อย. แจงร่างกม.ยา เปิดโอกาสวิชาชีพอื่นจ่ายยา ย้ำชัดก่อนออกกฎกระทรวงต้องผ่านกฤษฎีกาก่อน
รองเลขาฯ อย. แจงพ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ที่ได้ร่างขึ้น เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีข้อดีหลายด้าน ระบุท้ายบทบัญญัติเปิดโอกาสไว้รองรับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิกได้ ต้องตั้งคณะกรรมการหารือรอบด้านระหว่างวิชาชีพที่เกี่ยวข้องแล้วจึงเสนอออกกฎกระทรวง ได้ ด้านเภสัชกรอีสานยืนยันคัดค้าน ชี้ไม่ได้ดราม่าปกป้องวิชาชีพเภสัชกร
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้เข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในสาระและบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้ในด้านการจ่ายยาและการขายยา อย. ขอชี้แจงว่า ตามมาตรา 22 (5) ของร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ ที่กล่าวว่า “การจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หรือการจ่ายยาที่การแบ่งจ่ายในกรณีซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ใช้สำหรับสัตว์ที่ตนป้องกันหรือบำบัดโรค หรือการจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง” นั้น หมายถึง การยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตเป็นผู้ขายยาในกรณีที่แพทย์ ทันตแพทย์ หรือสัตวแพทย์จ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิก ซึ่งได้ทำการวินิจฉัยแล้วรักษาเท่านั้น และไม่หมายความถึงการขายยาในร้านยาแต่อย่างใด
"และท้ายบทบัญญัติได้กำหนดว่า “โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง” นั้น เป็นการเปิดโอกาสไว้รองรับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ที่อาจสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิกได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการหารืออย่างรอบด้านระหว่างวิชาชีพที่เกี่ยวข้องแล้วจึงดำเนินการเสนอออกกฎกระทรวง และต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย"
ส่วนประเด็นการขายยาในร้านขายยานั้น นพ.สุรโชค กล่าวว่า ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการถูกแยกออกจากกัน คือ ผู้รับอนุญาตจะเป็นผู้ใดก็ได้ อาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ประกอบวิชาชีพก็ได้ ส่วนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น ไม่ใช่ใครก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการสามารถเป็นคนเดียวกันได้ นั้นคือกรณีที่เภสัชกรเป็นผู้รับอนุญาตด้วย ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตถูกกำหนดให้มีหน้าที่ต่างๆตามกฎหมาย รวมถึงการจัดหาสถานที่ที่เป็นสัดส่วน เหมาะสม ตามที่กฎหมายกำหนด และการจัดหาผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกร)มาประจำร้านขายยาตลอดเวลาทำการด้วย ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การจัดตั้งร้านยาไม่ใช่ว่าทำที่ใดก็ได้ และการขายยาจะต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฏิบัติการตามช่วงเวลาที่ระบุ ยกเว้นไว้แต่เพียง ร้านขายยาประเภทขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ข.ย.2 ตามพ.ร.บ.เดิม) ที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอาจเป็นวิชาชีพอื่นหรือผู้ผ่านการอบรมจาก อย. แล้วเท่านั้น
" ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ยังคงมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการพิจารณาอนุญาตยา และความมั่นคงด้านยาของประเทศเป็นหลัก และขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า การจ่ายยาโดยบุคลากรวิชาชีพ จะกระทำสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนซึ่งได้ผ่านการวินิจฉัยและรักษาโดยบุคลากรเหล่านั้น ส่วนการขายยาในร้านขายยา จะกระทำสำหรับผู้มารับบริการที่ร้านยา โดยมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ" รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้าย
เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ วันที่ 1 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมอาคาร 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ภาคอีสาน 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึง ชมรมเภสัชกรทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น ชมรมเภสัชกรชุมชน ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจงหวัด ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน และหน่ววยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีแสดงพลังเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่
เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 นั้นควรมี 2 เรื่อง คือ การกระบวนการขึ้นทะเบียนยาที่ต้องรวดเร็วขึ้น และการทบทวนตำรับยาหากไม่เหมาะสมก็สามารถยกเลิกได้ และการดำเนินงานตาม ม.44 ของ คสช. ไม่ใช่การแก้ไขตามอำเภอใจ และหลักคิดของการร่างกฎหมายควรร่างจากหลักการสำคัญ เช่น การแบ่งประเภทของยาตามระบบสากล หลักการใครเรียนก็ได้ทำ ใครไม่ได้เรียนห้ามทำ และการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การขายยาผ่านอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งควรมีการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมารอบคอบที่สุด ไม่ใช่การไปร่างกันเพียง 3-4 คน เท่านั้น และขอยืนยันว่า การออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ในครั้งนี้เป็นเพราะเราห่วงความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ยา ไม่ใช่ห่วงวิชาชีพ
เภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ยาใหม่ในครั้งนี้ เนื่องจากเราเห็นจุดอ่อนมากมายใน ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ และได้ศึกษาจนแน่ใจว่าไม่ได้ดีกว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เลย หากจะมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่นั้นควรจะเน้นการแยกบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ คือ แพทย์และทันตแพทย์ มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคและสั่งการรักษา ส่วนการจ่ายยารักษาโรคคือวิชาชีพของเภสัชกร
เภสัชกรจิระ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ห่วงกังวลคือ เรื่องการปรุงยา ซึ่งต้องยอมรับว่าในสถานพยาบาลเอกชน และคลินิก เช่น คลินิกโรคผิวหนังนั้น มีการปรุงยาเพื่อใช้กับคนไข้ของตนเอง โดยเป็นการปรุงยาตามตำรับลับ ซึ่งทุกวิชาชีพไม่ยอมรับการปรุงยาแบบตำรับลับนี้ เพราะแม้จะแค่แบ่งบรรจุยาก็ถือว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ หากปล่อยให้มีการปรุงยาง่ายๆ จะมีความเสี่ยงมากในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการจ่ายยาโดยคลินิกของวิชาชีพพยาบาล ซึ่งมีมากในระดับอำเภอ เพราะจากการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะพบว่า กรอบรายการยาที่ใช้ในคลินิกไม่มีความเหมาะสม ไม่มีการถ่วงดุลและตรวจสอบทางวิชาชีพ ซึ่งจะเกิดผลเสียกับผู้ป่วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เสียงค้านหนัก! ‘รศ.จิราพร’ แนะอย.ถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยา -ปัดฝุ่นฉบับก่อนหน้าแทน
คุมขายยาทางอินเทอร์เน็ต นายกสภาเภสัชฯ แนะต้องเขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ด้วย
ชำแหละ 9 ปมปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยา ‘สภาเภสัชฯ’ ยื่น อย.เร่งแก้ไข -หนุนฉบับ 23 ก.พ. 59 แทน