เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
“…ขบวนการนำเข้านี้มีจุดเริ่มต้นจาก ‘คนจีน’ กลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งบริษัทรับกำจัดขยะอันตราย หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก โดยจ้างนักบัญชีคนไทยทำบัญชีเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีผู้บริหารทั้งหมดเป็นคนจีน หรือจ้างคนไทย โดยมีคนจีนอยู่เบื้องหลัง สำหรับแรงงานเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าว และใช้เครื่องจักรเก่าที่ผลิตจากประเทศจีนเป็นหลัก…”
กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตา สำหรับการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกับกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม บุกทลายโรงงาน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
กรณีนี้แบ่งข้อเท็จจริงเป็น 3 ส่วน ได้แก่
หนึ่ง เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั่วประเทศมี 7 บริษัท แต่มีอย่างน้อย 4 บริษัทถูกพักใบอนุญาต เนื่องจากทำผิดระเบียบ ลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปขาย หรือส่งต่อให้โรงงานอื่น
สอง เอกชนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่สำแดงเท็จ อ้างว่านำเข้าพลาสติก แต่สอดไส้ชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์มาด้วย
สาม เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าพลาสติก แต่นำเข้าขยะพลาสติกที่ไม่สะอาด ผิดประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการนำเข้าพลาสติก ถือว่าสำแดงเท็จ เนื่องจากไม่ได้นำเข้าพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ
เบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งพักใบอนุญาตเอกชนที่ได้รับอนุญาตแล้ว 4 แห่ง เนื่องจากพบว่า นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปส่งต่อโรงงานอื่น และยังพบว่าเอกชน 4 แห่ง ใบอนุญาตหมดอายุลงแล้วด้วย ขณะเดียวกันตำรวจยังดำเนินคดีกับเอกชนที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วอย่างน้อย 6 แห่ง โดยสำแดงเท็จว่า นำเข้าพลาสติก (อ่านประกอบ : INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5, ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?)
สำหรับขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เอกชนต้องขออนุญาตที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน โดยกรมโรงงานฯจะต้องตรวจสภาพว่ามีความพร้อม หลังจากนั้นจึงออกใบอนุญาตมอบให้เอกชน นำไปแจ้งต่อกรมศุลกากรเพื่อสำแดงสินค้า
อย่างไรก็ดีขั้นตอนในส่วนนี้ที่มีปัญหามากที่สุด เพราะมีการโทษกันไปมาว่า กรมศุลกากรไม่ยอมตรวจสินค้าให้ดี หรือกรมโรงงานฯที่ไม่ยอมลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพโรงงานให้ดีก่อนกันแน่ ?
โดยเฉพาะขยะประเภทเศษพลาสติก หรือพลาสติกไม่สะอาด กำลังถูกลักลอบนำเข้ามาทิ้งในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่แพ้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เลย ?
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยผ่านสื่อหลายสำนักว่า จากการตรวจสอบเอกสารนำเข้า พบว่า ขยะพลาสติกมาจาก ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย เยอรมนี เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ไนจีเรีย อิหร่าน สเปน เวียดนาม ตุรกี ฝรั่งเศส ปากีสถาน ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ รวม 35 แห่ง ส่งมาลงที่ไทย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตนำเศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งเป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตามเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กำหนดว่า การนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกดังกล่าวนั้น จะต้องขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า เศษพลาสติก หมายความว่า เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติก ไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม ที่ไม่ใช่ของเสียเคมีวัตถุ
ส่วนการพิจารณาให้ความเห็นชอบนำเข้านั้น ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามข้อกำหนด ได้แก่ ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ที่ต้องใช้พลาสติกผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ต้องนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาขาย หรือจำหน่าย หรือวัตถุประสงค์อื่นใด นอกจากใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเท่านั้น
ที่สำคัญคือ เศษพลาสติกที่นำเข้าจะต้องแยกประเภทแต่ละชนิดไม่ปะปนกัน และสามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดอีก ทั้งนี้หากพบว่า มีเศษพลาสติกที่นำเข้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตและบริษัทผู้นำเข้า จะต้องรับผิดชอบในการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น
แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือ เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าพลาสติกหลายราย กลับนำเข้าเพียง ‘เศษขยะ’ พลาสติกจำนวนมาก ที่ไม่ผ่านการทำความสะอาด ซึ่งถือว่าผิดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว นอกจากนี้บางรายยัง ‘สอดไส้’ ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน สตช. ว่า ขบวนการนำเข้านี้มีจุดเริ่มต้นจาก ‘คนจีน’ กลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งบริษัทรับกำจัดขยะอันตราย หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก โดยจ้างนักบัญชีคนไทยทำบัญชีเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีผู้บริหารทั้งหมดเป็นคนจีน หรือจ้างคนไทย โดยมีคนจีนอยู่เบื้องหลัง สำหรับแรงงานเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าว และใช้เครื่องจักรเก่าที่ผลิตจากประเทศจีนเป็นหลัก
นี่คือเบื้องลึก-ฉากหลังทั้งหมดเกี่ยวกับขบวนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-เศษพลาสติก ที่กำลัง ‘เขย่า’ แวดวงอุตสาหกรรมอยู่ในขณะนี้ ท่ามกลางการสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้นของตำรวจเพื่อทลายขบวนการนี้ลงให้ได้
อ่านประกอบ :
ตร.ขยายผลค้นรง.ลองลัค พลาสติก ที่สมุทรสาคร สำแดงเท็จนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขยะ 58 ตันสำแดงเท็จ รอง ผบ.ตร. บุกจับอีก-แจ้งข้อหา บ.ลองลัค พลาสติกฯ
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก springnews