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับมาแล้ว โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ โดยทันทีที่สามารถกระทำได้ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นรับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชมีคำสั่งว่า ไม่สมควรรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ดังกล่าว ก็ให้คืนทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ผู้นั้นทันที กรณีไม่สามารถคืนให้ได้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดโดยเร็ว ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินดังกล่าวเป็นผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าส่วนราชการ ให้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน
เมื่อพิจารณาจากประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้น เทียบกับข้อเท็จจริงในการยืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร เห็นได้ว่า พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าข่ายนิยามเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้นจึงไม่สามารถรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทได้ แต่หากรับมาแล้ว มีความจำเป็นต้องรับไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ดังนั้น พล.อ.ประวิตร จึงต้องแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทุกหน่วยราชการให้ทราบ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น หรือความเหมาะสม หรือสมควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่ หากไม่สมควรจึงให้คืน
คำถามประการถัดมาคือ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันข้อเท็จจริงแล้วว่า พล.อ.ประวิตร ยืมเพื่อนคือนายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ มาจริง ดังนั้นต้องมีการตีความก่อนว่า การยืมเพื่อน เข้าข่ายการรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทหรือไม่ หากเข้าข่าย พล.อ.ประวิตร ได้แจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาตามตำแหน่งรับทราบหรือไม่
หากไม่ได้แจ้ง ถือว่า พล.อ.ประวิตร เข้าข่ายผิดตามประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าวไหม แต่หากแจ้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เหตุผลอะไรเห็นว่า การรับทรัพย์สินเป็นนาฬิกาหรูมูลค่าเกินกว่า 3 พันบาท ถึงเหมาะสม ?
นี่คือเงื่อนปมที่ยังไม่เคลียร์เกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของ 'บิ๊กป้อม' ต้องรอ ป.ป.ช. สืบสวนกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
26 ธ.ค. ชงที่ประชุม กก.ป.ป.ช.ชี้ขาดคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม'-'วัชรพล'ยันขอถอนตัว
ชง กก.ป.ป.ช.ชี้ขาดคดีนาฬิกาหรูปลาย ธ.ค.-เร่งปิดคดีนักการเมืองก่อนเลือกตั้ง
ได้ข้อมูลบริษัทผู้ผลิตแล้ว! ป.ป.ช.ขอเวลาอีกไม่นานสรุปปมนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’
ขอ 2 เดือนคดีนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ชัดแน่! เลขาฯป.ป.ช.ยันยังรอข้อมูลบริษัทผู้ผลิตอยู่
ชงผลสรุปแสวงข้อเท็จจริงคดีนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ให้ กก.ป.ป.ช.พิจารณาสัปดาห์หน้า
ทายาทเพื่อน‘บิ๊กป้อม’แจง ป.ป.ช.ปมนาฬิกาหรูแล้ว ยันอีก2-3เดือนรู้ผล
เปิดตัว‘จุติพร’คนในครอบครัว‘ปัฐวาท’ กุญแจคดีนาฬิกาหรู 22 เรือน ‘บิ๊กป้อม’?
เปิดคำให้การ'หม่อมอุ๋ย' ผู้จัดการมรดก'ปัฐวาท' ไขปม 'บิ๊กป้อม' คืนนาฬิกาหรูครบ22เรือนหรือยัง?
เปิดปูม ‘เสี่ยคราม’ ตัวช่วย ‘บิ๊กป้อม’ ให้ยืมนาฬิกาหรู 22 เรือน กก.บ.ลงทุน‘ทรีนีตี้ วัฒนา’
มาตรฐาน‘บิ๊กป้อม’ปม‘ลาออก’ ด้อยกว่า 2 รมต.หุ้นเกิน 5% ครม.สุรยุทธ์?
ชั่งน้ำหนักข้ออ้างบิ๊กป้อม ‘ยืมเพื่อนใส่’ปมนาฬิกาหรู ‘ฟังขึ้น’หรือ ต้องกลับบ้าน?
'บิ๊กป้อม' เปิดปากครั้งแรกนาฬิกาหรูยืมเพื่อนใส่ ไม่ใช่ของตนเอง-ลั่นป.ป.ช.ชี้ผิดพร้อมออก
จับอาการ‘บิ๊กป้อม’ปมทรัพย์สิน-นาฬิกาหรู (ถ้า) ป.ป.ช.เอาจริง ก็เหนื่อยหนัก!
หุ้น 6 ตัว ‘บิ๊กป้อม’ ในพอร์ต บ.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ เพื่อนรัก สนช. ก็มี
กก.มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด 'บิ๊กป้อม' 24 คน เป็น สนช. 11 คน
ผ่าอาณาจักร‘คอม-ลิงค์’ ชุมนุมบิ๊กธุรกิจคนดัง เพื่อนรัก‘บิ๊กป้อม’ในมูลนิธิอนุรักษ์ป่าฯ
เปิดหมด ภงด.3 ปี 'บิ๊กป้อม' ยื่นสรรพากร 51-55 แจ้งมีเงินได้สุทธิ 5 แสน - 2.2 ล.
เปิด 3 แนวทางคำชี้แจงนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ เทียบ คดีรถโฟล์ค ‘สุพจน์’
ถ้า ‘บิ๊กป้อม’ มีรายได้ปีละ 2 ล. เงินอีก 18 ล. มาจากไหน?
ส่องคอลเลกชัน ‘นาฬิกา’นักการเมืองยุคทักษิณ-ประยุทธ์ สูงสุด‘ประชา’10 เรือน 40 ล.
เปิด ภ.ง.ด.91 'บิ๊กป้อม' ยื่นกรมสรรพากร ปี 56 มีเงินได้สุทธิ 534,878 บาท
ใครคือ บ.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ พอร์ตเงินลงทุนใหญ่ ‘บิ๊กป้อม’?
ผ่าบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร รวยขึ้น 30.5 ล.- เงินลงทุนพุ่ง ก่อนปมนาฬิกาหรู
จากยิ่งลักษณ์ ถึงพล.อ.ประวิตร! เช็คคดีนักการเมืองดังใครบ้าง ถูกสอบปมทรัพย์สินโผล่ปริศนา?
ล้วงลึกนาฬิกา 'ริชาร์ดมิลล์' บนข้อมือ 'พล.อ.ประวิตร' แพงระยับกว่า10ล.-ท่านได้แต่ใดมา?
ไม่พบประวัติลูกค้าพล.อ.ประวิตร! ตัวแทนจำหน่ายไทยแจงราคานาฬิการิชาร์ดมิลล์-รุ่น10ล.ซื้อตปท.