กรณีศึกษาอิตาเลียนไทยตัดต้นนนทรีหน้า ม.เกษตรฯ 'บาดแผล' พัฒนาเมืองไม่ยั่งยืน
กรณีศึกษาอิตาเลียนไทยตัดต้นนนทรีหน้า ม.เกษตรศาสตร์ ชวนคนกรุงและคนไทยมองปัญหาตัดต้นไม้ผิดวิธี เมื่อการพัฒนาจำเป็นต้องทำควบคู่กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือธรรมาภิบาลผู้ประกอบการ กฎหมายยังเป็นอีกเครื่องมือจัดการควบคุม
(ภาพประกอบจาก Sanook! News)
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชื่อของบริษัท “อิตาเลียนไทย” ถูกพูดถึงในสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เข้าจับกุม เนื่องจากพาพวกเข้าไปตั้งแคมป์ในจุดที่ต้องห้าม โดยเจ้าหน้าที่พบซากเสือดำถูกชำแหละและถลกหนัง อีกทั้งยังพบอาวุธและเครื่องกระสุนปืนอีกจำนวนมาก
กรณีของนายเปรมชัยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เนื่องจากเป็นการกระทำที่ท้าทายกฎหมาย กระทั่งเกิดเป็นกระแสจากคนในสังคมและกลุ่มกิจกรรมเรียกร้องให้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด และเรื่องนี้ยังส่งผลให้หุ้นของอิตาเลียนไทยดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี 8 เดือน
ในขณะที่คลื่นกระแสสังคมเรื่องเสือดำยังไม่ทันหายไป บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ก็ต้องเผชิญกับกระแสสังคมลูกใหญ่อีกครั้ง เมื่อบริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ได้ตัดต้นนนทรีบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวน 14 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางสำนักงานเขตจตุจักร และถูกเรียกปรับกรณีตัดต้นไม้ 14 ต้น เป็นเงิน 28,000 บาท โดยคิดอัตราสูงสุดตามความผิดมาตรา 27 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
และแม้ว่า ทางบริษัทได้ชำระค่าปรับส่วนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กทม.มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความเสียหายต้นไม้ทั้ง 14 ต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 170,000 บาท
ด้านอิตาเลียนไทย ออกมาชี้แจงว่า ได้ส่งแผนการดำเนินงาน ได้แก่ รูปแบบการก่อสร้างสะพานรถข้าม และการขุดล้อมย้ายต้นไม้ ไปให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือรฟม. แล้วส่งต่อไปยัง กทม. ตั้งแต่ปี 2558 ได้ทำหนังสือยืนยันแผนฯอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ยังติดขัดเรื่องการสำรวจพื้นที่ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ บริษัทฯจึงเห็นว่าหากปล่อยเวลาล่วงเลยนานกว่านี้ จะส่งผลกระทบต่อระยะการก่อสร้างทั้งโครงการ เพราะหากไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ช่วงเดือน ก.พ. 2562 จะต้องเสียค่าปรับวันละ 14 ล้านบาท
ในงานเสวนา “ปกป้องต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพ : กรณีศึกษาอิตาเลียนไทยตัดต้นนนทรีหน้า ม.เกษตรฯ”ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ จัดโดยเครือข่ายภาคประชาชนที่รักต้นไม้ ประกอบด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมือง กลุ่มบิ๊กทรี กลุ่มจตุจักรโมเดล ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ม.เกษตรศาสตร์ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมพูดคุย
ยกกรณีตัดต้นนนทรีเป็นกรณีศึกษา
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสาเหตุที่ธรรมศาสตร์ร่วมจัดงานเสวนาครั้งนี้ว่า เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ร้ายแรงเพราะทางเขตยังไม่อนุญาต ที่ผ่านมาเราพบแต่เจ้าหน้าที่ของกทม.ขาดทักษะ ไม่เห็นความสำคัญในการตัดแต่งต้นไม้แบบถูกวิธีแต่ครั้งนี้เป็นการดำเนินการโดยบริษัทซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับที่ผู้บริหารไปกระทำการผิดกฎหมายของสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และยกเคสนี้เป็นกรณีศึกษา ทำอย่างไรให้เป็นบทเรียนที่ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียอีก
“เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทคนิควิธีในการตัดแต่งที่ถูกต้อง แต่เป็นเรื่องที่เราต้องมีมาตรการป้องกันทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกทม. มาตรการทางกฎหมายจะทำอะไรได้บ้าง เครือข่ายต้นไม้ในเมืองไปร้องศาลปกครองจะมีประเด็นอะไรที่จะเกี่ยวข้อง แล้วเรื่องนี้ปรับแค่สองพันบาท มูลค่าต้นไม้ 14 ต้น แค่ 170,000 เท่านั้นเองหรือ”
ผศ.ดร.ปริญญา ชี้ว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกทม.ทำอย่างไรที่ต้นไม้จะอยู่คู่กับความเจริญได้ สามารถอยู่ร่วมกับเมืองได้ สามารถอยู่ร่วมกับรถไฟฟ้าได้ ต้องทำให้เรื่องนี้ไม่จบลงไปเฉยๆ ไม่เกิดอะไรขึ้นกับผู้กระทำผิด เพราะถ้าหากคนทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ก็จะเกิดการทำผิดอยู่ร่ำไป ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียที
ควรดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด
ผศ.ดร.ปริญญา ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องกฏหมายว่า นอกจากกทม. เรียกค่าเสียหายโดยปรับต้นละ 2,000 บาท และมีการดำเนินคดีทางแพ่งโดยเรียกค่าเสียหาย 170,000 บาทแล้ว ควรจะมีการดำเนินการในทางอาญาด้วยหรือไม่ เนื่องจากไม่เคยมีคดีไหนที่ดำเนินการในทางอาญา ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ระบุไว้ว่า
“ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“ประเด็นทางกฎหมาย เราต้องทำให้เป็นกรณีตัวอย่างว่าใครจะมาทำอะไรกับต้นไม้ซึ่งเป็นของสาธารณะของชาวกรุงเทพแบบนี้อีกไม่ได้ ทางกทม.ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษไปแล้วต้องไปตามเรื่องต่อ ควรมีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ตอนนี้เข้าใจว่ามี 146 ต้นในแนวการก่อสร้าง ตอนนี้ตัดไปแล้ว 14 ต้น กทม.มีมาตรการอย่างไรหรือไม่ในการคุ้มครองต้นไม้ที่เหลืออยู่ไม่ให้อิตาเลียนไทยมาดำเนินการต่อไปรวมถึงเราคงต้องแจ้งไปการรฟม. ด้วยหรือไม่ว่า บริษัทซึ่งทำงานให้รฟม.ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นไม้ของคนกรุงเทพ”
(ขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม)
บรรษัทภิบาล เขียนได้แต่ทำไม่ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ผศ.ดร.ปริญญา พูดไว้อย่างน่าสนใจถึงคือเรื่องของหลักธรรมาภิบาล ในคู่มือบรรษัทภิบาลของอิตาเลียนไทย ปี 2561 หนึ่งใน “จริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณ” ระบุว่า ผู้บริหารไม่กระทำการใดๆที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมส่วน “นโยบายการปฎิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย” ก็ระบุเช่นเดียวกันว่า บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดๆที่จะส่งผลเสียหายต่อสังคมทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม
ผศ.ดร.ปริญญา มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำไมสิ่งที่อิตาเลียนไทยเขียนเป็นแนวทางปฎิบัติว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำการใดต้องมีธรรมาภิบาล และเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าบริษัทมีหน้าที่ไม่กระทำการใดๆ ที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว อิตาเลียนไทยแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ไม่ใช่แค่จ่ายค่าปรับสองพันบาทเท่านั้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จะทำอย่างไรให้บรรษัทภิบาลที่บริษัทต่างๆ ส่งให้แล้วจะเกิดผล ตามที่ส่ง ไม่อย่างนั้นทุกบริษัทก็จะเขียนถ้อยคำสวยหรูหมดและกระทำผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสังคมในส่วนรวมต่อไป
สอบตกวิชาความรับผิดชอบ
ผศ.ดร.ปริญญา ถามหาการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของอิตาเลียนไทย คิดว่าประเทศไทยเสียภาษีในการก่อสร้างต่างๆ เหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน รัฐบาลซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนมาจัดจ้างบริษัทอิตาเลียนไทย ต้องมีมาตรการบางอย่างที่จัดการกับอิตาเลียนไทย ไม่เช่นนั้น ประชาชนต้องแสดงออกว่า เราในฐานะผู้เสียภาษีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เราไม่ยินยอมที่จะเอาภาษีของเราไปกระทำการแบบนี้กับสิ่งแวดล้อม
“อย่างน้อยในการประมูลโครงการของรัฐบาล เข้าใจว่าอิตาเลียนไทยน่าจะสอบตกแล้วในการรับงานของรัฐบาล ตราบใดที่อิตาเลียนไทยยังไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม คิดว่าบริษัทไม่อยู่ในฐานะที่รัฐบาลจะพึงให้เข้ามารับงานใดๆที่ใช้เงินของส่วนรวมและประชาชนอีกต่อไป เราไม่ต้องการเห็นภาษีอากรไปตัดต้นไม้หรือเอาไปจ่ายเงินเดือนผู้บริหารซึ่งมีงานอดิเรกเป็นพิษเป็นภัยต่อธรรมชาติ”
(ขอบคุณภาพประกอบจาก Narisara Boonsri )
เมืองไทยไร้ระบบการจัดการ“การวางระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ไม่มีเลย”
"ช่อผกา วิริยานนท์" ผู้แทนเครือข่ายต้นไม้ในเมือง มองปัญหาการตัดต้นนนทรีหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าเป็นประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องนโยบายต้นไม้ในเมือง ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้เพราะไร้ระบบบริหารจัดการ ต้นไม้ในเมืองเติบโตในลักษณะแบบผิดธรรมชาติ เพราะระบบนิเวศต้นไม้ในเมืองคือฟุตบาธ มอเตอร์ไซค์ แม่ค้าส้มตำ คอนโดฯ และอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ฉะนั้น จึงต้องมีการบริหารจัดการ หากไม่มีการบริหารจัดการอาจจะก่อให้เกิดโทษได้
“ถ้าต้นไม้ในเมืองไม่มีการบริหารจัดการ ต้นไม้สามารถล้มลงมาฟาดโดนรถและคนที่เดินบนถนนได้ ถามว่าทำไมถึงเอาสิ่งนี้มาอยู่ในเมือง ก็เพราะว่าเมืองหลวงมีภาวะของมลพิษที่เกิดจากความระอุของซีเมนต์ เป็นอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าความร้อนของโลกอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ มีฝุ่น มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งต้นไม้ในเมืองคือคำตอบในการแก้ปัญหาเหล่านั้น”
“ทำผิดเพราะไม่รู้” น่ากลัวน้อยกว่า “ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด”
ในส่วนของการยื่นฟ้องรฟม.และอิตาเลียนไทยต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ช่อผกา กล่าวว่า ที่เครือข่ายดำเนินการยื่นฟ้องเรื่องต้นไม้ 14 ต้นที่ถูกตัดไป แสดงให้เห็นชัดว่าการบริหารจัดการต้นไม้ในแนวเขตการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นปัญหา สองเดือนก่อนหน้านี้ได้มีสมาชิกของกลุ่มต้นไม้ในเมืองทำเรื่องร้องเรียนผ่านกทม.ว่าบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างล้อมย้ายต้นไม้ผิดวิธี จึงเป็นที่มาให้ทางกทม.เชิญทุกบริษัทรวมทั้งอิตาเลียนไทยมารับฟังแนวทางการปฎิบัติ อีกทั้งได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาสอนวิธีการล้อมย้ายที่ถูกต้อง
“แต่พอสอนได้สองเดือนลูกศิษย์ก็ตัดผิด ทำผิดไม่ว่า แต่ทำผิดแล้วไม่รู้ว่าผิดน่ากลัวที่สุด ตัดผิดแล้วยืนกรานว่าที่ทำนั้นถูกหลักวิชาการ ลองจินตนาการว่าโครงการรถไฟฟ้ามีอีก 11 สาย ล้อมตัดไปบางส่วนแล้วยังเหลืออีกเยอะ เราไม่ทราบตัวเลขที่จะทำการล้อมย้ายที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้นมีจำนวนเท่าไหร่
เราขอยืนยัน ณ ตอนนี้ว่าพวกเราไม่ได้ค้านรถไฟฟ้า เราไม่ได้บอกว่าห้ามย้ายต้นไม้ เราไม่ได้อนุรักษ์บ้าบอขนาดนั้น แต่เราบอกว่าคนกรุงเทพไม่จำเป็นต้องเลือกและไม่จำเป็นต้องแลก คนกรุงเทพต้องได้ทั้งรถไฟฟ้าและต้นไม้ในเมือง สองสิ่งนี้ต้องอยู่ร่วมกันได้”
(ขอบคุณภาพประกอบจาก Thai PBS)
ใช้กฎหมายดูแลต้นไม้
"ศรีสุวรรณ จรรยา" นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหานี้โดยการแก้กฎหมาย ได้แก่พระราชบัญญัติความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในมาตรา 27 ความว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโค่นต้นไม้ตัด เด็ด หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เกิดความเสียหายหรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ ต้นไม้หรือใบ ดอกผล หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ปลูกไว้หรือขึ้นเองตามธรรมชาติในที่สาธารณะหรือสถานสาธารณะ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำของผู้ได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือให้โค่นหรือตัดต้นไม้จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น”
“ประเด็นปัญหาคืออยากเรียกร้องว่าจะแก้ไขกฎหมายในมาตรานี้อย่างไร เพราะมาตรานี้อาจจะเอาผิดกับคนที่ไปตัด โค่น ทำลายต้นไม้สาธารณะที่ปลูกในเฉพาะพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กทม.และราชการรับผิดชอบ แต่ไม่ผูกพันกับต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่เอกชน มาตรานี้มีข้อยกเว้นว่าราชการจะดำเนินการตัดต้องขออนุญาตก่อน ถ้าตัดคำว่ายกเว้นไป หมายถึงว่า แม้กทม.จะไปตัดก็ไม่ได้ ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรถ้าจะดำเนินการ ก็ให้สภากรุงเทพมหานครออกเป็นข้อบัญญัติมารองรับ”
กฎหมายอีกฉบับที่ศรีสุวรรณอยากให้มีการแก้ไข คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งมีกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดค่า FAR (Floor Area Ratio หมายถึง อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ในการมีพื้นที่สีเขียวแต่ไม่ได้กำหนดในเรื่องของการดูแลต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ของเอกชนเลย ดังนั้น เอกชนจะสร้างอาคารก็จะตัดต้นไม้ได้เต็มที่ ถ้าในกฎกระทรวงแก้ไขให้มีการกำหนด FAR และเพิ่มเงื่อนไขก่อนปลูกสร้างอาคารใดๆ หากมีต้นไม้ใหญ่อยู่ในพื้นที่ต้องแจ้งกทม.ดำเนินการขุดล้อมต้นไม้เหล่านั้นออกไปดูแลในพื้นที่ของเอกชนหรือกทม.เพื่อให้ต้นไม้อยู่รอด
“ปัจจุบันสภากรุงเทพมหานครไม่แน่ใจว่ามีอยู่หรือไม่ หรือนอนหลับกันหมด อยากเรียกร้องให้ออกมาทำหน้าที่นี้ในการดูแลปกป้องรักษาต้นไม้ เพราะชาวบ้านสามารถฟ้องราชการหรือเอกชนที่มาตัดต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะได้เหมือนกรณีต้นนนทรี แต่ถ้าสภากรุงเทพมหานครใช้อำนาจตามพรบ.รักษาความสะอาดฯและพรบ.ควบคุมอาคารฯ ถ้าออกข้อบัญญัตินี้มารองรับก็จะทำให้ต้นไม้ต่างๆถูกดูแลโดยกฎหมายมากขึ้น ถ้ากรุงเทพมหานครไม่ทำ ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะไปเรียกร้อง บีบบังคับ ให้ใช้มาตรการทางกฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งที่สามรถช่วยดูแลค้ำชูต้นไม้ไม่ให้ถูกคนชั่วมาระราน” ศรีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อกังวลต่อโครงการสร้างไฮเวย์ของอิตาเลี่ยนไทย ตัดผ่านผืนป่าอนุรักษ์ในเมียนมา
มูลนิธิสืบฯ ย้ำให้สังคมจับตาคดีเสือดำ ชี้เจตนาชัด จี้ตร.เร่งสรุปสำนวนส่งฟ้อง
สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก 'เสือดำ-เปรมชัย' หรือเราจะหยุดคุยกันแค่นี้ แล้วลืมไป
วัลลภ ชี้เป็นหน้าที่ รมต.กวดขัน ออกประกาศ ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ
กรมอุทยานฯ เรียกประชุม คกก.ติดตามคดี ‘เปรมชัย’ พร้อมตรวจสำนวน 28 ก.พ. 61
เปิดตำนาน คดีดัง “เก็บเห็ด เสือดำ” มูลเหตุหนุนเพิ่มโทษล่าสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 4 ปี
จุฬาฯ เสวนา วิเคราะห์ปม ‘สัตว์โลกถูกคุกคาม’ จากเสือดำ สู่ วาระรอการแก้ไข
โฆษกกรมอุทยานฯยกเคสเปรมชัย บทเรียนจัดพื้นที่ป่าเพื่อการท่องเที่ยวใหม่
เจาะคลังแสง'เปรมชัย'เผยโฉมไรเฟิล.30-06 ยิงช้างล้มทั้งตัว-พรานล่าสัตว์นิยมใช้ทั่วโลก
ป่าลั่น!พลิกธุรกิจ‘เปรมชัย’ซีอีโอ แสนล.-กก.106 บริษัท-คู่ค้าใหญ่ภาครัฐ ก.ทรัพยฯด้วย