INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
INFO : เปิดข้อมูล 7 เอกชนได้ใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก่อน ตร.ร่วมกรมศุลฯ-กรมโรงงานฯ บุกค้นพบมี 4 แห่ง ทำผิดเงื่อนไขส่งต่อโรงงานอื่น พักใบอนุญาตแล้ว แต่เปิดเผยชื่อไม่ได้ ต้องรออธิบดีฯชี้แจง ส่วนอีก 5 แห่งไม่มีใบอนุญาตลักลอบนำเข้า สำแดงเท็จ อ้างเป็นพลาสติก
กำลังเข้มข้นเข้าไปทุกขณะ!
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สนธิกำลังร่วมกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร บุกตรวจค้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบผิดกฎหมาย สำแดงเท็จ อ้างว่านำเข้า ‘พลาสติก’ ใช้ช่องโหว่ตามอนุสัญญาบาเซล แต่แท้จริงแล้ว นำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในประเทศไทย โดยขั้นตอนลักลอบการนำเข้า สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยรายงานไปแล้วก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?)
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมโรงงานฯ และกรมศุลกากร แถลงข่าวถึงผลคืบหน้าการจับกุมโรงงานอุตสาหกรรมในกรณีดังกล่าว ระบุสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีบริษัท 7 แห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังตรวจพบมีการกระทำผิดลักลอบนำเข้า แต่พบว่ามีโรงงานอย่างน้อย 4 แห่ง ที่ทำผิดเงื่อนไขคือ มีการส่งต่อขยะเหล่านี้ให้โรงงานอื่น จึงดำเนินการพักใบอนุญาตไว้แล้ว อีก 1 แห่ง อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนอีก 2 แห่ง ดำเนินการถูกต้อง
พล.ต.อ.วิระชัย ยืนยันว่า จากการตรวจสอบ พบการกระทำความผิดหลายอย่าง ทั้งสำแดงสินค้าผิดประเภท และพบว่าอาจมีการเลี่ยงภาษีด้วย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสานกับกรมสรรพากร ตรวจสอบย้อนหลังว่า มีการจ่ายภาษีให้รัฐตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ หากพบจะดำเนินการโดยไม่มีข้อยกเว้น และหากพบพฤติการณ์เข้าข่ายฟอกเงิน ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบด้วย ทั้งนี้หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรายใดรู้เห็น มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทันที และจะดำเนินคดีอาญากับเจ้าของบริษัทอย่างหนัก โดยไม่ใช้การเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายของศุลกากรอย่างที่ผ่านมา (อ่านประกอบ :“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์)
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า มีเอกชน 3 แห่ง ที่พบว่า มียอดนำเข้าสูงก้าวกระโดดอย่างผิดปกติ ได้แก่ บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ได้รับโควตาใบอนุญาตนำเข้า ‘ก้าวกระโดด’ จากปี 2559-2560 ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้า 400-700 ตัน แต่ปี 2560-2561 ได้ใบอนุญาตนำเข้าพุ่งถึงหลักหมื่นตัน (อ่านประกอบ : เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน)
เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดต่อไปที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอให้ชี้แจงรายชื่อบริษัทเอกชน 4 แห่ง ที่ถูกพักใบอนุญาต ตามเบอร์โทรศัพท์ 02-202-4101 เจ้าหน้าที่หน้าห้องรับสาย ระบุว่า อธิบดีไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ และให้ติดต่อกับกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ไปยังกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่รายหนึ่งรับสาย ระบุว่า ขั้นตอนการเพิกถอนใบอนุญาตอยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ต้องรอให้อธิบดีกรมโรงงานฯ เป็นผู้ตอบโดยตรง เนื่องจากถูกสั่งมาว่า ขณะนี้ห้ามให้ข้อมูลกับใคร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
“เมื่อวันก่อน ที่กรมโรงงานฯ ให้ข้อมูลกับตำรวจไป แม้จะเป็นข้อมูลที่ถูก แต่ตำรวจเอาไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขอให้รอท่านอธิบดีฯชี้แจงเองดีกว่า” เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุ
ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเด็นนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
หนึ่ง เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ (วอ 4) มีทั้งสิ้น 7 แห่ง แต่พบการกระทำผิดเงื่อนไข โดยการส่งต่อขยะเหล่านี้ให้กับโรงงานอื่น จนต้องพักใบอนุญาต 4 แห่ง ตรวจสอบอยู่ 1 แห่ง และไม่ผิด 2 แห่ง
สำหรับบริษัทเอกชน 7 แห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลจากกรมโรงงานฯ พบดังนี้ 1.บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 3 หมื่นตัน 2.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 6 หมื่นตัน 3.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 1.3 หมื่นตัน 4.บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 150 ตัน 5.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 1.5 หมื่นตัน 6.บริษัท เอส.เอส.อินปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 2 พันตัน และ 7.บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีใบอนุญาตนำเข้า 1,440 ตัน รวมทั้ง 7 แห่งมีใบอนุญาตนำเข้า 121,590 ตัน
ส่วนยอดนำเข้าที่แท้จริง ปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังไม่เปิดเผยแต่อย่างใด
โดย 7 บริษัทดังกล่าว มี 4 แห่ง ที่ใบอนุญาต (วอ 4) หมดอายุ ได้แก่ บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด (มีใบอนุญาต 2 ใบ หมดไปแล้ว 1 ใบ เลขที่ อก 0309023038061 หมดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561) บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด (เลขที่ อก 0309023052360 หมดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561) บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (เลขที่ อก 0309023180760 หมดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561) และบริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (เลขที่ อก 0309023071460 หมดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561)
นอกเหนือจากนี้ยังมีเอกชนอีกแห่งที่ถูกตำรวจบุกค้น ได้แก่ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด เนื่องจากมีพฤติการณ์ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า จนถึงขณะนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัด ยังไม่ดำเนินการแจ้งความเพื่อเอาผิดแต่อย่างใด ?
สอง เอกชนที่ไม่มีใบอนุญาต วอ 4 แต่กลับลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างว่าเป็นพลาสติก เบื้องต้นมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ซัน เทคเมทัลส์ จำกัด บริษัท เหรียญทอง อีโค รีโนเวชั่น บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์เวิลด์ จำกัด บริษัท ฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด ที่ถูกตำรวจบุกค้นตู้คอนเทนเนอร์ และพบของกลางเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก (อ่านประกอบ : เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์)
เอกชนแห่งที่ 5 รายล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 มิ.ย. 2561 พล.ต.อ.วิระชัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม เดินทางไปนิคมอุตสาหกรรมเพื่อตรวจค้นโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแปรรูป โดยวิธีการสำแดงเท็จว่าเป็นเศษพลาสติก สืบเนื่องจากการตรวจค้นตู้สินค้าร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร ที่ท่าเรือแหลมฉบัง
โดยเข้าตรวจค้นตู้คอนเทรนเนอร์ของ บริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด ผู้นำเข้าสำแดงเป็นเศษพลาสติก (Plastic Scrap) แต่ปรากฎว่า เมื่อเปิดตู้คอนพบว่า ไม่ใช่เศษพลาสติก ฉะนั้น ผู้นำเข้าต้องส่งขยะเหล่านี้กลับประเทศต้นทาง ขณะที่กรมศุลกากร ระบุความผิดเรื่องของการสำแดงเท็จ
พล.ต.อ.วิระชัย แจ้งข้อหาบริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด ผู้นำเข้า พลาสติกจำนวน 58 ตัน หรือ 5 หมื่นกิโลกรัม โดยสำแดงเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 202 มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท พร้อมกับแจ้งข้อหาในความผิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ฐานนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา 5 (2) สินค้าพลาสติก ฝ่าฝืนตามมาตรา 7 วรรค 1 จึงเป็นความผิด ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้าฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้ามา และต้องส่งออกสินค้านี้ไปยังประเทศต้นทางทั้ง 35 ประเทศที่นำเข้ามา ถือว่า พลาสติกไม่ได้รับอนุญาต เป็นการนำเข้าขยะพลาสติก
"บริษัทแห่งนี้ได้รับอนุญาตนำเข้าพลาสติก (Plastic Scrap) 2 หมื่นตัน ปี 2561 - 15 พฤษภาคม 2562 โดยมีโควต้านำเข้า 2 หมื่นต้น" รอง ผบ.ตร. ระบุ (อ่านประกอบ : ขยะ 58 ตันสำแดงเท็จ รอง ผบ.ตร. บุกจับอีก-แจ้งข้อหา บ.ลองลัค พลาสติกฯ)
นับเป็นเอกชนรายที่ 5 ที่ไม่มีใบอนุญาตนำเข้า และสำแดงเท็จเป็นสินค้าพลาสติก เพื่อลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต่อจากบริษัท ซัน เทคเมทัลส์ จำกัด บริษัท เหรียญทอง อีโค รีโนเวชั่น จำกัด บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์เวิลด์ จำกัด และบริษัท ฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด ที่ถูกตรวจค้นไปก่อนหน้านี้ (ดูภาพประกอบท้ายข่าว)
ส่วนพฤติการณ์แต่ละบริษัท-โรงงานโดยละเอียด เป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป
อ่านประกอบ :
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ