- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จากยิ่งลักษณ์ ถึงพล.อ.ประวิตร! เช็คคดีนักการเมืองดังใครบ้าง ถูกสอบปมทรัพย์สินโผล่ปริศนา?
จากยิ่งลักษณ์ ถึงพล.อ.ประวิตร! เช็คคดีนักการเมืองดังใครบ้าง ถูกสอบปมทรัพย์สินโผล่ปริศนา?
"....ไม่ว่าจะเป็นกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายณัฐวุฒิ และนายจตุพร รวมไปถึงกรณีล่าสุด ของ พล.อ.ประวิตร ชี้ให้เห็นว่า การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองให้สาธารณชนได้รับทราบ นับเป็นกลไกสำคัญที่มีส่วนช่วยในการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง ..."
กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเรียกให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงปมนาฬิการิชาร์ดมิลล์และแหวนเพชรขนาด 1 กะรัต ที่สวมใส่ระหว่างการถ่ายรูปหมู่ ครม.ประยุทธ์ 5 มิใช่กรณีแรก ที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองไทย (อ่านประกอบ : ผ่าบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร รวยขึ้น 30.5 ล.- เงินลงทุนพุ่ง ก่อนปมนาฬิกาหรู , ล้วงลึกนาฬิกา 'ริชาร์ดมิลล์' บนข้อมือ 'พล.อ.ประวิตร' แพงระยับกว่า10ล.-ท่านได้แต่ใดมา? , ไม่พบประวัติลูกค้าพล.อ.ประวิตร! ตัวแทนจำหน่ายไทยแจงราคานาฬิการิชาร์ดมิลล์-รุ่น10ล.ซื้อตปท.)
หากแต่ก่อนหน้านี้ มีนักการเมืองบางราย ที่ถูกตรวจสอบพบการสวมใส่ทรัพย์สิน ที่อยู่นอกเหนือจากรายการทรัพย์สินที่แจ้งไว้ในบัญชีรายการทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. มาแล้วเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไล่เรียงข้อมูลย้อนหลังมาเทียบเคียงดังนี้
@ นาฬิกาหรู 'ยิ่งลักษณ์'
ปรากฎข้อกล่าวหาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่แจ้งรายละเอียดนาฬิการาคาเรือนละ 2.5 ล้านบาท ในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ที่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554
โดยเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2557 ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาฬิการาคาเรือนละ 2.5 ล้านบาท ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้การต่อศาลฎีกาในการพิจารณาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ได้ให้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาท แก่ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร หลานสาว (ลูกสาวคนรอง พ.ต.ท.ทักษิณ) ไปซื้อนาฬิกามาให้ แต่ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ช่วงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า มีนาฬิกา อยู่ในความครอบครอง จำนวน 9 เรือน รวมมูลค่า 1.8 ล้านบาท ไม่ปรากฏนาฬิกา ราคาเรือนละ 2.5 ล้านบาท แต่อย่างใด (ภายหลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำเรื่องนี้ ไปตั้งคำถาม กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา)
ความคืบหน้าคดีล่าสุดอยู่ในระหว่างการสรุปของอนุกรรมการไต่สวนใน ป.ป.ช. ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่า บทสรุปสุดท้ายจะมีการชี้มูลมีความผิดหรือรอดพ้นข้อกล่าวหา (อ่านประกอบ: บัญชีทรัพย์สิน"ยิ่งลักษณ์"ไร้เงาอภิมหา“นาฬิกา”เรือนละ 2.5 ล้าน?, เปิดภาพชุด"นาฬิกา"สุดหรู 9 เรือน"ยิ่งลักษณ์"ย้ำปมเงินปริศนา 2.5 ล.ล่องหน?)
@ รถยนต์ ณัฐวุฒิ , ต่างหู ภรรยา
กรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ ปรากฎข้อมูลว่ารถยนต์หายไปจากบัญชีทรัพย์สิน ภายหลังจากที่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี โดยป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงนายณัฐวุฒิ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2557 ให้เข้ามาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ภายหลังพบว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินช่วงพ้นตำแหน่ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ระบุว่า มีรถยนต์หายไปจากบัญชีฯ 1 คัน ทั้งๆที่ ก่อนดำรงตำแหน่ง มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินว่ามีรถยนต์ของตนรวมกับของนางสิริสกุล ใสยเกื้อ ภรรยานายณัฐวุฒิ ทั้งหมด 4 คัน
ป.ป.ช. ได้ให้ นายณัฐวุฒิ นำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันนี้ เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อต้องการทราบว่า นายณัฐวุฒิ ได้ขายรถต่อไปให้กับใคร หลังจากที่นายณัฐวุฒิ ได้แสดงทรัพย์สินประเภทรถยนต์ต่อป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมช.พาณิชย์4 คัน มูลค่า 6,930,990.65 บาท เมื่อพ้นตำแหน่งกลับแจ้งว่า มี 3 คัน มูลค่า 3,930,990.65 บาท ลดลง 1 คัน มูลค่า 3,000,000 บาท ทาง ป.ป.ช. จึงทำหนังสือให้เข้ามาชี้แจงดังกล่าว
และนอกจากรถยนต์ที่หายไปจากบัญชีทรัพย์สินแล้ว ภรรยานายณัฐวุฒิ ยังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่อง ต่างหู ที่ไม่พบว่ามีการแจ้งรายละเอียดของต่างหูที่สวมใส่ระหว่างร่วมงานวันเกิด 37 ปีของนายณัฐวุฒิ ที่จัดที่เครีสอร์ท 3 มิ.ย. 2557 (ต่างหูอาจมีมูลค่าไม่เกิน 2 แสนบาทหรือหยิบยืมใครมาจึงไม่แสดงต่อป.ป.ช.) (อ่านประกอบ : ทรัพย์สินครั้งล่าสุด“ณัฐวุฒิ”ไร้รถยนต์ 3 ล.-“ต่างหู”เมียใส่งานวันเกิด)
ปัจจุบัน ป.ป.ช. ยังไม่ได้เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทั้ง 2 กรณีแต่อย่างใด
@ ทรัพย์สินปริศนา ของ จตุพร
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนปัจจุบันและอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เคยถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องทรัพย์สินเพิ่ม 429 ชิ้นที่ไม่สามารถระบุมูลค่าได้ หลังจากพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูลเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2557 พบว่า ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายจตุพรช่วงพ้นตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556 นายจตุพร ระบุว่า ไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่า 2 แสนบาทขึ้นไปอยู่ในความครอบแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ได้แสดงรายการทรัพย์สินประกอบไว้ในบัญชี จำนวน 23 รายการ แบ่งเป็นอาวุธปืน 4 รายการ จำนวน 4 กระบอก ระบุว่าได้รับมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2554 ส่วนทรัพย์สินที่เหลืออีก 19 รายการ เป็นพระพุทธรูป โบราณวัตถุ เศียรพระ รูปปั้น หัวโขน ฆ้อง เป็นต้น
จากการตรวจสอบพบว่า รายการทรัพย์สินทั้ง 19 รายการดังกล่าว นายจตุพร ไม่ได้แจ้งว่ามีมูลค่าเท่าไร รวมถึงวันเวลาที่ได้รับมา ระบุเพียงแค่ว่า ทรัพย์สินรายการที่ 1-13 มูลค่าประเมินไม่ได้ ทั้งนี้ หากนับเฉพาะจำนวน พระพุทธรูป โบราณวัตถุ รูปปั้น หัวโขน ฆ้อง ที่นายจตุพร แจ้งไว้ พบว่ามีจำนวนมากถึง 429 ชิ้น (อ่านประกอบ : "เศียรพระ-โบราณวัตถุ-หัวโขน"ปริศนา 429 ชิ้น โผล่บัญชีทรัพย์สิน "จตุพร")
ปัจจุบัน ป.ป.ช. ยังไม่เคยระบุว่า มีการรับกรณีนี้เข้าตรวจสอบเป็นทางการหรือไม่ เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายณัฐวุฒิ และนายจตุพร รวมไปถึงกรณีล่าสุด ของ พล.อ.ประวิตร ชี้ให้เห็นว่า การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองให้สาธารณชนได้รับทราบ นับเป็นกลไกสำคัญที่มีส่วนช่วยในการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง
แต่ กรณีของ พล.อ.ประวิตรกับเรื่องนาฬิกาหรูและแหวนเพชรที่เป็นประเด็นทางสังคมอยู่ในขณะนี้ มีแง่มุมทางกฎหมายที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
กล่าวคือ เนื่องจาก ในช่วง พล.อ.ประวิตร พ้นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ข้อบังคับของพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนั้นมีรายละเอียดส่วนหนึ่งระบุว่า กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองต่อสาธารณได้โดยสรุปเท่านั้น ห้ามเปิดเผยในรายละเอียด โดยเฉพาะรายการที่จะไม่เปิดเผยซึ่งเพิ่มเป็น 14 รายการจากเดิมมีเพียง 4 รายการเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายฉบับก่อนๆที่ไม่มีคำว่าโดยสรุปมาต่อท้าย
ซึ่งคำว่าโดยสรุปนี้เองส่งผลทำให้เกิดการตีความไปอย่างกว้างขวางมากมาย และอาจจะตีความรวมไปถึงว่าพล.อ.ประวิตรไม่จำเป็นจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินที่ได้รับมาในช่วงการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีก็ได้ใช่หรือไม่
คำถามคือ แล้วต่อไปกลไกการตรวจสอบข้อมูลโดยโช้ฐานข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแบบเดิม จะยังคงมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่?
และยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังระบุว่าให้ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาคดีทุจริตให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีนับตั้งแต่ได้รับเรื่องมานั้นอาจจะหมายความว่า ป.ป.ช.จะต้องเร่งพิจารณาคดีทุจริตให้รวดเร็ว ภายใต้การรับรู้ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินที่ไม่ครบถ้วนก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้ นับเป็นข้อสังเกตสำคัญ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด!
ถ้าหากยังต้องการให้กลไกตรวจสอบนักการเมือง ผ่านช่องทางการเปิดเผยแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ให้ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ต่อไป