- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ผ่าบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร รวยขึ้น 30.5 ล.- เงินลงทุนพุ่ง ก่อนปมนาฬิกาหรู
ผ่าบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร รวยขึ้น 30.5 ล.- เงินลงทุนพุ่ง ก่อนปมนาฬิกาหรู
แกะรอย บัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร รมว.กลาโหม ยุคมาร์ค ปี 51 - 57 ยุคบิ๊กตู่ รวยขึ้น 4 รายการ 30.5 ล. เงินฝากเพิ่มเกือบ 28 ล. พบเงินลงทุน บ.ดีบีเอสฯพุ่งปี 55 กว่า 23 ล. ก่อนกรณีโชว์นาฬิกาหรู แหวนเพชรเม็ดเป้ง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในช่วงขณะนี้ ล่าสุดกรณี นาฬิกายี่ห้อริชาร์ดมิลล์ (Richard Mille) และแหวนเพชร ที่เจ้าตัวสวมใส่ขณะระหว่างการถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ครม.ประยุทธ์ 5) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2560 ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงการได้มาของทรัพย์สินราคาแพงว่ามีที่มาอย่างไร? ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ทรัพย์สิน 2 รายการดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 200,000 บาทหรือไม่ ได้มาช่วงไหน ? แต่ถ้าได้มาช่วงหลังเดือนก.ย.2557 ก็ไม่ปรากฎในบัญชีทรัพย์สินฯที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ครั้งล่าสุด เพราะจะต้องแจ้งในช่วงพ้นตำแหน่ง รมว.กลาโหม
กระนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่การดำรงตำแหน่งครั้งแรกปี 2551 – 2557 พบข้อมูลดังนี้
22 ธ.ค.2551 ยื่นบัญชี กรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีทรัพย์สินรวม 56,856,005.95 บาท จำแนกเป็น เงินฝาก 25,213,889.95 บาท เงินลงทุน 8,542,116.40 บาท (กองทุน เค พันธบัตรเกาหลี และ เงินลงทุนบริษัทจดทะเบียนในบริษัท ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด) ที่ดิน 12,000,000 บาท (2 แปลง เนื้อที่ 4-0-44 ไร่) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท (บ้าน 1 หลัง) ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท ทรัพย์สินอื่น (มูลค่าตั้งแต่สองแสนบาท) จำนวน 1,000,000 บาท (เช็คธนาคารกสิกรไทยสำนักพหลโยธินสั่งจ่าย พล.อ.ประวิตร) ไม่มีหนี้สิน (ดูเอกสารประกอบ)
10 ส.ค.2554 กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีทรัพย์สินรวม 69,669,416.60 บาท จำแนกเป็น เงินฝาก 36,082,730.40 บาท เงินลงทุน 11,486,686.20 บาท (เงินลงทุนบริษัท ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ) ที่ดิน 12,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น ไม่มีหนี้สิน
เปรียบเทียบการยื่นบัญชีฯ 2 ครั้ง ทรัพย์สินเพิ่มจำนวน 12,813,410.65 บาท เฉพาะเงินฝากเพิ่มขึ้น 10,868,840.45 บาท เงินลงทุนเพิ่ม 2,944,569.80 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
10 ส.ค.2555 กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครบ 1 ปี มีทรัพย์สินรวม 79,063,414.84 บาท จำแนกเป็น เงินฝาก 28,843,256.64 บาท เงินลงทุน 23,120,158.20 บาท ที่ดิน 17,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น ไม่มีหนี้สิน
เทียบกับการยื่นบัญชีฯกรณีรับตำแหน่งครั้งแรกปี 51 เท่ากับมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 22 ,207,408.89 บาท เป็นเงินฝากเพิ่มขึ้น 3,629,366.69 บาท เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 14,578,041.80 บาท ที่ดินเพิ่มขึ้น 5,000,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
4 ก.ย.2557 รับตำแหน่ง รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 87,373,757.62 บาท จำแนกเป็น เงินฝาก 53,197,562.62 บาท เงินลงทุน 7,076,195.00 บาท ที่ดิน 17,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น ไม่มีหนี้สิน
เทียบกับการยื่นบัญชีฯกรณีรับตำแหน่งครั้งแรกปี 51 เท่ากับมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 30,517,751.67 บาท เป็นเงินฝากเพิ่มขึ้น 27,983,672.67 บาท เงินลงทุนลดลง 1,465,921.40 บาท ที่ดินเพิ่มขึ้น 5,000,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
รายการทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม จากปี 2551-2557
รายงานทรัพย์สิน |
22 ธ.ค.2551 (บาท) |
10 ส.ค.2554 (บาท) |
10 ส.ค.2555 (บาท) |
4 ก.ย.2557 (บาท) |
เงินฝาก |
25,213,889.95 |
36,082,730.40 |
28,843,256.64 |
53,197,562.62 |
เงินลงทุน |
8,542,116.40 |
11,486,686.20 |
23,120,158.20 |
7,076,195.00 |
ที่ดิน |
12,000,000 |
12,000,000 |
17,000,000 |
17,000,000 |
บ้าน |
10,000,000 |
10,000,000 |
10,000,000 |
10,000,000 |
รถยนต์ |
100,000 |
100,000 |
100,000 |
100,000 |
ทรัพย์สินอื่น |
1,000,000 |
- |
- |
- |
รวม |
56,856,005.95 |
69,669,416.60 |
79,063,414.84 |
87,373,757.62 |
หนี้สิน |
- |
|
|
|
ที่มา:สำนักข่าวอิศรา รวบรวมจากบัญชีฯ ป.ป.ช.
น่าสังเกตว่า
1.กรณีเงินฝาก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 25,213,889.95 บาท (ปี 51) ,36,082,730.40 บาท (ปี 54) , 28,843,256.64 บาท (ปี 55) และ ล่าสุด 53,197,562.62 บาท (ปี 57)
2.กรณีของเงินลงทุน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 2 รายการคือ กองทุน เค พันธบัตรเกาหลี และ เงินลงทุนบริษัทจดทะเบียนในบริษัท ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รวม 8,542,116.40 บาท (ปี 51) , 11,486,686.20 บาท บริษัท ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (ปี 54) และ มูลค่า 23,120,158.20 บาท (ปี 55) เพิ่งลดลงเมื่อกรณีการยื่นรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม วันที่ 4 ก.ย.2557
3.กรณีที่ดินจากเดิม 2 แปลง มูลค่า 12,000,000 บาท (ปี 51) มาเพิ่ม 3 แปลงเป็น 17 ล้านบาท (เพิ่ม 5 ล้านบาท) ตอนยื่นบัญชี กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครบ 1 ปีวันที่ 10 ส.ค.2555
4.กรณีทรัพย์สินอื่น แจ้งครั้งแรกเมื่อปี 2551 มีมูลค่า 1,000,000 บาท (เช็คธนาคารกสิกรไทยสำนักพหลโยธิน สั่งจ่าย พล.อ.ประวิตร) หลังจากนั้นก็หายไปยันล่าสุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจาก ‘รายได้’ ที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ตามที่ปรากฎในบัญชีฯ พบว่า
ตอนเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม 22 ธ.ค.2551 แจ้งว่า มี ‘รายได้ต่อปี’ จากทางราชการเพียง รายการเดียวคือเงินเดือน (ข้าราชการบำนาญ) จำนวน 832,680 บาท
ตอนพ้นตำแหน่ง 10 ส.ค.2554 แจ้งว่ามีรายได้ ‘ระหว่างดำรงตำแหน่ง’ ได้แก่ เงินเดือน (รมว.กลาโหม ) 2,343,680 บาท ,เงินประจำตำแหน่งข้าราชการการเมือง 1,360,000 บาท และ เงินเดือน เงินเพิ่มผู้รับเบี้ยหวัด บำนาญ 2,331,488 บาท รวม 6,034,168 บาท (ประมาณ 3 ปี)
ตอนพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี 10 ส.ค.2555 แจ้งว่า มี ‘รายได้ 1 ปีหลังพ้นตำแหน่ง’ 2 รายการคือ เงินเดือน เงินเพิ่มผู้รับเบี้ยหวัด บำนาญ 762,540 บาท และ เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 111,768 บาท รวม 874,308 บาท
ตอนรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ครั้งที่สอง 4 ก.ย.2557 แจ้งว่ามีรายได้ประจำ 2 รายการคือ เงินเบี้ยหวัด บำเน็จ บำนาญ 762,540 บาท และ เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 111,768 บาท รวม 874,308 บาท
เห็นได้ว่า ถ้าไม่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร มีรายได้ประจำ ประมาณ 832,680 - 874,308 บาทต่อปี หากเป็นรัฐมนตรีจะมีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเพิ่มอีกปีละประมาณ 1.2 ล้านบาท (เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนบาท)
ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 30.5 ล้านบาท (เงินฝากเพิ่มขึ้น ประมาณ 27.9 ล้านบาท) เป็นปริศนาว่ามีที่มาอย่างไร ? มาจากลงทุน บริษัท ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่ ? และถ้ามีรายได้จากเงินลงทุนดังกล่าว เหตุใดถึงไม่ระบุว่ามีรายได้จากเงินลงทุน?
เงินเพิ่มขึ้นนี้ อาจเกี่ยวโยงกับ นาฬิกา ชาร์ด มิลล์ และ แหวนเพชร หรือไม่ ? และต้องพิจารณาจากข้อมูลการยื่นเสียภาษีประจำปีด้วย
เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบ และเป็นหน้าที่ของเจ้าตัวในการชี้แจงข้อเท็จจริง
ติดตามผลกันต่อไป