ถกกันยาว สนช.ผ่านฉลุยร่างกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
สนช.มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปฏิรูปโครงสร้างภาษียกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดินแบบเดิม ปรับอัตราภาษีแบบถดถอยมาเป็นอัตราก้าวหน้า กระตุ้นการนำที่ดินรกร้างมาใช้ประโยชน์ ลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร
วันที่ 16 พฤศจิกายน เวลา 10:20 น.ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระ 2-3 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว หลัง สนช. มีมติรับหลักการไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 โดยเป็นการประชุมพิจารณาวาระ 2 ลงมติรายมาตราที่กรรมาธิการฯ มีการแก้ไข
สำหรับมาตราที่สำคัญสุด และเป็นหัวใจหลัก คือ มาตรา 34 ในร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ซึ่งมีการแก้ไขตามกรรมาธิการฯ กับผู้สงวนคำแปรญัตติ ที่ประชุมสนช.ลงมติการแก้ไขมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โดยเห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ. 102 เสียง เห็นด้วยกับผู้สงวนคำแปรญัตติ 75 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
ขณะที่มาตรา 58 ภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ที่กรรมาธิการฯ แก้ไข เป็นอีกมาตราที่สมาชิกสนช.หลายคนลุกอภิปรายอยากให้กับไปร่างเดิมที่ผ่านครม. ที่ผ่านกฤษฎีกา โดยที่ประชุมสนช.ลงมติให้เป็นไปตามร่างเดิม ส่วนมาตรา 58 วรรคสอง และสาม ที่ประชุมสนช.เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ
นอกจากนี้ที่ประชุมสนช.ลงมติเห็นด้วยกับการเพิ่มความเป็นมาตรา 90 91 92 93 94 ในร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ
อย่างไรก็ตาม ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง ทัายสุดที่ประชุมสนช.ลงมติวาระ 3 ให้มีการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน
เห็นด้วย 169 เสียง
ไม่เห็นด้วย ไม่มี
งดออกเสียง 2 เสียง
จากจำนวนผู้เข้าประชุม 171 ท่าน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขอบคุณสมาชิกสนช.ที่ผ่านร่างกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สิน อุดช่องโหว่โครงสร้างภาษีเดิม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อปท. และมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย เป็นการยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ช่วยปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัย เป็นสากล เป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเพิ่มอิสระและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาพื้นที่
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. โพสต์ข้อความในเฟชบุค อธิบายถึงร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ผ่านสภาวาระ 2-3 ว่า อัตราภาษี ตามม.34 ของร่างพ.ร.บ.นี้ คือ
1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละศูนย์จุดหนึ่งห้าของฐานภาษี
2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละศูนย์จุดสามของฐานภาษี
3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก(1)หรือ(2)ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละหนึ่งจุดสองของฐานภาษี
4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละหนึ่งจุดสองของฐานภาษี
แม้ว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจาฯเป็นต้นไป แต่การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมอยู่ภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นรวมกันในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ทำให้เกษตรกร 99.96%ไม่ต้องเสียภาษี
ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกม.ว่าด้วยทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
ในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกม.ว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท
เพื่อเป็นการบรรเทาการชำระภาษีในสามปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพ.ร.บ.นี้ ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
เพื่อเป็นการบรรเทาการชำระภาษีในสามปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพ.ร.บ.นี้ ในกรณีที่ผู้เสียภาษีได้รับการประเมินภาษีในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อนที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อน เหลือจำนวนภาษีเท่าใด ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีดังนี้
1.ปีที่หนึ่งร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนภาษีที่เหลือ
2.ปีที่สอง ร้อยละห้าสิบของจำนวนภาษีที่เหลือ
3.ปีที่สาม ร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนภาษีที่เหลือ
ยกเว้นให้สามปี (ลดอัตราภาษีให้สองปี) ร่างพ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ 1 มกราคม 2563 รวมบทยกเว้นจึงรวมเป็น 4 ปี และลดอัตราส่วนเกินให้ตลอดสามปีหลังกม.มีผลใช้บังคับ เพื่อบรรเทา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
3 ชั่วโมง สนช.เลื่อนลงมติวาระ 2-3 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ ไปวันที่ 16 พ.ย.เวลา 10 โมงเช้า
เปิด 10 ข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯ ต่อร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ให้คะแนน 6 เต็ม 10 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ เข้าสู่การพิจารณาสนช.15 พ.ย.นี้
ก่อนเข้า สนช. วาระ 2-3 'สกนธ์ วรัญญูวัฒนา'วิพากษ์ กม.ภาษีที่ดินคนรวยได้ประโยชน์
นักวิชาการห่วงอัตราภาษีที่ดินต่ำ ทำท้องถิ่นเก็บเงินได้น้อย-เป็นภาระรัฐบาล
กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย